วันเสาร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ไปเที่ยววันเสาร์



............วันนี้ 29 ตค. 2559 ชวนแม่บ้าน คุณธนัญธร ณรงค์หนู ไปหาซื้อปลาเค็มที่อ่างศิลา ชลบุรี
เพราะที่เก็บไว้ใกล้จะหมดแล้ว ทอดสองครั้งก็คงหมด แทบไม่ต้องรอคำตอบเพราะทราบตั้งแต่ยัง
ไม่ถามว่า ยายต้องไปแน่ เลยลงไปเช็ครถ เช็คหมา รถเรียบร้อยดีเพราะเอาไปเช็คที่ศูนย์ได้ 3 วัน
เอง ดูน้ำ แบต ยาง เบรค น้ำมัน ก็โอเคนะ ส่วนหมาไม่เรียบร้อย ต้องอาบน้ำฟอกตัวหน่อย เพราะ
นั่งรถแอร์ต้องปิดกระจกหมด พอเปิดกรงตัวเล็กมันวิ่งไปรอที่ห้องน้ำเลย ไม่ต้องตามยาก ส่วนตัวพี่
ยากหน่อยต้องอุ้มถึงยอมไปอาบน้ำ ยายว่ามันรู้เรื่องเหมือนคนเลยนะ ใช่เลยยาย หมาพวกนี้ฉลาด
ไอคิวเท่ากับเด็กสามขวบ เรียกชื่อมันรู้ชื่อใคร ด่าก็รู้ ชมก็รู้ ดังนั้นพูดกับมันดี ๆ อาบน้ำเสร็จวิ่งจู๊ด
ไปหายายให้เช็ดตัวให้ สวมปลอกคอให้ เสร็จทั้งคนและหมาก็ลงจากบ้าน ตอนนี้หมามันจูงยายไป
ที่รถ เพราะมันรู้จะได้ไปเที่ยว
.........กว่าจะออกจากบ้านได้ก็สามโมงครึ่ง เพราะเด็กแม่บ้านกับลูกจะไปด้วย แม่บ้านคนนี้ชื่อ
อาชาน เป็นคนมอญ มาทำงานตั้งแต่ยังเป็นนางสาว แต่งงานจนมีลูกชาย 1 คน ทำงานบ้านดี ไว้ใจ
ได้ ยายรักเหมือนลูกหลาน ไปเที่ยวไหนก็มักพาไปด้วย บนรถเลยมีคน 4 หมา 2 หมาแย่งกันนั่ง
ตักยาย เพราะมันรู้ประจบไว้มีของกินเยอะดี รถจอดก็จะมีลูกชิ้นบ้าง ไก่ย่างบ้าง เป็นรางวัล เด็กยัง
อิจฉาหมาเลย ถนนศรีโสธรตัดใหม่วันนี้ รถแน่นเหมือนทุกวัน แสดงว่าคนเอารถออกมาใช้งานกัน
มาก ดูแต่บ้านเราเอง 3 คน ใช้รถ 2 คัน คนเช่าบ้านอีก 3 คัน บ้านเดียวรถ 5 คัน อ้างเพื่อความ
สะดวกในการทำงาน บ้านอื่นก็คงคิดทำนองเดียวกัน ถนนเลยแน่นขึ้น ๆ อีก 2 ปี คงเท่ากรุงเทพฯ
แน่
เราเลี้ยวไปศาลากลางหลบรถติด ไปออกถนนจักรพรรดิเลี้ยวขวาขึ้นสะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง
มาเมื่อไรก็มองหาวัดโสธร เพราะภาพพระอุโบสถตั้งอยู่ริมน้ำสวยงามมาก ดูไม่เบื่อจริง ๆ
.........ข้ามมาอีกฝั่งรถบางตาวิ่งสบาย ๆ นาน ๆจะมีรถแซงเราไปคงรีบ เราไม่รีบหรอกเพราะคนขับ
แก่มากแล้ว ค่อย ๆไป พอถึงสี่แยกตะวันออกพลาซ่า รถที่แซงมาสองสามคัน จอดรอเราอยู่ ติดไฟ
แดงไปไม่ได้ ที่สุดก็ได้ไปพร้อมกัน เราตัดตรงไปทางพนัสนิคม มีเด็กที่เคยอยู่วัดด้วยกันช่วงปี
2511-2515 เขาบอกว่าให้พี่มหาไปเยี่ยมบ้านหน่อย เดิมเขาชื่อ สามเณรสิน ชมชื่น เป็นคนบ้าน
หนองลุมพุก ตำบลหนองเรือ อำเภอโนนสัง จังหวัดอุดรธานี เดียวนี้เรียกจังหวัดหนองบัวลำภู
พ่อแม่ทำไร่ทำนา ฐานะยังไม่ร่ำรวย เหมือนบ้านผมนั่นแหละ ทำไมรู้จักดีนักล่ะ โถก็คนบ้านเดียว
กัน
แถมตอนบวชก็อยู่วัดเดียวกัน เราเป็นหลวงพี่ เขาเป็นจัวน้อย เราไม่สึกเขาก็ยังไม่สึก เราไปเรียน
ต่างจังหวัดเขาก็ไปด้วย เลยคุ้นเคยกันมากเหมือนพี่น้อง ชีวิตของสามเณรสิน สมบุกสมบันยิ่งกว่า
นิยายน้ำคลอง กทม.ซะอีก เหลือเชื่อเรียนการศึกษาผู้ใหญ่ เพื่อพัฒนาตนเอง ออกไปเป็นลูกจ้าง
ที่โรงพยาบาลสงฆ์ เห็นว่าได้ศึกษาต่อจนจบปริญญาโท ได้แต่งงานมีครอบครัวเป็นปึกแผ่นมั่นคง
ภรรยาเป็นครู หมอนี่มันชอบเลียนแบบหลวงพี่ ที่สึกมาได้ภรรยาเป็นครู แต่เราชนะตรงที่มีบุตรธิดา
3 คน แต่เขามีคนเดียว ไล่พี่มหายากอยู่นา
..........เขาบอกจะมาดักรออยู่หน้าโรงพยาบาลพนัสนิคม แต่คงทำไม่ได้หรอกเพราะเราไปถึงก่อน
เป็นเราต่างหากที่ไปดักรอ สักสิบนาทีถึงโผล่มา บอกให้ขับรถตามเขาไป เพราะทางไปบ้านกำลัง
มีการก่อสร้าง อาจหลงทางได้ก็ขำ ๆ ในใจนะ แก่ปูนนี้ไม่มีวันหลงทางหรอก ขับรถยนต์ใหญ่กว่า
รถเก๋งอีก มันต้องวิ่งไปตามทางอยู่แล้ว ออกนอกทางก็ตกถนนเท่านั้นเอง แค่คิดในใจนะ ไม่ได้ว่า
อะไร ตามหลังเขาไป ถนนเละดี ฝนตกใหม่ ๆ สองเลนใช้ได้เลนเดียว อีกเลนกำลังปรับผิวจราจร
เวลารถวิ่งสวนมาต้องเปิดหน้าต่างสวัสดีกันก่อน ก็แอบดูว่าเบียดมากไหม ไปได้ก็ผ่าน ๆกันไป
กว่าจะถึงบ้านก็ใจหายใจคว่ำเหมือนกัน กลัวรถเราจะไปพิศวาสรถคนอื่นเจ้า ไปจูบแก้มรถเขาน่ะ 

..........ยังไม่ได้ถามข้อมูลของบ้านเลยบอกทีหลังแล้วกัน ดูเป็นบ้านสวนนะ ต้นไม้ร่มรื่น ไม้ดอก
ไม้ประดับกำลังงาม คุ้น ๆตาแหละ แต่ไม่รู้จักชื่อ ดูรูปแล้วกันถ่ายรูปไว้อยู่ กล้วยก็ปลูกหลายกออยู่
ตามแนวรั้ว ที่เจ๋งมากคือมะนาว เขาปลูกใส่ท่อปูนซีเมนต์ ใส่ปุ๋ย รดน้ำ สะดวกดี กำลังติดลูก ดก
ทุกต้น ยายไปเดินดูชมไม่ขาดปาก ผลคือมะนาวเขาหลุดขั้วใส่ถุงให้ร่วมสี่สิบลูก ยายนะยาย
บอกไม่ทัน สภาพบ้านน่าอยู่มาก อากาศดี เพื่อนบ้านก็ดีเพราะมีแต่ญาติ ๆ กัน ดีใจด้วยนะพ่อเณร
ผลแห่งการเป็นคนรักพ่อแม่ รักครูอาจารย์ ทำให้เป็นคนดีมีมานะขยันขันแข็ง วิบากจึงเป็นกุศลดีงาม
มีภรรยาที่ดีมีครอบครัวอบอุ่น
........เขาชวนทานข้าวเช้าตอนเกือบห้าโมง เราไม่ปฏิเสธเพราะเขามีกับข้าวน่ากิน มีแจ่วบอง
แจ่วพริกอ่อน นึ่งปลาไข่ ส้มไข่ปลา หน้อไม้นึ่ง ข้าวเหนียวนึ่งนิ่ม ๆ แบบสูตรภัตตาหารจังหันบ้าน
หนองลุมพุกนี่นา ก็ซัดกันเต็มที่ไม่ต้องถามหรอกว่าเกรงใจไหม รุ่นนี้นั่งฉันข้าวมีสีการุ่นแก่รุ่นสาวนับ
สิบนั่งจ้องอยู่ยังกินได้ลง ไม่มีปัญหาหรอก อ้อที่เขานั่งจ้องไม่ใช่เขาหลงเสน่ห์หรอกนะ เขาคอยดู
มีอะไรขาดบ้าง จะได้เติมให้ เพราะพระฉันจุ เท่านั้นเอง อาหารมื้อนี้อร่อยมาก ฉันไปก็คุยกันไป
ตามประสาคนไม่ได้พบกันเกือบสามสิบปี
........ทานข้าวเสร็จก็ได้แนะนำให้รู้จักกัน บอกเขาว่าเราเกษียณปี 2547 มาอยู่แปดริ้วปี 2548 จน
ทุกวันนี้ แม่บ้านเป็นพยาบาลระดับหัวหน้าตึกโรงพยาบาลพุทธโสธร เกษียณแล้วเช่นกัน อยู่บ้าน
เลขที่ 28/68 ถนนศรีโสธรตัดใหม่ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ใกล้บิ๊กซี 2
ถามพนักงานไปรษณีย์ เขารู้จักบ้านพวกเราดี ส่งจดหมายพัสดุได้ไม่ผิดบ้าน จดหมายที่ไม่อยากรับ
ยังส่งถูกอีก พวกทวงหนี้ไง ถามถึงลูกหลาน คนโตอยู่เมืองเลยเป็นครูศรีสงครามวิทยา คนสอง
ลูกชายจบพืชไร่กำแพงแสน ทำงานที่บริษัทเอราวัณเคมีการเกษตร ลูกสาวคนเล็กจบเทคโนโลยี
สารสนเทศทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์อยู่ที่กรุงเทพเช่นกัน
........ถามถึงคุณแม่บ้านเป็นครูโรงเรียนโยธินบูรณะ 2 เห็นว่าสอนภาษาไทยด้วย แปลกดีนะ
ผมจบตรีภาษาไทย โท ก็การสอนภาษาไทย แต่ไม่ได้สอนภาษาไทยหรอก บรรจุใหม่เขาให้
สอนศีลธรรม สอนการศึกษาผู้ใหญ่ เขาให้สอนคณิตศาสตร์ งานพิเศษ โรงเรียนให้เป็นครูแนะแนว
ครูบรรณารักษ์ แต่ชอบภาษาไทยนะ ชอบเขียนทั้งร้อยแก้ว ร้อยกรอง มีงานเขียนที่สะสมไว้เกือบ
สองร้อยเรื่อง ถ้ามีโอกาสจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับภาษาไทยกันด้วยยิ่งดี แล้วก็ให้
URL เวบบลอกเอาไว้ พร้อมทั้งคีย์สำหรับค้นด้วยกูเกิล คือ "เยี่ยมยามอีสาน" มี 52 เพจ
"วิถีชีวิตชาวบ้านอีสาน" มี 42 เพจ "ร้อยกรอง ไทย - อีสาน" มี 26 เพจ และ "แนะนำธนัญธร"
มี 36 เพจ
........บ่ายโมงเศษเราอำลาเจ้าของบ้านเพื่อเดินทางต่อ ฝนตกพรำ ๆ ตลอดทาง ต้องค่อย ๆไป
กลัวจะพลาดที่สุดก็เข้าเขตเทศบาลเมืองชลบุรีตอน บ่ายสองโมงครึ่ง ยายบอกให้ไปห้างที่เคยไป
หน่อย ถามว่าห้างไหน จำไม่ได้อีก แล้วจะให้ไปทางไหนล่ะ แกบอกเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาจนไปไม่
ถูก สุดท้ายแกว่าห้างโพธิ์ทองการแว่นนั่นนา อ้อจำได้ไปตัดแว่นตาบ่อย เขามีห้างแถวนั้นสองแห่ง
แถมตลาดสดอยู่ใกล้ ๆ กัน ก่อนเคยจอดรถที่วัดค่าบริการ 10 บาท วันนี้ฝนตกเลยลงไปจอดชั้น
ใต้ดินของห้าง ฟรี ไม่เสียเงิน ยายหายไปไม่นานได้เสื้อดำ 2 ชุด จะเอาไปใส่ไว้ทุกข์ ก็เลยบอก
ใส่เฉยๆ ก็ได้ยาย ทุกข์เต็มอกอยู่แล้ว 
.........ออกจากห้างก็หาทางไปอ่างศิลา วันนี้รถไม่แน่นไม่เสียเวลามากก็ไปถึง รถแน่นมากที่จอด
เต็มไปหมด พอจะเลี้ยวเข้าก็มีคันหนึ่งออกเลยสวมแทน แบบนี้สบายหน่อย เดินชมท่าปลาเต็มที่
หมดแรงค่อยกลับแล้วกัน ปล่อยยายตามสบาย เพราะเรามีเป้าหมายอยู่แล้ว แผงลอยเกือบสุดท้าย
แม่ค้านั่งยิ้มรออยู่แล้ว แกเลือกให้ 2 ตัว แปดร้อยบาท ขาออกแวะซื้อ หมึก ปู หอย จะเอาไปทำ
ต้มยำทะเล แค้นไปกินร้านหม้อละ 180 บาท กินไม่จุใจ ทำเองน่าจะกินอิ่มดีกว่า ได้ของครบก็ออก
และพากันกลับ แวะขึ้นทางด่วนสะดวกดี เลยไม่มีอะไรน่าสนใจจะเล่า หันไปดูยายกับหลานหลับ
กันหมด หมาน้อยสองตัวพลอยหลับด้วย แล้วเราจะเสียเวลาทำไม รีบ ๆขับให้ถึงบ้านแล้วปลุกยาย
และเด็กเก็บของ จบเนาะ สวัสดี






วันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ร่วมพิธีแสดงความอาลัย






………….25 ตุลาคม 2559 ขับรถพายายไปธุระ ผ่านหน้าวัดโสธรวรารามวรวิหาร เห็นป้ายเชิญชวน
ร่วมพิธีจุดเทียน แสดงความอาลัยและร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี เพื่อน้อมเกล้าถวายในหลวง
รัชกาลที่ 9 พระองค์จากไปเป็นเวลา 14 วันพอดี (13 - 26) ยายเขาเห็นภาพข่าวจัดอยู่ที่ กทม.
สนามหลวง ชอบมาก เมื่อฉะเชิงเทราจัดใกล้บ้านไม่ถึงกิโลเมตรเอง เลยอยากไปร่วมกิจกรรมด้วย
ตกลงลองไปดู
...........คนไปนมัสการหลวงพ่อโสธรแต่ละวันเรือนหมื่น น่ากลัวจะไม่มีที่จอดรถ แต่วัดเขาปิด
ก่อนห้าโมงเย็น เลยไม่มีผลอะไรมาก คนต่างจังหวัดก็กลับไป มีน้อยมากจะอยู่ร่วม เราเอารถไป
ส่งยายแล้วจะเอาไปจอดบ้านเลขที่ 6 บ้านอินทราสา ห่างจากวัด 150 เมตร แต่หมาบ้านนี้ค่อนข้าง

ดุ เห่าไม่หยุด เลยถอยไปจอดริมถนน เดินไปไม่ถึง 200 เมตรก็ถึงวัดโสธร ฯ อ้อบ้านเลขที่ 6 คือ
บ้านพักพระอินทราสา อดีตเจ้าเมืองฉะเชิงเทรา ครอบครัวยายอาศัยอยู่บ้านหลังนี้ ยายก็เกิดที่นี่
เพิ่งออกไปอยู่บ้านปัจจุบันได้สิบกว่าปีนี่เอง
...........ไปกันสามคนครับ ผม ยายแล้วก็เด็กชายกำปั้น เดินอ้อมไปตามถนนศรีโสธรตัดใหม่ ผ่าน
หน้าอนุสาวรีย์พระยาศรีสุนทรโวหาร อ่านประวัติแล้วก็เครือญาติพระอินทราสา เป็นนักปราชญ์ที่
รับราชการในวังจนได้รับยศระดับพระยา พวกครูภาษาไทยอ่านตำราที่ท่านแต่ง คงจำได้เป็นคน
รุ่นหลังพระศรีสุนทรโวหาร(ภู่) คนละคนกัน กลางถนนเป็นวงเหลี่ยม ไม่ใช่วงเวียน เดิมเป็นสาม
แยก พอทำเกาะกลางถนนเลยเป็นรูปทรงสามเหลี่ยม ต่อมาเพี่มทางอีกแยก แต่เกาะยังรูปทรงเดิม
เขาปิดกั้นถนนตรงนี้ห้ามรถผ่าน เลยเดินสะดวก เด็กนักเรียนนักศึกษามากันเยอะ มาแบบมากันเอง
ไม่มีผู้คุมสงสัยไม่ต้องขอคะแนน เต็มใจมากันน่ะครับ แต่งชุดคล้ายกันก็จริง แต่คนละโรงเรียน
นักศึกษาก็มีทั้งราชภัฎ เทคนิค อาชีวะ พยาบาล แหงนดูฟ้าเวลาห้าโมงเย็น เมฆคลุมไปหมด
ไม่มีแสดงแดดเลย น่ากลัวฝนเหมือนกัน เด็กชายปั่นถามว่า ตาทำไมพวกนักเรียนไม่ใส่ชุดดำ
ก็ขำ ๆนะ เพราะยายกำกับให้เขาเปลี่ยนชุดดำมาร่วมงาน บอกว่าทุกคนที่ไปงานใส่ชุดดำหมด
ยายก็อึกอักตอบไม่ได้ ก็เลยช่วยตอบว่า คนที่มีเครื่องแบบ ใส่เครื่องแบบดีกว่าชุดไว้ทุกข์ โน่น
ดูทหาร ตำรวจ พยาบาล เขาใส่ชุดของเขา เพียงติดแถบสีดำหรือติดริบบิ้นสีดำ พอแล้ว พี่นักเรียน
เขาติดริบบิ้นสีดำทุกคน นั่นแหละเขาไว้ทุกข์แล้ว
...........เข้าประตูวัดมีลอดซุ้มตรวจหาวัตถุต้องห้าม มีเจ้าหน้าที่ห้าหกคน แต่ก็ไม่เห็นพบอะไร
ผ่านเข้าไปลานข้างพระอุโบสถหลังงามนั่นแหละ คนมาก่อนเราเยอะมากแล้ว ค่อย ๆหลบไปทาง
ด้านตะวันออก เห็นเก้าอี้พวกจะเล่นดุริยางค์ เวทีพระบรมรูป มีไมโครโฟน สแตนด์ ตรงนี้แน่ที่
จะทำพิธีกัน เดินเลาะหาที่นั่ง นอกจากเก้าอี้ยังมีเกาะปูนที่เขาล้อมต้นไม้ใหญ่ แข็งแรง นั่งได้
สูงแค่เข่าเอง มีคนนั่งอยู่ก่อนแล้วเลยไม่ถามว่านั่งได้ไหม ดูพื้นเปียกน้ำอยู่ ฝนตกตอนเช้ายังไม่
แห้งลานปูนซีเมนต์ทั้งนั้น วัดนี้ไม่มีหญ้า เขาปูกระเบื้องเต็มบริเวณ ตรงไหนยุบเป็นแอ่งก็มีน้ำขัง
นานหน่อย ต้นไม้เอาต้นโตแล้วมาปลูกร่มรื่นดี แต่รู้จักไม่กี่ต้น สมอก็มี โพธิ์พุ่มกำลังงาม ไม้ต้น
ใหญ่อีกจำนวนมาก ดูร่มรื่นดี ใต้ร่มไม้ใกล้รั้วด้านติดแม่น้ำบางปะกง เป็นซุ้มโรงทานต่าง ๆ แจก
อาหาร ขนม น้ำ เครื่องดื่มยี่ห้อต่าง ๆ คนไปใช้บริการกันเต็มที่ ยายชอบใจไปเอากะเขาบ้าง
...........วัดโสธรวราราม ชื่อเดิมยาวแค่นี้ พอได้รับพระราชทานเป็นพระอารามหลวงเลยมีชื่อ
ต่อท้ายว่า วรวิหาร เป็น โสธรวรารามวรวิหาร แถมให้นิดหนึ่งเรื่องพระอารามหลวงหรือวัดหลวง
คือวัดที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง หรือพระบรมวงศานุวงศฺทรงสร้าง หรือวัดที่ทรงปฏิสังขรณ์และรับ
เป็นวัดที่อุปภัมภก์ หรือวัดที่ได้รับเลือกให้เป็นวัดในพระอุปถัมภก์ เมื่อเป็นวัดหลวง จะได้รับเงิน
ทะนุบำรุงจำนวนหนึ่ง เทียนพรรษาพระราชทาน กฐินพระราชทาน หวัดหลวงมี 3 ระดับคือพระ
อารามหลวงชั้นตรี ชั้นโทและชั้นเอก แต่ละชั้นจำแนกได้อีกหลาย ชนิด พระอารามหลวงชั้นตรี
มี 3 ชนิดคือ ชนิดสามัญ ชนิดวรวิหาร และ ชนิดราชวรวิหาร พระอารามหลวงชั้นโท มี 4 ชนิด
ได้แก่ วรวิหาร วรมหาวิหาร ราชวรวิหาร ราชวรมหาวรวิหาร ส่วนพระอารามหลวงชั้นเอกมี 3 ชนิด
คือ วรมหาวิหาร ราชวรวิหาร ราชวรมหาวิหาร วัดหลวงพ่อโสธร เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี
ชนิดวรวิหาร จึงเรียกว่า "วัดโสธรวรารามวรวิหาร"
............แม่น้ำบางปะกง ทำให้วัดโสธรสง่างามมาก โดยเฉพาพระอุโบสถหลังใหม่มองจากน้ำ
บางปะกงจะดูเด่นเป็นพิเศษ แม่น้ำสายนี้มีข้อมูลน่าสนใจหลายประการ เกิดจากแม่น้ำนครนายก
และแม่น้ำปราจีนบุรีไหลบรรจบกันที่ตำบลบางแตนอำเภอบ้านสร้าง ปราจีนบุรี ช่วงที่อยู่ในเขต
ปราจีนบุรียังเรียกแม่น้ำปราจีนบุรี พอเข้าเขตฉะเชิงเทราจึงเรียกแม่น้ำบางปะกง ไหลลงสู่อ่าวไทย
ที่ตำบลท่าข้ามอำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ความยาว 231 กิโลเมตร เวลาน้ำทะเลขึ้นลงมี
ผลต่อระดับน้ำในคูคลองเขตเทศบาลด้วย ริมฝั่งมีไม้ชายเลนพวกต้นจากขึ้นเป็นดง ชาวบ้านเล่าว่า
น้ำกร่อยนะ มีพวกปลาโลมาแอบเข้ามาหากิน จนมีพวกรับนำเที่ยวชมปลาโลมา ท่าจะจริงแต่เรา
ไม่เคยใช้บริการ ข้อดีของน้ำบางปะกงเขาบอกว่าพวกทำนากุ้ง เลี้ยงปลา ทำกันเป็นล่ำเป็นสัน
...........เห็นแม่น้ำก็อดพูดถึงไม่ได้ ยายชวนไปรับข้าวต้มที่โรงทานริมแม่น้ำนั่นแหละ กินไปมอง
แม่น้ำไปเย็นลมพัดเบา ๆ เงยหน้าขึ้นเห็นเมฆลอยต่ำมาเรื่อย เห็นสายฝนโปรยลงมาดีที่อยู่ไกล
ได้แต่นึกในใจว่าอย่าลอยมาทางนี้นา คนกำลังกินข้าวต้ม เดี๋ยวเสียงานเสียการเขาด้วย ดีจริง ๆ
มันลอยเบี่ยงไปทางอื่น สายฝนทำให้อากาศเย็นลง ถึงคนมากก็ไม่ร้อน มีคนเดินแจกภาพในหลวง
สวย ๆทั้งนั้น รับมาสามแผ่นที่ไม่ซ้ำกัน กินข้าวต้มเสร็จก็เดินหาที่นั่งใหม่ ยายเจอคนรู้กันทักทาย
ไม่รู้จบ ก่อนยายเป็นโยมวัดนี้พระเณรเจ็บป่วยส่งโรงพยาบาล ยายเป็นหัวหน้าตึกสงฆ์เลยรู้จักพระ
และชาวบ้านดี แถมบ้านห่างวัดแค่ 150 เมตรเอง ปล่อยแกตามสบาย เราเจอแต่คนไม่รู้จักนั่งสบาย ๆ
หกโมงแล้ว แหงนดูฟ้าอ้าว เครื่องบินสองลำเปิดไฟวาบ ๆ บินใกล้กันเดี๋ยวก็ชนกันหรอก นั่นไง
หล่นลงมาใกล้หลังคาโบสถ์แล้วลำหนึ่ง แต่มันขึ้นไปได้ใหม่ เขาบอกมันเป็นพวกโดน 4 ใบพัด
บินขึ้นลงได้ เขาเอามาถ่ายภาพมุมสูง ชื่อโดรน มั้ง เขาว่าใช่ ๆ นั่นแหละ มันบังคับโดยคนที่อยู่
ข้างล่างเก่งนะคนสมัยนี้มีของเล่นแปลก ๆ
..........บนเวทีเขาเริ่มแสดงดนตรี มีเพลงพระราชนิพนธ์ตามที่ประกาศ 5 เพลง นักดนตรีเป็นเด็ก
นักเรียนนักศึกษา น่ารักดี จบเพลงถึงมีการพูดถึงการจัดงานโดยหน่วยราชการและภาคเอกชนร่วม
กันจัดขึ้น มีฉายภาพเสด็จฉะเชิงเทรา 10 ครั้ง จากนั้นเชิญผู้ว่ากล่าวแสดงความอาลัย ตามด้วยอ่าน
บทกลอน และร่วมกันร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี งานจบลงตอน 19.00 น.ฝนไม่มาเลยซักหยดมี
แต่อากาศเย็น ๆ ดีจริง ๆ ตอนขากลับสนุกหน่อย เพราะแย่งกันออก ประตูวัดเปิด 2 ประตูเองเลย
เสียเวลานานกว่าจะหลุดออกมาได้ มาถึงบ้านก็ทุ่มครึ่ง รายงานกิจกรรมครั้งสำคัญมีเพียงเท่านี้ 

สวัสดีครับ







วันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ออกพรรษาจุดโคมไฟไต้ประทีป




                                                                                                  ขุนทอง ศรีประจง


..........ออกพรรษา หน้าทอดกฐิน ได้เขียนถึงไปแล้ว ยังมีกิจกรรมสำคัญอีก 3 อย่างที่นิยมทำกัน
ในช่วงนี้ ได้แก่ การตักบาตรเทโว การจุดประทีปโคมไฟ และการลอยกระทง ลูกหลานคนอีสานรุ่น
ใหม่ยุคไฮเทค บางคนก็ไม่รู้จัก ทำไมต้องตักบาตรเทโว บาตรเทวดาใบใหญ่กว่าบาตรธรรมดา ๆรึ   เปล่าทำไมตักบาตรปีละหนเอง จุดประทีปโคมไฟอาการหนักกว่า เพราะคำถามที่ว่า ก็จุดกันทุกวัน  เวลาทำวัตรสวดมนต์ แล้วจุดวันออกพรรษาแปลกตรงไหน แล้วโคมไฟมีจุดด้วยเหรอวันออกพรรษา ส่วนกิจกรรมลอยกระทง ดูเหมือนจะรู้จักกันดีกว่า เพราะมีเพลงวันลอยกระทงให้ฟัง แถมรำวงสนุกด้วย
วันหนึ่งก็ได้คิดว่า ต่อไปภายหน้า ประเพณีจุดประทีปโคมไฟ อาจหายไปได้ จริง ๆ ก็เลยอยากเล่า
ถึงกิจกรรมทั้ง 3 อย่าง ที่ยกมาเปิดฉาก"ออกพรรษาจุดโคมไฟไต้ประทีป" ดังต่อไปนี้
..........ตักบาตรเทโว คำเต็มคือ "เทโวโรหณะ" คือคำ เทว + โอโรหณะ  เทว  หมายถึงเทวโลก
สถานที่พระพุทธเจ้าจำพรรษาที่ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และได้เทศน์โปรดพระมารดาจนเมื่อวันแรม

1 ค่ำออกพรรษา ได้เสด็จ โอโรหณะ คือ เสด็จลง มายังมนุสสโลกที่เมืองสังกัสสนคร มีผู้คนไป
รอรับเสด็จเป็นอันมาก คนสมัยปัจจุบันเห็นว่าเป็นกิจกรรมครั้งสำคัญ น่าจดจำ จึงจัดงานระลึกถึง
วันที่เสด็จลงมาจากเทวโลก ด้วยการทำบุญตักบาตรและต่อมาเรียกชื่อว่า ตักบาตรเทโว นั่นเอง
เมืองสังกัสสะ เป็นเมืองสำคัญของอาณาจักร กัมพิลละหรือกันยาคุพย์ ในสมัยพุทธกาล ปัจจุบัน
อ้างอิงว่าเหลือเพียงร่องรอยว่าเคยเป็นเมืองเก่า อยู่บริเวณหมู่บ้านสังกิสสะ บะสันตะปุระ จังหวัด
ฟารุกาหบาท รัฐอุตตรประเทศ ในประเทศอินเดีย ตำนานพระถังซำจั๋งไปชมพูทวีป ก็มีพูดถึงเมือง
สังกัสสะนครไว้ด้วยว่ามีวัดวาอารามปรากฏอยู่เป็นอันมาก แสดงว่าในอดีตกาลเมืองนี้มีอยู่จริง
.........การตักบาตรเทโว เหมือนตักบาตรธรรมดาทั่วไป เน้นการถวายข้าวปลาอาหารเป็นสำคัญ
ที่เห็นแปลกคงมีเฉพาะข้าวต้มโยน ข้าวต้มมัดธรรมดานี่แหละ ฉีกใบมะพร้าวมัดติดเป็นหางยาว
เอาไว้จับโยนใส่บาตร เห็นเล่าว่าคนแย่งกันใส่บาตร พวกอยู่หลังจำเป็นต้องโยน แต่ไม่แน่ใจว่าจะ
โยนแม่นขนาดไหน พระยิ่งโกนหัวผมไม่มีโดนเข้าไปคงเละน่าดู กิจกรรมนี้จัดกันตอนเช้ามืด ช่วงที่
พระออกบิณฑบาต เสร็จแล้วก็แยกย้ายกันกลับ มักจะจัดร่วมงานฉลองออกพรรษา หรืองานรื่นเริง
อื่น ๆ
.........งานจุดประทีปโคมไฟ กำลังจะเลือนหายไปจากวัดทางอีสาน เว้นแต่วัดแถบแม่น้ำโขง
ที่พัฒนาจนกลายเป็นประเพณีไหลเรือไฟ แถมมีพญานาคมาร่วมจุดบั้งไฟพญานาค เลยโด่งดังกัน
ไปทั่ว กลบประเพณีจุดประทีปโคมไฟกันไปเลย สมัยกระผมเป็นเด็ก 2494-2498 ใกล้ออกพรรษา
ตั้งตารองานจุดประทีปโคมไฟ ทราบว่าทุกหมู่บ้านมีเช่นกัน เพราะฟังจากพี่ชายเขาชวนกันไปเที่ยว
งานหมู่บ้านใกล้เคียง มารู้ทีหลังว่าเพราะไปติดสาวบ้านอื่นนั่นเอง พี่สาวกระผมก็มีหนุ่มบ้านโปโล
มาร่วมจุดเทียนหลายปีจนกลายมาเป็นพี่เขยคนโตในเวลาต่อมา งานจุดประทีปโคมไฟออกพรรษา
จึงเชื่อได้แหละว่าสำคัญต่อหนุ่มสาวไม่น้อย ส่วนเด็ก ๆ ไม่ค่อยมีผลมากนัก นอกจากมีขนมหวาน
ได้วิ่งเล่น ได้จุดธูปเทียนบูชา 

.........หลังวันทำบุญข้าวสาก(เพ็ญเดือนสิบ) ทางวัดจะเตรียมทำประทีป ตัดไม้ไผ่มาเหลาทำก้าน
ประทีป เข้าไปป่าหายางบง เก็บใบอ้ม ใบเนียม เอามาตากแห้ง บดละเอียดไว้ทำประทีป ไม้ไผ่ที่

นำมาเหลาทำก้านประทีป ตากให้แห้ง ก่อนออกพรรษาสัก 15 วัน เริ่มทำประทีปทั้งพระและเณร
ช่วยกันทำไว้มาก  ๆเอาไว้แจกโยมทั้งหมู่บ้าน ไม่ต้องซื้อธูป เพราะยังไม่มีใครเอามาขาย ส่วนเทียน
หรือน้ำมันที่จะใช้จุด ชาวบ้านจะทำจาก ผึ้ง ที่ได้จากรังผึ้งนำมาเคี่ยวไฟ ขี้ผึ้งไหลออกจากรังผึ้งทิ้ง
ให้เย็นก็จะได้ผึ้งสีเหลือง บ้าง ขาวบ้าง เอามาทำเทียน ส่วนน้ำมันใช้น้ำมันมะพร้าว น้ำมันงา น้ำมัน
ถั่ว น้ำมันละหุ่ง น้ำมันสบู่ดำ น้ำมันหมากค้อ ฯลฯ ชาวบ้านรู้ดีว่าหมากอะไรมีน้ำมันมาก หามาแกะ
เอาแต่เนื้อตากให้แห้งแล้วนำไปบีบเอาน้ำมัน ได้ซักถ้วยตะไล ก็มากพอเอาไปจุดบูชา เวลาจุด
ใช้หมากตูมกา ควักใส้ในออก เจาะร้อยเชือกหิ้วได้ กระป๋องก็ใช้ได้ กระบอกไม้ไผ่เล็ก ๆ ก็ทำได้
เอาไว้ใส่น้ำมัน เหมือนเราทำตะเกียง เอาฝ้ายมาทำไส้หย่อนลงไปในน้ำมัน ที่จะจุดไฟ ทำหลอด
สังกะสีพันไว้ กันไฟไหม้ลงไปหาน้ำมัน ผ่าไม้คีบหลอดพาดปากกระบอกไว้ เวลาจุดไฟก็เหมือน
จุดตะเกียงน้ำมันนั่นเอง ไฟไหม้ใส้ส่วนปลาย ก็จะดูดน้ำมันซึมขึ้นมาจนกว่าน้ำมันจะหมด จุดแล้ว
นำไปแขวนที่ราวซุ้มจุดประทีปโคมไฟ หรือไปห้อยตามต้นไม้บริเวณวัด 

........ซุ้มจุดประทีปโคมไฟ หลวงพี่และพี่เณร เป็นผู้นำ ชาวบ้านหาต้นกล้วย ก้านและใบมะพร้าว
ดอกไม้ เอาออกไปวัดให้ท่านจัดซุ้ม คนไม่มากทำโรงเรือนขนาดห้องเดียว 2 x 2 เมตร สองสัก
เมตรครึ่ง เดินลอดไปมาสะดวก เสาใช้ต้นกล้วย ตัดใบออกเหลือไว้สัก 4 ก้าน ปัก สี่มุม แทรก
ด้านละต้นใช้ 8 ต้น พาดขื่อด้วยไม้ไผ่ ไว้ห้อยหม้อน้ำมัน สูงแค่สะเอวตัดต้นกล้วยต่อไว้เป็นที่ปัก
ธูปเทียน นอกนั้นก็ประดับประดาให้ดูสวยงามด้วย แถบกระดาษสีต่าง ๆ มีที่จัดให้วางดอกไม้
วันออกพรรษา ไปฟังพระเจริญพุทธมนต์เสร็จ ก็ลงมาจุดธูปเทียนกัน ซุ้มสว่างไสวด้วยเปลวเทียน
เปลวหม้อน้ำมัน และหอมกลิ่นธูป หนุ่มสาวก็ได้พบกัน สมัยก่อนจึงสำคัญมากสำหรับหนุ่มสาว
........โคมไฟมี 3 ชนิด โคมจุดไฟที่ใช้น้ำมัน ช่วงเรียนหนังสือที่ชัยภูมิเคยได้ยินเขาเรียกไต้ตูมกา
ไปดูเป็นหมากตูมกาควักใส้ในออก ร้อยเชือเป็นสาย มีใส้แบบตะเกียง แขวนไว้มีสีเหลือง กับสีของ
เปลวไฟ สวยดี ที่ใช้กระป๋องนม กระบอกไว้ไผ่ ก็จัดเป็นโคมไฟ   ส่วนโคมแบบที่สองเป็นโคม
ไฟจริง ๆ แบบที่ทางเหนือเขาปล่อยให้ลอยเต็มท้องฟ้านั่นแหละ แต่ของอีสานขอบทำโคมไฟ
ขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูยบ์กลาง 75-100 เซนติเมตร ยาวซัก 3-4 เมตร โครงใช้กระดาษว่าวเป็นหลัก
ก้นโคมถักเชือกแปดเส้นห้อยลงมามัดที่ปาก ช่วยพยุงเวลาโดนลมพัดแรง จะได้ไม่ฉีกขาดง่าย
ปากเป็นกรอบวงกลมแบบขอบกระด้งทำด้วยไม้ไผ่เหลาบาง ๆ มัดลวดดึงไปมา 8 เส้น ตรงกลาง
จะมัดใส้ที่ใช้จุดไฟ เดิมใช้เศษผ้าชุบน้ำมันยาง ตากให้แห้ง สามแดด คือแห้งแล้วนำไปชุบมาตาก
ใหม่ 3 ครั้ง มัดให้แน่น น้ำมันจะได้ไม่หมดง่าย หลักการของโคมไฟคือ ไฟจากไส้ที่จุดจะทำให้
อากาศในโคมร้อนและดันตัวโคมให้ลอยขึ้น ส่วนลมภายนอกคือตัวพัดพาโคมไป ใส้หมดน้ำมันโคม
ก็ตก
........ตอนเช้ามีการปล่อยโคมลม วิธีการทำเหมือนโคมไฟ แต่จะทำขนาดใหญ่กว่าซัก 2 เท่า
เช่น เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5-2 เมตร สูง 4-5 เมตร ปากทำแคบ ขนาด 1/3-1/4 ของเส้นรอบวง
โคมแบบนี้ใช้วิธีอัดควันไฟให้เต็ม ความร้อนของควันจะทำให้โคมลอยขึ้นได้โดยไม่จ้องจุดไฟ
โคมชนิดนี้ไปได้ไกลหลายสิบกิโลเมตร กว่าจะตกผ่านไปสองสามวันเลยทีเดียว เคยทำปล่อยงาน
กิฬาสีที่จังหวัดเลย สามวันไปตกที่เพชรบูรณ์ เขาได้รับรางวัลผ้าเช็ดตัวอย่างดี 2 ผืน และแจ้งจด
หมายมาให้ทราบ แต่โคมวันออกพรรษาสมัยเด็ก ไม่รู้หรอกว่ามันไปไหนอย่างไร 

........ลอยกระทง กิจกรรมลอยกระทงทำกันหลังออกพรรษา 1 เดือน เป็นวันเพ็ญเดือนสิบสอง
ทราบว่าเดิมเป็นพิธีกรรมการบูชาเทพเจ้าของทางศาสนาพราหมณ์ การจุดไฟบูชาดั้งเดิมของอีสาน
มีมาแต่โบราณ จัดกันเดือนออกพรรษา เมื่อมีงานลอยกระทงเลยชอบใจสนุกกันใหญ่จนลืมการจุด
ประทีปโคมไฟดั้งเดิม รอแต่เมื่อไรจะมีงานลอยกระทงกัน ที่อ้างกันมากคือการลอยกระทงของ
ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ สมัยสุโขทัย ว่าเป็นที่มาของงานลอยกระทง แต่ดูวิธีบูชาไฟของไทยเหนือ
ไทยอีสาน ที่ทำกันมาก่อนจะมีกรุงสุโขทัย เป็นวิธีบูชาพระรัตนตรัยธรรมดา ๆ วันออกพรรษา
ในฮีตเดือนสิบเอ็ดของอีสานก็ชัดเจนมีการบูชาพระรัตนตรัยด้วยการจุดประทีปโคมไฟ ส่วนถิ่นที่
อยู่ริมน้ำโขงว่ากันชัด ๆเลยว่าไหลเรือไฟบูชาพระรัตนตรัย แถมจุดบั่งไฟพญานาคร่วมด้วย สนุก
กันใหญ่
..........เขียนถึงกิจกรรมเดือนออกพรรษา ว่าด้วยการบูชาประทีปโคมไฟที่ทำท่าจะหายไป และ
รุ่นใหม่เขาถามหาลอยกระทงแทน เสียดายนะถ้าเกิดเลือนหายไปจริง ๆ ก็เลยเขียนถึงเอาไว้ให้รู้
ไทยเรา สมัยก่อนเคยมีประเพณีทำนองนี้อยู่ แค่นี้เองแหละครับ อย่าเพิ่งเชื่อล่ะ ลองตรวจสอบ
ดูอึกทีก็ได้ ล้านนา ล้านช้าง เกิดก่อนเจียงใหม่ เจียงฮาย และสุโขทัย ฝากไว้ให้ศึกษาดูครับ

วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ออกพรรษาหน้ากฐิน



..........เล่ากันมาว่าสมัยพุทธกาลมีพระภิกษุชาวเมืองปาฐา 30 รูป ตั้งใจจะเดินทางไปเฝ้าพระพุทธ
เจ้าที่ประทับอยู่วัดพระเชตวัน ครั้นเดินทางถึงเมืองสาเกตุก็เป็นกำหนดวันเข้าพรรษาพอดี ทั้งที่ยัง
ระยะทางอีกประมาณ 6 โยชน์ (6 x 400 เส้น =2400 เส้น คูณด้วย 40 เมตร = 96000 เมตร
คือ 96 กิโลเมตร) ออกพรรษาเป็นเขตจีวรกาล แต่ภิกษุกลุ่มนี้รีบเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ช่วง
ปลายฤดูฝนลำบากพอสมควร เมื่อไปถึงวัดพระเชตวันจึงมีสภาพทุลักทุเล เมื่อพระพุทธเจ้าทักทาย
สุขทุกข์แล้ว เห็นความลำบากจึงมีทรงอนุญาตให้ช่วยกันตัดเย็บผ้าให้เสร็จ 1 ผืน ภายใน 1 วัน แล้ว
มอบให้พระรูปใดรูปหนึ่งนำไปผัดเปลี่ยน ถือว่าความสามัคคีช่วยกันทำควรได้รับรางวัล คืออานิสงส์
5 ประการได้แก่ ออกนอกวัดไม่บอกลาก็ได้(ปกติต้องอาบัติ) ถือครองผ้าไม่ครบไตร ไม่ต้องอาบัติ
เก็บผ้าอดิเรกได้ตามปรารถนาไม่อาบัติ ฉันคณะโชภนาได้ไม่อาบัติ ได้สิทธิ์ผ้าที่เกิดในอาวาสไม่
ต้องแบ่งพระแขกที่มาจากวัดอื่น นอกจากนี้ยังขยายเวลาจีวรกาลออกไปจนถึงกลางเดือนสี่ เพราะ
กฐิน มีประโยชน์แก่พระมากอย่างนี้เอง ชาวบ้านจึงนิยมทำบุญหาผ้าสนับสนุนให้พระทำกฐินเรียก
บุญกฐิน และนิยมทำบุญต่อ ๆกันมาจนปัจจุบัน สาระความรู้เรื่องกฐินที่ควรทราบ เช่น
............1. ผ้ากฐิน มีปริมาณมากพอที่จะตัดเย็บเป็นผ้าชนิดใดชนิดหนึ่งในจำนวน 3 ชนิดคือ สบง
จีวร หรือสังฆาฏิ ผ้าที่พระภิกษุในวัดต้องช่วยกันทำเพียง 1 ผืนเท่านั้น ผืนใดก็ได้
............2....พระภิกษุต้องจำพรรษาในอาวาสเดียวกันครบ 3 เดือน พรรษาไม่ขาด จำนวน 5 รูป
จึงจะอนุญาตให้ทำผ้ากฐินกันได้
............3. พระภิกษุช่วยกันแสวงหาผ้าบังสุกุล หรือรับผ้าที่มีผู้บริจาคก็ได้ เมื่อมีผ้าครบ ก็นัดวัน
ตัดเย็บ สมัยก่อนต้องพึ่งไม้แบบ(กฐิน) จนเรียกว่าการ กรานกฐิน คือทาบไม้แบบบนผ้าแล้วตัดตาม
แบบแล้วค่อยนำชิ้นผ้ามาเย็บเป็นผืนผ้า เสร็จแล้วนำไปย้อมสีให้เรียบร้อย ถวายพระที่สงฆ์เลือกไว้
นำไปผัดเปลี่ยน กระบวนการตัดเย็บจนเสร็จและนำไปผัดเปลี่ยนนี้เรียกว่า "กรานกฐิน"
...........4. พระภิกษุผู้กรานกฐินจะนุ่งห่มผ้าใหม่เข้าไปรายงานต่อที่ประชุมสงฆ์ แจ้งว่าตนเองได้
รับผ้ามาตัดเย็บเสร็จแล้วผัดเปลี่ยนเป็น การกรานกฐินเสร็จเรียบร้อยแล้ว คณะสงฆ์ก็จะแสดงความ
ยินดีอนุโมทนา ถือว่าทุกรูปได้กรานกฐินด้วย และได้รับอานิสงส์ 5 ข้อทุกรูป
..........5. พระภิกษุได้รับการขยายจีวรกาลออกไปถึงกลางเดือนสี่ ปกติวันเพ็ญเดือนสิบสอง หมด
เขตจีวรกาลแล้ว ต้องหาผ้ามาผัดเปลี่ยนในช่วงเวลานี้ แต่อานิสงส์กฐินได้ยืดจีวรกาลอีก 3 เดือน
เลยไม่ต้องรีบร้อน ค่อย ๆ หาไป ก็ทัน
..........6. ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า เป็นการถวายด้วยการทอดวางไว้ ไม่ยกถวายใส่มือ ด้วยเจตนา
จึงเป็นการถวายแก่สงฆ์ ผ้าป่ามีวิธีรับด้วยการชักบังสุกุล ส่วนกฐินสงฆ์จะรับโดยหมู่คณะประชุม
กันพิจารณาว่า มีผ้าเกิดขึ้นในวัด มีปริมาณพอ สำหรับทำไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งได้ คณะสงฆ์ขอ

หารือจะมอบผ้าให้แก่พระภิกษุรูปใด ไปดำเนินการ ให้เป็นไปตามระเบียบวิธีการกรานกฐิน
คณะสงฆ์ก็จะดำเนินการสองขั้นตอน คือ การประกาศ เลือกพระภิกษุผู้สมควรรับผ้ากฐิน  เรียก
การอุปโลกน์กฐิน หลังจากนั้นจึงจะประชุมสวดญัติทุติยกรรมวาจา อีกครั้ง เพื่อให้ถูกต้องตาม
หลักพระวินัยการรับกฐิน  จัดเป็น ญัติ
ทุติยกรรมวาจา โดยทั่วไปชาวบ้านนิยมนั่งดูพระท่านสวด 
และรอถวายบริวารกฐิน แล้วรับพร แต่พิธีการของพระยังไม่เสร็จ 
.........7. พระที่ได้รับมอบหมายจะไปดำเนินการ ซัก ตัดเย็บย้อมผ้า แล้วนำไปทำตามกรรมวิธีทาง
พระวินัยได้แก่ การพินทุ กัปปะ สละผ้าเก่า อธิษฐานใช้ผ้าผืนใหม่ แล้วกรานผ้ากฐิน รายงานต่อ
ที่ประชุมสงฆ์
.........ข้อสงสัยการทำบุญกฐิน ที่มักถามกันบ่อย ๆ
.........8. ใครมีหน้าที่หาผ้ากฐิน (พระภิกษุที่จำพรรษาครบ 3 เดือนในอาวาสเดียวกัน ช่วยกันหา
ส่วนชาวบ้านอยากช่วยพระ เลยพากันหาผ้าไปถวาย ไม่ใช่หน้าที่โดยตรง เลยหาไปเยอะมาก แบบ
ถวายองค์ละไตรยังได้เลย แต่ที่พระทำเป็นผ้ากฐิน มีเพียงผืนเดียว)
.........9. ทำบุญกฐินมีข้อจำกัดด้วยเวลา จำกัดด้วยจำนวนพระภิกษุที่จะรับ(พระภิกษุมีเวลาหาผ้า
มาตัดเย็บจีวร 1 เดือนนับแต่ออกพรรษา จะหาผ้าไปถวายช่วยพระก็ทำได้ในช่วงเวลา เดือนนี้เท่า
นั้น ที่เรียกกันว่า เขตกฐิน ส่วนจำกัดจำนวนพระ ต้อง 5 รูปถึงรับกฐินได้นั้น เป็นเรื่องของพระชาว
บ้าน ไม่เกี่ยว โยมเอาผ้าถวายให้แล้วก็จบ ส่วนพระจะทำให้เป็น ผ้ากฐินได้นั้น ต้องมีจำนวน 5 รูป
จำ พรรษาในอาวาสเดียวกัน พรรษาไม่ขาด ถึงจะประชุมกันเพื่อ กรานกฐิน ได้
........10..ชื่อบุญกฐินที่เรียก มีหลายคำเช่น กฐินต้น กฐินหลวง กฐินพระราชทาน จุลกฐิน โจรกฐิน
กฐินราษฎร์ มหากฐิน กฐินสามัคคี จุลกฐิน โจรกฐิน ต่างกันอย่างไร เยอะจริง ๆ จะพยายามรวบ

สั้น ๆ พอรู้ความ ดังนี้
.........กฐินต้น เป็นกฐินที่พระเจ้าแผ่นดินมีศรัทธา นำไปถวายวัดที่มีพระประสงค์ ทั้งที่มิใช่วัดพระ

อารามหลวง ส่วนมากเป็นวัดตามหัวเมืองที่มีพระราชศรัทธา 
.........กฐินหลวง เป็นกฐินที่พระเจ้าแผ่นดินจัดเพื่อทอดถวายวัดพระอารามหลวงต่าง ๆ โดยเสด็จ
ไป ด้วยพระองค์เองหรือมอบหมายให้ผู้แทนพระองค์ไปทอดถวายแทน
.........กฐินพระราชทาน เนื่องจากวัดหลวงปัจจุบันมีจำนวนมาก จึงอนุญาตให้ผู้มีศรัทธานำกฐิน

หลวง ไปทอดถวายแทน
.........กฐินราษฎร์ คือกฐินที่ราษฎรหรือชาวบ้านทั่วไปจัดการทอดกันเองที่วัดราษฎร์ เช่น วัดใน

หมู่บ้าน กฐินราษฎร์อาจมีเจ้าภาพครอบครัวเดียวจัดทำไปถวาย เรียกฐิน เฉย ๆ ก็ได้
.........กฐินสามัคคี ชาวบ้านร่วมมือกันเป็นคณะทำบุญกฐินทอดร่วมกันที่เรียกว่า กฐินสามัคคี ก็ได้ 

บางคราวจัดกันยิ่งใหญ่จะเรียกมหากฐินก็ได้
.........จุลกฐิน (อ่านว่า จุนละกะถิน) หมายถึง กฐินรีบด่วน กฐินที่ใช้เวลาเตรียมน้อย จุลกฐิน เป็นคำ
เรียกพิธีทอดกฐินที่ต้องเร่งรีบ ทำให้เสร็จภายในวันเดียว เริ่มตั้งแต่ปั่นฝ้าย ทอเป็นผืนผ้า เย็บ ย้อม
ตากแห้งแล้วนำไปทอดเป็นผ้ากฐิน พระสงฆ์รับแล้วก็รีบกรานกฐินในวันนั้นด้วย ทำดังนี้จึงเป็นจุล

กฐิน กว่าจะเป็นจุลกฐินได้จะต้องใช้ผู้คนมาก และมีความชำนาญเป็นพิเศษ กะเวลาได้ถูกจึงจะ
เสร็จทันเวลาและขณะทำจะดูชุลมุนกันไปหมด เพราะต้องเร่งรีบให้ทัน 
.........โจรกฐิน หมายถึงกฐินที่จัดทำไปถวายโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ส่วนมากวัดในชนบทบาง
วัด ไม่มีเจ้าภาพจัดกฐินไปถวาย ชาวบ้านมีศรัทธาอยากให้พระได้อานิสงส์กฐิน จัดผ้าและไทย
ทานพอ ประมาณไปถวาย
.........11. ทำบุญกฐิน ได้บุญมากกว่าทำบุญอย่างอื่น ใช่หรือไม่ คงเป็นเพราะเห็นจัดกันยิ่งใหญ่
คนไปร่วมงานมากมาย มีการสมโภชใหญ่โต (ทำบุญทุกชนิด กิจกรรมที่จะทำให้เกิดบุญมี 3

ประการ คือ ทานมัย มีการให้ ก็เกิดบุญ สีลมัย มีการปฏิบัติศีล ก็เกิดบุญ ภาวนามัย มีการฝึกอบรม
ให้เกิดปัญญา ก็เกิดบุญ ถ้าทำบุญอะไรมีการทำทานมาก ก็ได้บุญมาก มีการรักษาศีลมาก ๆ ก็ได้
บุญมาก มีการอบรม สมาธิวิปัสสนามาก ๆ ก็ได้บุญมาก หลักทำบุญมีอย่างนี้เอง ไม่ได้วัดค่าใช้
จ่ายถูกหรือแพง)
...........เขียนถึงการทำบุญกฐิน เพราะช่วงนี้กำลังเห่อทำบุญกฐินกัน ก็อยากให้ความรู้เรื่องกฐิน

บ้าง จะได้ทำบุญอย่างคนรู้จักบุญกฐิน ทำแล้วได้บุญครับ

วันเสาร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2559

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ





...................

………….. สมัยที่ยังเป็นครู เคยได้ยินข่าวสารโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เกี่ยวกับในหลวง รัชกาลที่ 9 บ่อย ๆ ส่วนมากจะเป็นโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาแหล่งน้ำทางการเกษตร และพัฒนาการอาชีพต่าง ๆ บางครั้งก็มีโอกาสไปชม ไปศึกษาดูงานกิจกรรมของโครงการบางแห่ง เช่น ที่เขาหินซ้อนฉะเชิงเทรา แต่ก็ไม่เคยคิด ว่าโครงการจะมีมากมายและกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยขนาดนี้ วันหนึ่งนึกสงสัยอยากรู้ว่ามีมากขนาดไหน และได้พบข้อมูลเวบสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สานักงาน กปร.) รู้สึกอัศจรรย์ใจเป็นอย่างมาก ไม่เคยได้ทราบความยิ่งใหญ่วิจิตรพิสดารแบบนี้มาก่อน จึงขอบันทึกข้อมูลที่ได้ทราบไว้ ดังนี้
………… ข้อมูลที่ทางเวบสรุปไว้ เป็นข้อมูลเฉพาะโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศ์ รวม 6 พระองค์ คือ

                 1. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

                 2. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

                 3. สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

                 4. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร

                 5.สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดำ ฯ สยามบรมราชกุมารี

                 6. สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ำจุฬำภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี

………….กรอบระยะเวลาที่นำเสนอข้อมูล เป็นการตรวจสอบนับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่ดำเนินการ ในช่วงเวลาตั้งแต่มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นแห่งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2495 จนถึง ณ สิ้นเดือนกันยายน 2559 รวม เวลา 65 ปี โครงการที่นับจานวนและสรุปไว้ มี 3 ลักษณะ คือ
                 1. เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ได้พระราชทานพระราชดำริโดยตรง
                 2. เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เกิดจากการที่ราษฎรทูลเกล้าฯ ถวำยฎีกาขอพระราชทานควำมช่วยเหลือ
                 3. เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่หน่วยงานได้กราบบังคมทูลรายงานและ/หรือขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเรียบร้อยแล้ว

............การแบ่งประเภทโครงการสานักงาน กปร. ได้แบ่งประเภทของโครงการอันเนื่องมาจากพระราช ดำริ ออกเป็น 8 ประเภท ดังนี้

                1 โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ
                2 โครงการพัฒนาด้านการเกษตร
                3 โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม
                4 โครงการพัฒนาด้านการส่งเสริมอาชีพ
                5 โครงการพัฒนาด้านสาธารณสุข
                6 โครงการพัฒนาด้านคมนาคม/สื่อสาร
                7 โครงการพัฒนาด้านสวัสดิการสังคม/การศึกษา
                8 โครงการพัฒนาแบบบูรณาการ และโครงการพัฒนาด้านอื่นๆ 

...............  โครงการต่าง ๆที่ คปร. สำรวจเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กล่าวข้างต้น นับได้ 4596 โครงการ และได้นำมาแจกแจงเป็นตารางรวมทั้งประเทศ และตารางแสดงการกระจายของโครงการตามภูมิภาคและรายจังหวัด ดังต่อไปนี้
..................ภาพรวมทั้งประเทศ 4596 โครงการ ในเวลา 65 ปี เฉลี่ยปีละ 70 โครงการ ภาคเหนือมีโครงการ ฯ ลง มากที่สุด 1731 โครงการ รองลงไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1157 โครงการ ภาคใต้ 884 โครงการ และภาคกลาง 804 โครงการ โครงการที่ไม่ระบุพื้นที่ เป็นโครงการที่ครอบคลุมทุกภูมิภาค เช่น
โครงการด้านการสาธารณสุข โครงการฝนหลวง

.................ลักษณะโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ลงพื้นที่ภาคเหนือ กระจายไป 17 จังหวัด เป็นการพัฒนาแหล่งน้ำมากที่สุด 1209 โครงการ สวัสดิการสังคม/การศึกษา 199 โครงการ และบูรณาการ102 โครงการ

.............ลักษณะโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ลงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กระจายไป 20 จังหวัด เป็นการพัฒนาแหล่งน้ำมากที่สุด 821 โครงการ ส่งเสริมอาชีพ 122 โครงการ และด้านสังคม/การศึกษา 53 โครงการ


............ลักษณะโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ลงพื้นที่ภาคใต้ กระจายไป 14 จังหวัด เป็นการพัฒนาแหล่งน้ำมากที่สุด 609 โครงการ ส่งเสริมอาชีพ 94 โครงการ และด้านสังคม/การศึกษา 63โครงการ


..............ลักษณะโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ลงพื้นที่ภาคกลาง กระจายไป 26 จังหวัด เป็นการพัฒนาแหล่งน้ำมากที่สุด 509 โครงการ และด้านสังคม/การศึกษา 74 โครงการ
บูรณาการ 59 โครงการ

............. จากที่ได้พบและรู้จักข้อมูลโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งหมดนี้ ทำให้เข้าใจได้
ว่าพระราชาพระองค์นี้มีปฏิปทาสมพระนามว่า "ภูมิพล" อย่างแท้จริง ยังไม่เคยมีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดจะมีโอกาสได้กระทำประโยชน์แก่มหาชนชาวสยามได้มากมายและทั่วถึงขนาดนี้ ไม่แปลกเลย ที่เราได้เห็นภาพประชาชนชื่นชมพระบารมีเมื่อพระองค์เสด็จไปยังพื้นที่ต่าง ๆ แม้พื้นที่นั้น ๆ จะเต็มไปด้วยภัยอันตรายก็ยังเสด็จไป  แม้เสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว ประชาชนที่แสดงความอาลัยก็ยังไม่หมดสิ้นและน่าจะ ยังมีอยู่ตลอดไป เพราะต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณนั่นเอง คงยากมากที่จะตอบแทนคุณของพระองค์ได้ครบถ้วน แต่เราสามารถทำความดีถวายพระองค์ท่านได้ตลอดชีวิตของเรา มาทำความดีกันเถอะครับ เพื่อบูชาพระคุณของพระองค์ท่าน










วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ไปเที่ยวภูป่าเปาะ


ไปเที่ยวภูป่าเปาะ 


----------------------
........30 กันยายน 2559 เช้าครูนกบอกจะไปช่วยเตรียมงานเลี้ยงครูเกษียณเช้าและเลย อยู่จนงาน
เลิก พ่อเอารถไปส่งแล้วเอารถกลับมาใช้ รถจะว่างทั้งวัน ตอนเย็นก็ไปงานเอง ตกลงกันแบบนี้แล้ว
ก็สบายไม่ต้องไปเช่ารถท่องเที่ยวยาก ว่าแต่ได้รถแล้วจะไปเที่ยวไหน กว่าจะค่ำเที่ยวได้หลายแห่ง
ไปส่งครูนกสองโมงครึ่งที่ศรีสงครามวิทยา ออกมาก็มุ่งไปทาง อำเภอหนองหิน พายายไปถ่ายรูป
ที่สวนหินผางาม ไม่ได้ไปหลายปีแล้ว สองข้างทางสาย 201 เปลี่ยนไปบ้าง บ้านโนนสว่าง มีสำนัก
งานเขตพื้นที่ประถมศึกษาเลย เขต 2 ย้ายออกมาอยู่ที่ โรงเรียนบ้านโนนสว่าง ได้ที่กว้างขวางดี
ถัดไปเป็นบ้านเรือนสองข้างทางติดกันไปจนถึง ทางแยกไปถ้ำผาบิ้ง เราวิ่งต่อไปเรื่อย ผ่านหน้า
วัดถ้ำผาหมากฮ่อ สถานีหม่อนไหมเลย เข้าสวนสัก กำลังงอกงามจนรกทึบ มุงถนนกลายเป็นซุ้ม
ต้นสักสวยงามดี 
.........ผ่านหน้าโรงเรียนเซไลวิทยาคม เป็นโรงเรียนมัธยมประจำตำบล เคยมานิเทศครูบ่อยผู้บริหาร
เคยทำงานเป็นครูเกษตรศรีสงครามวิทยา คุ้นเคยกันเลยขอให้ช่วยนิเทศงานวิชาการให้ ครูโอกาส
ต่าง ๆ เช่นการจัดการเรียนการสอน การเขียนแผนการสอน การผลิตสื่อการสอน แบบสื่อออนไลน์ 
การวัดผลประเมินผล วิจัยในชั้นเรียน การสร้างเวบไซท์ ยังกะเราเป็น ครูใหญ่ซะเอง ก็เหนื่อยนะ 
แต่พอเห็นครูอยากรู้ก็มีกำลังสู้ ทุกวันนี้พอเห็นหน้าปรี่เข้ามาทัก เลย สงสัยคงเข้าใจแล้วว่าสิ่งที่
นิเทศให้มันของแท้ แม้วันนี้ก็ยังทันสมัยอยู่ 
......ผ่านบ้านโคกขมิ้น กุดลัน แล้วก็ตลาดหนองหิน เจริญไปมาก ผู้คนขวักไขว่ รถราก็มากแรกว่า 
จะแวะตลาดสด แต่ยายเปลี่ยนใจเลยเลี้ยวขวาไปสวนหินผางาม 19 กิโลเมตร ถนนลาดยาง ปรับ
ผิวจราจรไม่นาน วิ่งสะดวก ผ่านบ้านห้วยไผ่ บ้านหนองหมากแก้ว จำได้ว่าแม่ครูนกบรรจุเป็นครูที่
บ้าน หนองหมากแก้ว อยู่สองปีได้ย้ายไปโรงเรียนบ้านไร่พวย ติดถนนใหญ่สาย 210 เลยหนอง
หมากแก้ว ก็เป็นบ้านปวนพุ บ้านแถวนี้ทำสวนผลไม้ มะม่วง มะนาว มะขามหวาน ตอนนี้มีไร่อ้อย
กำลังนิยมปลูก กันมากเพราะใกล้โรงงานน้ำตาล 
........รถวิ่งขึ้นเนินเขาไม่ชันนักค่อย ๆ ปีนไปซักสามกิโลเมตรถึงจุดชมวิว แวะถายภาพและคุยกับ 
เจ้าหน้าที่อุทยาน เขาบอกน่าเที่ยวหลายแห่ง สวนหินผางาม สวนสวรรค์ น้ำตกเพียงดินภูป่าเปาะ
สะดวกกว่าเพื่อนคือภูป่าเปาะ มีรถนำเที่ยวตลอดไม่ต้องเดิน ยายชอบใจตรงที่ไม่ต้องเดิน ขอไป
เที่ยวภูป่าเปาะก่อน ออกจากจุดชมวิว ปีนเขาต่อ 500 เมตรเป็นสันเขา รอบข้างล้วนป่าไผ่ที่กำลัง
เขียวขจีคงเพราะฝนชุก สังเกตแต่ละกอแทงยอดอ่อนสีเหลือง แดง ยังกะธงชัยกองทัพ แหงนดู
บรรยากาศ บนท้องฟ้าเมฆฝนบาง ๆ คงไม่ตกตอนนี้ สงสัยจะรอให้เราไปเที่ยวก่อน ใจเย็น ๆนะใจ
เย็น ๆเทวดา รถลงจากยอดเขามองเห็นหลังคาบ้านเรียงรายอยู่ไม่เกิน 500 เมตร รู้จักนี่คือบ้าน
สวนห้อม ทางผ่าน ไปบ้านสวนปอ ที่ครูเขาพามาเที่ยวป่า กินปลาฝายทดน้ำผู้ปกครองนักเรียน
เชิญมานั่งดูเขาสูบน้ำจับปลา และช่วยกินปลา ค้าง 2 คืนกว่าน้ำจะแห้งจับปลาได้ ไม่ค่อยสนุก
เท่าไร เพราะเขาไม่ยอมให้ลงไปลุยโคลนจับปลา 
.........บ้านสวนห้อมเปลี่ยนไปมาก บ้านเรือนมีหลังคากระเบื้อง สังกะสี แทนหลังคาแฝกที่ก่อนโน้น
เต็มหมู่บ้าน แสดงว่าเศรษฐกิจท่องเที่ยวช่วยให้มีรายได้ดี ก็ดีใจด้วย สวนสวรรค์แหล่งท่องเที่ยวชื่อ
ใหม่ แต่ที่เดิม ทางขึ้นสูงชันปีนไม่ไหว ถัดไปน้ำตกเพียงดิน อยู่ข้างทาง 250 เมตร ตรงที่เป็นน้ำตก
เป็นร่องน้ำลึก สองข้างชาวบ้านทำนา ดูเป็นที่ราบ ธารน้ำตกอยู่ระดับเดียวกับถนน น้ำไหลซึมจากเขา
ก่อนเขาปล่อยไหลข้ามถนนไปเป็นน้ำตก ตอนนี้ทำทางให้ไหลแล้ว ภาษาชาวบ้านเขาเรียกน้ำ
"โตนโสก" น้ำมาก ๆก็สวยเหมือนน้ำตกตาดผาเชียวแหละ ผ่านไปอีกนิดก็นเป็นบ้านผางาม ชื่อใหม่
แสดงว่าคนเพิ่มขึ้น หมู่บ้านขยาย เอาชื่อแหล่งท่องเที่ยวมาเป็นชื่อหมู่บ้าน ก็ดีนะทำให้รู้ได้ว่าใกล้
สวนหินผางามแล้ว ประมาณ 2 กิโลเมตรเองจากหมู่บ้าน
........ไร่มันสำปะหลัง ไร่ข้าวโพดเมื่อก่อน กลายเป็นสวนลิ้นจี่ ลำไย สวนส้ม สดชื่อนดี แต่เสียภาพ 

สวย ๆไปมองไม่เห็น ก่อนเคยยืนดูไร่ข้าวโพดหลายร้อยไร่ เดือนเมษายน เขาหักข้าวโพดไปขาย 
ทิ้งซังให้นอนราบไปกับพื้น มีคนแอบจุดไฟเผา ดินโล่งสีดำ ๆเถ้าถ่าน มีก้อนหินปูนขนาดเท่าคน 
ขนาดเท่ารถยนต์ เท่าบ้าน เท่าตึก 3 ชิ้น 7 ชั้น ผุดกลางไร่ข้าวโพดนับพันก้อน หินปูนสีขาว ๆ ที่ถูก
 ฝนชะจนยอดแหลม แถมมีร่องน้ำไหลทำให้กลายเป็นริ้วรอยยังกะเขาแกะสลัก เป็นศิลปกรรม ที่ 
ธรรมชาติเนรมิตให้ สวยงามมาก ๆ ผ่านไปไม่นานก็มีแหล่งท่องเที่ยวชื่อ"สวนหินผางาม"นี่แล ผม 
โชคดีมาก ๆนะ ได้เห็นภาพก่อนจะพัฒนาเป็นที่ท่องเที่ยวแบบปัจจุบัน
.......ผมขับรถผ่านทางเข้าสวนหินผางาม จะไปภูป่าเปาะก่อน ขากลับค่อยแวะ เพราะมาไม่ต่ำ
กว่า
10 ครั้งแล้ว ยายมารอบนี้ครั้งที่ 3 ก็อยากเห็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ถนนลาดยางสองเลน ผิวจราจร
ยังดีวิ่งตามสบาย นาน ๆมีรถสวน เป็นรถต่างจังหวัด คงมาเที่ยวกัน สองข้างทางมีรีสอร์ท ร้านอาหาร
 บ้านพัก ผุดมารองรับการท่องเที่ยว ที่บอกว่าเห็นแต่สวนและบ้านเรือนนั่นแหละ บดบัง ความสวย
งามธรรมชาติไว้ด้านหลัง ไม่นานเราก็ถึงที่ทำการแหล่งท่องเที่ยวภูป่าเปาะ เขาใช้ไม้ไผ่ สร้าง
อาคารโรงเรือนต่าง ๆ สวยและแปลกดี จอดรถแล้วลงเดิมชม แผงลอยขายของจากสวนจากไร่
 พริก ผัก ฟัก แฟง แตงร้าน ราคาไม่แพง มีเงาะ มีลำไยด้วย เห็นว่าปลูกเอง มีรถนักท่องเที่ยวจอด
 อยู่สองสามคัน ทราบว่าเข้าไปภูป่าเปาะกันแล้ว มีสาวมัคคุเทศก์มาถามไถ่ ยากยบอกมาจาก
แปดริ้ว เธอตกใจทำไมมาถึงแต่เช้านักมารถอะไร ยายบอกมาเครื่องบิน แล้วลุงขับรถพามา เออ
ยายเราขี้โอ่ เป็นเหมือนตาเลยเนาะ 
.........มัคคุเทศก์พาไปลงทะเบียนเช่ารถอีแต๊ก 1 คัน พาเที่ยว เขาเก็บค่าธรรมเนียมคนละ 60 บาท
 ต่อเที่ยว นั่งไปได้ 4 คนกำลังดี มากกว่านี้ก็ได้ที่นั่งว่าง เขาใช้รถไถนาแบบนั่งขับคันเล็ก ๆ ที่เรา
เห็น เขาใส่รถบรรทุกคราวละ 8-10 คัน ไปส่งศูนย์จำหน่ายนั่นแหละ อบต.เขาดัดแปลงเป็นรถโดย
สาร เห็นนึกว่ารถปิคอัพ มีหลังคากันแดดฝนได้ด้วย ด้านหน้านั่งหย่อนขาได้ 4 คน ด้านหลังนั่งสอง
แถว นั่งได้ 8 คน เราไปสองคนเขาก็รับพาไป เขาบอกใช้รถปิคอัพไม่ได้การ กำลังน้อย เจอฝนดิน
เละก็ ปีนไม่ได้หรอก ต้องรถไถน้อยที่เราใช้ไถนาลุยโคลนอยู่แล้ว กำลังเยอะ นั่งเต็มรถก็ไม่กลัว 
ไปได้ สบายมาก เออจริงของเขา
.......ภูป่าเปาะ แหล่งท่องเที่ประหลาด เป็นยอดเขาเตี้ย ๆ ติดกันสามสี่ลูก แวดล้อมด้วยกลุ่มภูเขา 

หินปูนหลายสิบลูก สวยงามแตกต่างกันไป บางรูปรูปร่างยังกะคนนอนหงาย มัคคุเทศก์ บอกลูกนั้น
 รูปนางยักษ์นอนตาย เธอบอกนั่นไงหัว คอ คาง อ้อนมใหญ่หน่อยนมยักษ์ ส่วนขามองไม่เห็น ก็เขา
 มันยาวแค่นั้นนี่นา อีกลูกก็ยักษ์เหมือนกันแต่เป็นยักษ์ผู้ชาย เออหนู่เก่งมากนะ มองภูเขาเห็นเป็นผู้
 หญิงผู้ชายได้
......อีแต๊กพาเราปีนเขาไม่ถึงสิบนาที ถึงจุดชมวิวจุดที่ 1 มองไปด้านหน้า ทางไปจุดที่ 2 -3 -4 ด้าน

ซ้าย มองเห็นภุเขาใหญ่น้อยเรียงรายเต็มไปหมด ด้านหลังคือทางที่เราปีนขึ้นมา สูงเหมือนกัน 
ด้านซ้ายสะพานยืนชมวิว มีที่นั่งพักผ่อนให้ด้วย เราไปยืนมองออกไปเห็น ภูเขาไปฟูจิไทเลยลิบ ๆ
 ยอดเขาปกคลุมด้วยเมฆสีขาว ยังกับหิมะ เลยบอกยายดู แกตกใจว่าทำไมภูเขาไฟฟูจิมาโผล่ให้
เห็น ได้แถวนี้ นั่นคือภูหอ อยู่ที่อำเภอภูหลวง เห็นครั้งแรกก็แปลกใจเหมือนกันทำไมมันคล้ายกัน
มาก ผมเคยนั่งรถผ่านภูเขาไฟฟูจิทั้งรถยนต์และรถไฟ ยอมรับแหละว่าคล้ายมาก แต่ของเราขนาด
เล็ก เคยปีนขึ้นไปบนยอดเขาตามไก่ป่า ได้ตัวหนึ่ง ไก่เยอะครับ เช้า ๆเสียงไก่ขันลั่นป่าทีเดียว 
เราเด็ก เกเรแอบไปดักยิง บนยอดเป็นหน้าผาสูงชันปีนยาก หาความสวยไม่เจอหรอก ต้องมอง
จากไกล ๆ 
.....ถ่ายรูปจุใจ รถอีแต็กพาปีนเขาไปจุดที่ 2 ข้างทางต้นดอกบัวตองกำลังงาม เขาเอาเมล็ดมา
หว่าน มันขึ้นเป็นดงเลย ราวพฤศจิกายนปีนี้ออกดอกแน่ เขาบอก ถ่ายรูปจุดที่สองก็สวยงาม ไม่แพ้
จุดแรก แรก ปีนเขาต่อไปจุดที่สาม มีมะละกอเขาปลูกไว้ให้คนชมจะรู้ว่าดินอุดมสมบูรณ์ขนาดไหน
 ลูกดก มากทุกต้น เขาบอกของ อบต.ปลูกไว้กำนัลคนมาเที่ยว รอให้สุกก่อน กินไม่หวาดไม่ไหว 
จุดนี้มอง กลับลงไปเห็นสวนยางพาราขึ้นเต็มไปหมด นึกว่ามีแค่ข้างถนน เขาบอกกอ่นเป็นเขาหัว
โล้น ปลูกยาง พารามันขึ้นดี น้ำยางคุณภาพดีด้วย ชาวบ้านเลยนิยมปลูก ก็ดีนะปลูกพืชพื้นบ้าน
มามากลองปลูก พืชเมืองซะบ้าง มัคคุเทศก์ถามว่าอะไรพืชเมือง ก็ต้องบอกว่า ยาพาราไง พืช
เมือง ยังทำหน้างงอีก พาราแปลว่าเมืองใช่ไหม แล้วยางพาราก็คือ ยางเมืองไง เธอหัวเราะ 
บอกว่าตาคิดมากไป
......ภูป่าเปาะเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ มีรถนำเที่ยวไม่ต้องปีนให้เหนื่อย จุดชมวิวสวยงามมาก

 ค่า ธรรมเนียมก็ไม่แพง สินค้าพื้นบ้านมีให้ชมหลากหลาย คนก็อัธยาศัยดีแบบคนไทเลย น่า
ไปเที่ยว ห่างจากเทศบาลหนองหินเพียง 24 กิโลเมตร ละแวกใกล้กันมีแหล่งท่องเที่ยวห้าหก
แห่ง ใช้เวลา ซัก 1 วันก็คงเที่ยวไม่หมด น่าไปครับ

วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559

30 กันยายน วันสิ้นอายุ.....30

...........30 กันยายน วันสิ้นอายุ...........
------------
......30 กันยายน วันสำคัญสำหรับคนรับราชการจนอายุครบ 60 ปี ที่เรียกวันหมดเวลาสำหรับทำงานราชการ รุ่งขึ้น 1 ตุลาคม ก็ไม่ได้เป็นข้าราชการแล้ว ก็เลยถือว่าเป็นวันที่มีความสำคัญมากต้องจำกัน
ไปอีกนาน ก่อนจะคุยถึงข้อคิดเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับวันที่ 30 กันยายน ขอหยิบเอาคำ 3 คำที่เป็นคำพ้องเสียง ถ้าไม่เห็นตัวสะกดการันต์ไม่รู้หรอกว่า ออกเสียงคำไหน เกษียน เกษียร หรือ เกษียณ เอามา
พิจารณาก่อนว่า ถึงจะเสียงพ้องกัน แต่ความหมายไม่ใกล้เคียงกันเลย คือต่างกันมากว่างั้นเถอะ
......เกษียน อันนี้เป็นคำไทยแท้แต่เขียนยังกับคำยืมจากภาษาสันสกฤต เพราะพอมองเห็นตัว "ษ" ก็เดาแล้วว่าใช่ คนคิดใช้คำนี้สุดยอดจริง ๆ ใครจะไปนึกถึงว่า เดิมเขาคือคำว่า "เขียน" แผลงมาเป็น เกษียน ดีที่ยังเหลือ "น" ไว้ให้เดา เลยไม่ต้องแปลยากรู้กันทั้งบ้านทั้งเมือง เกษียน ใบลาน เกษียนหนังสือราชการที่ใช้กันบ่อย ๆ ก็คือ เขียนนั่นเอง อ้อ คำที่สะกดด้วย ข แผลงแล้วใช้ กษ แทน มีหลายคำนะ เช่น เขต...เกษตร เขม...เกษม ขีร...เกษียร
.......เกษียร ออกเสียงกะเสียน เช่นเดียวกัน แปลว่าน้ำนม ที่ต้องแปลเพราะเป็นคำยืมจากคำสันสกฤต คือ กษีร แผลงสระ อี เป็น เอีย ตัว ร สะกด ตามเดิม แผลงครั้งเดียวได้ เกษียร เลย ส่วนบาลีใช้ ขีร จะแผลงจากบาลีต้อง 2 ยก ยกแรกแผลง ข เป็น กษ แล้วแผลง อี เป็น เอีย กว่าจะได้เกษียร ก็ยาวหน่อย ดังนั้นอย่าใช้คำ เกษียร กับวันที่ 30 กันยายน เพราะไม่ใช่วันน้ำนมหมดอายุ
......เกษียณ แปลว่า สิ้น หมด ครบกำหนด เป็นคำสันสกฤต กษีณแผลงสระอี เป็น เอีย รอบเดียวเป็น เกษียณ ตัว ณ สะกดตามเดิม ส่วนภาษาบาลีใช้คำว่า ขีณ ต้องแผลงสองรอบ ข แผลงเป็น กษ และแผลงสระ อี เป็น เอีย ตัว ณ สะกดตามเดิม คำนี้เองใช้กับวันที่ 30 กันยายน
.....มีข้าราชการจำนวนมากเกษียณอายุราชการในวันที่ 30กันยายน 2559 ปีนี้นะ เลยเติมเลข พ.ศ. จะได้รู้ว่าเขียนใหม่ ๆ ไม่ได้ขุดของเก่ามาอวด เห็นคำที่ใช้ก็ตกใจนะ "เกษียณอายุ" ดีที่มีคำราชการต่อท้าย ค่อยสบายใจหน่อย ไมใช่ เกษียณอายุจริง ๆ คนที่เกษียณมีสาเหตุของโรคแบบเดียวกัน คือแก่จนครบ 60 ปี โดยนับตั้งแต่ 2 ตุลาคม ปีก่อนหน้าจนถึง 1 ตุลาคม ของปีที่เกษียณ คือ ใครเกิดมีอายุครบ 60 ปี ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2559 ก็จะเกษียณ พร้อมพวกที่ประกาศ ปี 2559 ไปเลย ส่วนคนเกิดหลังวันเดียวคือครบ 60ปี ในวันที่ิ 2 ตุลาคม 2559 ก็อยู่ได้อีก1 รอบปี ไปเกษียณ ปีถัดไป เมื่อเกษียณ ทุกคนเศร้า ๆ นะ แม้จะกัดฟันบอกว่าสบาย ๆ ไม่ต้องมีภาระยุ่งยากแต่ลึก ๆ ก็เหงาะนะ เว้นแต่พวกมีงานอื่นรองรับ ทำ
การทำงานไปก็ลืมความเหงาไปได้บ้าง(มีการแก้ไข ให้สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้รับ)
..........คนเกษียณ ไม่ต้องทำใจอะไร เพราะมันเกษียณของมันเอง ไม่ต้องทำใจเหมือนขึ้นเครื่องบิน แบบกลัวความสูง แต่ควรเตรียมพร้อม ให้เห็นเป็นเรื่องปกติธรรมดา แค่คิดเอาไว้จะใช้เวลาหลังเกษียณทำอะไรดี คนมีวิชาความรู้ก็อาจได้ใช้วิชาความรู้เต็มที่เพราะเวลาเยอะ คนมีที่ไร่นาสวนก็อาจไปดูแลไร่นาสวน ทำได้เต็มที่ คนมีอาชีพอื่นรองรับก็ไปทำอาชีพนั้น ๆ ได้สบาย ๆ เวลามากพอ ส่วนอาชีพราชการ น่าจะพอนะ ถึงจะเก่งแค่ไหน มันไม่ใช่เวลาของเรา มีคนอื่นที่เก่งและหนุ่มกว่าเรา รอทำแทนเรามากมาย
แค่ให้กำลังใจเขาก็ดีแล้ว
........เกษียณแล้วหันหน้าเข้าวัด หลายคนแนะนำมา ผมถามกลับไปว่า แล้วจะไปทำอะไรที่วัด ตอบไม่ได้ ถ้าบอกว่าไปทำบุญ อยู่บ้านก็ทำบุญได้ ง่ายกว่าไปวัดอีก อยากทำทาน รอบตัวเรามีแต่คนอยากได้เงินทองทั้งนั้น คนยากจน คนเจ็บไข้ กองทุนมูลนิธิต่าง ๆ ให้สิ่งเป็นนามธรรมที่เรียกธรรมทานก็ได้บุญมากด้วยเช่น สั่งสอน อบรม ให้คำแนะนำ ให้วิชาความรู้ ภาวนามัยฝึกอบรมให้เกิดสติปัญญาก็ได้บุญ อะไรที่เราโง่งมงายอยู่ ไปฝึกอบรมให้ฉลาดหายโง่เป็นบุญอย่างยิ่ง ทั้งหมดนี่เรียกบุญกิริยาวัตถุ 3 อย่าง ทำที่บ้านได้ไหม ที่นี่แหละจำเป็นมาก ทานวัตถุให้ครอบครัว ธรรมทานให้บุตรหลาน ปฏิบัติศีลที่บ้านตั้งแต่เช้ายันหลับตอนเย็น ไปทำงานก็มีศีลไปเที่ยวก็มีศีล ไปประชุมสัมมนาก็มีศีล ยากไหม ไม่ยากเพราะถือศีลไม่หนักนี่ แล้วภาวนาอบรมนี่ล่ะ ที่บ้านได้เหรอ ที่บ้านนี่แหละเหมาะมาก ทำวัตรสวดมนต์เสร็จแผ่เมตตา จิตใจจะอ่อนโยนขัดเกลากิเลสไปวันละนิด มีโอกาสก็กำจัดความโง่งมงาย ยังโง่เรื่องดิจิตอล ก็ศึกษาหาความรู้ประสบการณ์ จนทำได้โง่ก็หายไป ได้โลกียปัญญามา เป็นบุญอย่างยิ่ง ยังโง่เรื่องไหนอีก การฝึกอบรมช่วยเราได้ มีเวลาเยอะนี่นา  อย่ามัวรอจะฝึกแต่สมถะวิปัสสนาที่มุ่งหาโลกุตรปัญญา ปัญญาตัวนี้ต้องมุ่งมั่นจริง ๆถึงจะได้

.......แล้วตัวเองล่ะ เกษียณมา 12 ปีแล้ว ก็ทำหลายอย่างนะ แรก ๆ อยากเปิดโรงเรียนฝึกอบรมการใช้คอมพิวเตอร์สำหรับครูอาจารย์ ลงทุนไปสามแสนเศษ จุดหมายคือช่วยครูฝึกการใช้อินเตอร์เนตฝึกเขียนเวบไซท์ ฝึกทำสื่อการสอนเพื่อนำขึ้นเวบไซท์เป็นสื่อออนไลน์ ผลคือเก่งแต่คนสอน คนเรียนรับไม่ไหว เปิดอยู่ปีเศษมีนักเรียนไม่ถึง 20 คน ก็ได้คิดว่า สิ่งที่เราคิดว่าดีมีประโยชน์ คนอื่นอาจไม่คิดเหมือนเรา ก็เลยยุบเลิกกิจการ ลูกสาวก็ถูกหวยไป มีระบบเครือข่าย(LAN)ในบ้าน มีคอมพิวเตอร์ ใช้ 8 เครื่อง
.........จากนั้นก็คิดจะออกบวชท่องเที่ยวไปทั่วประเทศไทย เจอที่สงบ ๆ ก็พักช่วยวัดอบรมสั่งสอนพระเณร จะได้ฟื้นความรู้นักธรรมเอก ปธ. 4 หรือไม่ก็ช่วยโรงเรียนที่ต้องการความรู้เรื่องหลักสูตรการเรียนการสอน หรือเรื่อง ไอที ก็บังเอิญมีเรื่องใหม่เข้ามา ต้องย้ายไปอยู่แปดริ้ว มีภรรยาคนที่สองนั่นแหละ เรื่องบวชก็ระงับไป ไม่ได้บวชก็ไม่เป็นไร ปฏิบัติตนแบบเดิมอย่างเคร่งครัด ก็พอจะชดเชยได้ ไปอยู่ 2 ปีก็เกิดเจ็บป่วยเส้นเลือดหัวใจตีบ 3 เส้น แฟนเขาเป็นพยาบาลเลยรู้แนวทางการรักษา คงเพราะเหตุนี้กระมัง ที่ทำให้ต้องมาอยู่กับเขา เขาพาไปรักษาที่โรงพยาบาลทรวงอก ทำบอลลูน ครบ 3 เส้น ก็เหมือนแหย่เท้าข้างหนึ่งไปแดนมรณะแล้วนั่นแหละ รอดมาได้ก็บุญมากแล้ว
.......ทำงานหนัก ๆ คงไม่ไหวแล้วร่างกายชำรุดมาก แต่ความคิดความอ่านยังไม่ชำรุดนะ ลองเปิด เวบไซท์ เวบบลอก นำข้อเขียนต่าง ๆ ไปไว้ให้คนอ่าน เรื่องประเพณีพื้นบ้านไทยอีสาน เรื่องธรรมแบบชาวบ้าน เรื่องการทำมาหากินของคนสมัยก่อน ประสบการณ์ ความรู้เรื่องหลักสูตร การเรียนการสอน วิจัยในชั้นเรียน การวัดผลประเมินผล เรื่องไอที เรื่องการทำอาหารพื้นบ้านอีสาน เชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่ได้อ่าน อ่านฟรี ๆ บางคนขอไปทำสื่อการสอน ก็ไม่หวงนะ เพราะนี่คือธรรมทาน ที่ได้บุญแบบสบาย ๆ ได้เสมอเมื่อมีคนมาอ่าน จากการทำเวบ ได้ความคิดว่ายังมี กำลังทำงานเบา ๆได้อยู่
........ศึกษาหาความรู้ไม่หยุด ทุกเรื่องที่อยากรู้ เข้าไปโลกออนไลน์หาได้หมด ลองไปขุดคุ้ยเรื่องภาษาไทยที่ยังอ่อนอยู่ เช่น ร้อยกรอง ฝึกเขียนกลอนกลบทตามแบบหนังสือ กลบทสิริวิบูลย์กิตต์ แต่เอาเรื่องนางผมหอมมาฝึกเขียน จนจบเรื่อง ได้กลบทกลอนหลายสิบชนิด จนรู้ว่าเขียนได้ทุกกลบทที่อยากเขียนนั่นแหละ จบกลอนกลบทก็นึกถึง โคลงบ้าง โคลงก็ยังอ่อนนะ ไปตามหาโคลงกลบทชนิดต่าง ๆ ได้จากจารึกวัดพระเชตุพนมาจำนวนมาก จากตำราโคลงเก่า ๆ ก็มาก ฝึกเขียนโคลงกลบทเอาเรื่อง ท้าวเซียงเหมี่ยงแล้วกัน เรื่องตลกแต่เขียนกลบท ถึงจะขัด ๆ กันช่างมัน เราทำแบบฝึกแต่งโคลงนี่นา แต่งไปแต่งมา จบ 40 ตอนนะ (ต่อจบ 76 ตอนแล้ว) ยาวทีเดียวแหละ โคลงกลบท 30 กว่าชนิด นางผมหอมกลอนกลบท เซี่ยงเหมี่ยงคำโคลง นำขึ้นเวบบลอก เปิดให้อ่านได้เป็น ธรรมทานครับ
.....เขียนถึงเรื่องเกษียน เกษียรและเกษียณ อย่างย่อ ๆ แต่ที่มันยาวเพราะนอกเรื่องนั่นเอง เพียงอยากเล่าถึงเรื่องประสบการณ์เก่า ๆสู่กันฟัง อยากให้คนที่เกษียน ปี 2559 นี้ มีแต่ความมั่นใจ สบายใจ ก้าวเดินไปข้างหน้าอย่างมีความสุข ยึดมั่นศีลธรรมเอาไว้เป็น เกราะคุ้มครองที่ดีมากครับ ขอบคุณ
-----------
ขุนทอง ศรีประจง
26 กันยายน 2559

งานเกษียณอายุราชการ


งานเกษียณอายุราชการ 


.........เคยไปร่วมงานที่คนอื่นเกษียณ ก็หลายสิบงาน จนวันหนึ่งก็เป็นงานตัวเองเกษียณบ้าง แล้วก็

มี งานให้ไปร่วมอีก นับดูแล้วก็ไม่ต่ำกว่า 50 งาน พอเข้าไปโลกออนไลน์ยิ่งเจอภาพข่าวงานเกษียณ
นับ ร้อย ๆ งาน จนสรุปได้ว่า งานเกษียณมีกันทุกปี ปีละหลายร้อยหลายพันงาน วันหนึ่งก็นึกสนุกขึ้น
มาว่า เขาตั้งชื่องานอย่างไรกันบ้าง พบว่าคล้าย ๆ กัน เลยหยิบมานำเสนอไว้ เพียงบางส่วน ดังนี้
@ อำลายังอาลัย จากใจถึงใจ @ ท้อก่อนเป็นถ่าน ผ่านได้ถึงเป็นเพชร
@ ร้อยใจด้วยรัก ถักทอด้วยผูกพัน @ วรวันที่อำลา เมื่อถึงคราท่านห่างไกล 
@ วันวานยังร่วมฝัน วันหน้าผูกไมตรี @ ห่วงหาด้วยอาลัย.....ด้วยน้ำใจชาว......
@ ท่านจากเราอาลัย......อุ่นไมตรีที่ผูกพัน @ วันวานยังตรึงจิต....มั่นในมิตรนิรันดร
@ ยามอยู่อุ่นน้ำใจ.....ยามห่างไกลอุ่นสัมพันธ์ @ อำลาด้วยใยรัก......ขอถักทอมิตรไมตรี
@ จากใจถึงดวงใจ.....มั่นสายใยที่ผูกพัน@ ร้อยดวงใจเป็นหนึ่งเดียว ยึดเหนี่ยวสายสัมพันธ์
@ ผ่านไปวันเวลาและราตรี คุณความดียังตราตรึง@ ร้อยรักถักสัมพันธ์....ยังยึดมั่นมากไมตรี
@ ร้อยรักรวมร้อยใจ......ยังยิ่งใหญ่สายสัมพันธ์ @ วันวานร่วมฟันฝ่า วันข้าหน้ามั่นไมตรี
@ ถึงท่านจะห่างไกล....แต่น้ำใจสนิทนาน @ ถึงท่านจะจากไป แต่สายใยยังผูกพัน
@ นานวันที่พากเพียร วันเกษียณน่าภูมิใจ @ ร้อยรักถักทอใจ เป็นสายใยผูกสัมพันธ์
@ คุรุกษิณาลัย   @ กษิณาลัย
………..สังเกตชื่องานส่วนมากจะเน้นการบอกความพึงพอใจในช่วงเวลาที่ทำงานด้วยกัน แสดงถึง

ความชื่นชม การผ่านวันเวลาอันยากลำบากมาด้วยดี บอกความรู้สึกอาลัยที่ถึงวาระต้องห่างไกลกัน แสดงความชื่นชม ยินดีที่ท่านจากไปอย่างผู้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี บอกถึงความคาดหวังอยากให้สาย
สัมพันธ์ไมตรีที่ดีงามคง อยู่ตลอดไป คงมีความหมายที่สรุปได้ประมาณนี้ มีเพียง 2 หัวข้อที่สรุปยาก 
คือ คุรุกษิณาลัย กับ กษิณาลัย คุรุ =หนัก หมายถึงครู กษิณ = หาคำแปลอยู่ไม่เจอ อาลัย ห่วง คิดถึง เสียดาย ห้วงที่อยู่ แหล่ง ที่อาศัย  พูดตรง ๆคือคนใช้คงเห็นว่าเพราะดีเลยเลือกมาใช้ หรือไม่คงเคย
เห็นป้ายของทางนครสวรรค์ หรือป้ายทางปักไต้ ผมเคยเข้าไปทักว่าใช้คำแปลก ๆ ไม่นึกว่าจะโผล่
แถวบ้านตัวเอง
.........รูปแบบงานเกษียณ ที่นิยมกันคือ แสดงให้เห็นว่าผู้เกษียณเป็นใคร มีผลงานที่ผ่านมาอย่างไร

บ้าง ที่ทำให้เพื่อนร่วมงาน ประทับใจ ภูมิใจ จนพากันจัดงานเลี้ยงส่งให้ ส่วนนี้มีหลายคนที่ไม่ปรากฏ
ผลงาน เด่นชัด การจัดนิทรรศการเฉพาะบุคคล การทำเอกสารแนะนำ การทำวีดีทัศน์ น่าจะช่วยได้ 
ถ้าจำนวนน้อย 2-3 คน มีสัมภาษณ์บนเวทีด้วยก็น่าจะดี
.........การแสดงความชื่นชมยินดี ที่พบมากคือการมอบดอกไม้ ของขวัญ ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก การกล่าวแสดงความรู้สึกบนเวที กิจกรรมการแสดง ร้องเพลง ทุกงานจัดกันได้ดี ขอฝากเรื่องการบันทึก ภาพ
ต่าง ควรจัดภาพหรือคลิหที่จะมอบให้ผู้เกษียณ ส่งให้เก็บไว้เป็นที่ระลึกด้วยจะดีมาก เพราะผู้เกษียณ
คงมีมีเวลาไปตามเก็บภาพต่าง ๆ ได้ครบถ้วน
.........การกล่าวแสดงความรู้สึก หลายงานนิยมเชิญผู้หลักผู้ใหญ่ จนเป็นประเพณี ผู้เกษียณอยากฟัง
ความรู้สึกของใครบ้าง ผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน นักเรียน ลูกจ้างประจำ ถ้าจัดให้ได้คงจะดีมาก ๆ
เพราะอยู่ด้วยกันมานาน บางทีก็ไม่เคยรู้เลยว่าเพื่อนร่วมงานคิดเกี่ยวกับตนเองอย่างไร
………การแสดงออกถึงการให้ขวัญและกำลังใจ สายอีสานเรามีพิธีบายศรีสู่ขวัญ เป็นกิจกรรมให้

ขวัญกำลังใจ แก่ผู้เกษียณ เห็นหลายงานจัดไว้เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของงาน ก็ดีนะเพราะชื่อก็บอก
อยู่แล้วว่าสู่คือมาสู่ ขวัญก็คือกำลังใจ
.......การเลี้ยงอาหาร เห็นมีทุกงาน จัดพองามไม่ต้องมากมาย เพราะส่วนมากอยากดูกิจกรรมที่จัดให้
คนเกษียณ อาหารเป็นส่วนประกอบที่ต้องมี เพราะช่วงเวลาที่จัดกิจกรรมแต่ห้าโมงเย็นไปจนถึงสามสี่

ทุ่ม เวลารับประทานอาหารอยู่ช่วงเวลานี้
......การแสดงบนเวที ได้แก่ ดนตรี เพลง การแสดง  การให้ทำกิจกรรมต่าง ๆ  ส่วนมากก็จัดพอดีพองามไม่มีอะไรน่าวิตกกังวล
.......ภาพรวมของงานเกษียนอายุราชการ ของครูอาจารย์ก็ประมาณนี้ สมชื่อครูอาจารย์ จัดได้ดี ส่วน
งานราชการอื่น ๆ ก็เคยไปร่วมบ้าง แต่ไม่ค่อยประทับใจเหมือนงานของครูอาจารย์ คงเพราะเราเคย
เป็นครู เลยมีอคติในใจนั่นแหละ 

วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2559

การนับอายุเกษียณ


การนับอายุเกษียณ 

-----------
............กระผมเขียนถึงผู้เกษียณอายุราชการไปว่า คนเกิด 1 ตุลาคม ไม่ได้เกษียณ 30 กันยายน แต่
จะอยู่รับราชการได้อีก 1 รอบปี ไปเกษียณ 3 กันยายน ปีถัดไป มีคนทักว่าไม่ใช่ มีการแก้ไขแล้ว ให้
เกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน ปีนั้นเลย ส่วนคนเกิดวันที่ 2 ตุลาคม ถึจะได้อยู่ทำราชการ
ต่อไปอีก 1 รอบปี
..........ก่อนนั้นเราถือว่า 30 กันยายน คือสิ้นปีงบประมาณ คนเกษียณ ก็คงเป็นไปตามขอบเขตเวลา
ของปีงบประมาณ เมื่อมีคนทักก็เลยต้องตรวจสอบ และพบว่ามีการแก้ไขโดยมติ ครม. สาระสำคัญ ดังนี้ 

วิธีการนับอายุบุคคลในปัจจุบัน 

1. ได้มีมติคณะรัฐมนตรี ตามหนังสือสำ นักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0205/ ว 42 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2538 มีมติให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2509 เรื่องการนับ เวลาราชการของผู้ที่จะมีอายุครบ 60 ปี และหลักเกณฑ์การคำ นวณเกษียณอายุราชการตามนัยหนังสือ สำ นักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ สร 0403/ว 83 ลงวันที่ 14 กันยายน 2509 และให้ถือปฏิบัติการ นับอายุบุคคลและการพ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำ เหน็จบำ นาญข้าราชการตามนัยหนังสือ กระทรวงการคลัง ที่ กค 0513/ว 58 ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2537 เรื่องการนับอายุบุคคล
2. หนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค 0513/ว 58 ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2537 เรื่องการ นับอายุบุคคล ให้ถือปฏิบัติในการนับอายุบุคคลตามนัยตามมาตรา 16 แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ (ที่แก้ไขใม่และใช้บังคับในปัจจุบัน) ซึ่งบัญญัติว่า “การนับอายุบุคคลให้เริ่มนับตั้งแต่ วันเกิด... ฯลฯ” โดยให้เริ่มนับสำ หรับบุคคลที่เกิดในวันที่ 1 ตุลาคม 2477 จะมีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ในวันที่ 30 กันยายน 2537 และต้องพ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำ เหน็จบำ นาญใน วันที่ 1 ตุลาคม 2537 ส่วนผู้ที่เกิดวันที่ 1 ตุลาคม 2478 และวันที่ 1 ตุลาคม ของปี ต่อ ๆ ไป ก็ให้ ถือหลักการนับอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และพ้นจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยบำ เหน็จบำ นาญข้าราช การตามนัยดังกล่าวข้างต้น 

วิธีการนับอายุบุคคลในปัจจุบันแตกต่างจากการนับอายุบุคคลในอดีตอย่างไร 
--------------
............เดิมการนับอายุบุคคลถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2509 คือ มิให้นับวันเกิดเป็นวันแรกแห่งการคำ นวณอายุ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 158 แห่งประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ ซึ่งใชอ้ ยู่ในขณะนั้น ดังนั้น ผู้ที่เกิดในวันที่ 1 ตุลาคม 2449 จะต้องเริ่มนับอายุตั้งแต่วัน ที่ 2 ตุลาคม 2449 และจะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2509 จึงทำ ให้สามารถ รับ ราชการต่อไปได้อีก 1 ปี จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2510 และพ้นจากราชการเพราะเกษียณอายุ ในวันที่ 1 ตุลาคม 2510 เพราะมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติบำ เหน็จบำ นาญ พ.ศ.2494 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติมบัญญัติว่า “ข้าราชการซึ่งมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์แล้ว เป็นอันพ้นจากราชการ เมื่อ สิ้นปีงบประมาณที่อายุ 60 ปีบริบูรณ์...”
..........แต่สำหรับการนับอายุบุคคลในปัจจุบันตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2538 ให้นับตามมาตรา 16 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งตรวจชำ ระใหม่และใช้บังคับอยู่ใน ปัจจุบัน ซึ่งกำ หนดว่า การนับอายุของบุคคลให้เริ่มนับแต่วันเกิด... จึงเป็นการนับเร็วขึ้นกว่าเดิม 1 วัน ดังนั้น ผูที้่เกิดในวันที่ 1 ตุลาคม จะมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 30 กันยายน และต้องพ้นจาก ราชการเพราะครบเกษียณอายุในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 1 ตุลาคม ไม่มีโอกาสได้รับราชการต่อไปอีก 1 ปี เหมือนหลักเกณฑ์เดิมอีกต่อไป
.........ก็ถูกต้องตามที่มีคนทักท้วงครับ เลยขออนุญาตเขียนถึงการนับอายุเพื่อเกษียณ อีกครั้ง ผมเอง
สงสัยวาทำไม เกิด 1 ตุลาคม เกษียณ ปีนี้ ส่วนเกิด 2 ตุลาคม เกษียณ ปีถัดไป เลยตามหาข้อมูล และทบทวนการนับเวลา หลักการนับคือ เกิดเมื่อไรก็นับอายุทันที เกิด 1 ตุลาคม อายุเต็มเดือนเมื่อ 31 ตุลาคม อายุครบ ปีบริบูรณ์เมื่อถึง 30 กันยายน ปีถัดไป แต่คนเกิด 2 ตุลา จะครบปีบริบูรณ์เมื่อถึง
1 ตุลาคมปีถัดไป นั่นคือ คนเกิด 1 ตุลาคม อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เมื่อ 30 กันยายน นั่นเอง มิน่าถึง
มีการแก้ไข ขออภัยที่ได้โพสไปว่า 1 ตุลาคม จะอยู่ได้อีก 1 รอบ ต้อง 2 ตุลาคมครับถึงจะได้

วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2559

สัมผัสในกลอนแปด



รักจะเล่นแต่งกลอนแบบมีสัมผัสใน


...............ได้อ่านบทกลอนที่นักกลอนรุ่นใหม่เขียน เก่งครับเขียนได้ดีทีเดียว น่าอ่าน สำนวนหวือหวาดี
สัมผัสในแพรวพราว เคยทักท้วงว่ามันมากไป อาจผิดแผนผังบังคับได้นะ ก็โดนค้านว่าไม่ผิดหรอก เอา
อย่างมาจากกลอนกวีโบราณ ก็เลยอยากนำบทกลอนสุนทรภู่มาแฉให้ดู ว่ากวีโบราณ ที่เล่นสัมผัสใน
เก่ง ๆคือกวีท่านนี้ ท่านเล่นแบบมีหลักมีเกณฑ์ ไม่ผิดแบบแผนหรอก มาดูกันครับ จะหยิบกลอนนิราศ
ภูเขาทอง มาเป็นตัวอย่างแล้วกัน
..........ถึงหน้าวังดังหนึ่งใจจะขาด             คิดถึงบาทบพิตรอดิศร
โอ้ผ่านเกล้าเจ้าประคุณของสุนทร            แต่ปางก่อนเคยเฝ้าทุกเช้าเย็น
พระนิพพานปานประหนึ่งศีรษะขาด          ด้วยไร้ญาติยากแค้นถึงแสนเข็ญ
ทั้งโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น                      ไม่เล็งเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา
จึงสร้างพรตอตส่าห์ส่งส่วนบุญถวาย        ประพฤติฝ่ายสมถะทั้งวสา
เป็นสิ่งของฉลองคุณมุลิกา                       ขอเป็นข้าเคียงบาททุกชาติไป ฯ

..............บทกลอนจากนิราศภูเขาทอง กระผมชอบมาก ขนาดเอามาใช้ทำสื่อการสอนตอนทำวิทยานิพนธ์ เลยต้องอ่านหลาย ๆ รอบ สุนทรภู่ท่านแต่งได้ยอดเยี่ยมจริง ๆ อ่านเล่นก็เพราะ อ่าน
ทำนองเสนาะก็รื่นไหลไม่ติดขัด ถ่ายทอดอารมณ์กวีได้ดีมาก ๆ

.......1. เสียงเสนาะทุกวรรคตอน ที่นักกลอนรุ่นหลัง ๆ พูดถึงคำลงท้ายวรรคกลอน กลอนท่านสุนทรภู่
นี่เองที่พอจะยกมาเป็นตัวอย่างการเลือกใช้คำลงท้ายวรรคได้เป็นอย่างดี

สังเกตดู

บทที่ 1 ลงท้าย 4 วรรคด้วยเสียงอะไรบ้าง เอก........จัตวา สามัญ......สามัญ
บทที่ 2 ลงท้าย 4 วรรคด้วยเสียงอะไรบ้าง เอก..... . จัตวา สามัญ......สามัญ
บทที่ 3 ลงท้าย 4 วรรคด้วยเสียงอะไรบ้าง จัตวา... ..จัตวา สามัญ......สามัญ
.............แค่ 3 บทที่ยกมา เห็นได้ชัดว่า วรรคแรก ชอบใช้เสียงสูงกว่าสามัญ ใช้เสียง เอก กับจัตวา
อ่าน รื่น ๆ ดี คำท้ายวรรค 2 ชอบ เสียงจัตวา มากกว่าเสียงอื่น วรรคที่ 3 และ 4 ชอบ เสียงสามัญ

.......2...การใช้สัมผัสในไม่มีผิดฉันทลักษณ์ พยายามจะใส่สัมผัสในวรรคละ 2 แห่ง มาดูกัน

บทที่ 1

1.1 วรรคสดับ   วัง...ดัง   ใจ....จะ  (สัมผัสพยัญชนะ)   มีสัมผัสในครบ 2 คู่
1.2 วรรครับ      บาท...บพิตร (สัมผัสพยัญชนะ)  บพิตร..อดิศร มีสัมผัสในครบ 2 คู่
1.3 วรรครอง  เกล้า...เจ้า  คุณ......สุนทร มีสัมผัสในครบ 2 คู่
1.4 วรรคส่ง    ก่อน......ไม่มี    เฝ้า.....เช้า มีสัมผัสใน 1 คู่

บทที่ 2

2.1 วรรคสดับ  พาน......ปาน .....ช่วงหลังไม่มีสัมผัสใน วรรคนี้มีสัมผัสใน 1 คู่
2.2 วรรครับ     ญาติ....ยาก (สัมผัสพยัญชนะ) แค้น....แสน วรรคนี้มีสัมผัสใน 2 คู่
2.3 วรรครอง   ซ้ำ......กรรม  ซัด.....วิบัติ วรรคนี้มีสัมผัสใน 2 คู่
2.4 วรรคส่ง     เห็น.....ไม่มี ซึ่ง......พึ่ง วรรคนี้มีสัมผัสใน 1 คู่

บทที่ 3

3.1 วรรคสดับ พรต.......อต  ส่ง...ส่วน (สัมผัสพยัญชนะ) วรรคนี้มีสัมผัสใน 2 คู่
3.2 วรรครับ    ฝ่าย.......ไม่มี สมถะ.....วสา วรรคนี้มีสัมผัสใน 1 คู่
3.3 วรรครอง  ของ.......ฉลอง คุณ...มุลลิกา วรรคนี้มีสัมผัสใน 2 คู่
3.4 วรรคส่ง   ข้า... .....เคียง (สัมผัสพยัญชนะ) บาท.....ชาติ วรรคนี้มีสัมผัสใน 2 คู่

...........บทกลอนที่มหากวีสุนทรภู่ท่านแต่ง แม้ท่านจะชอบแต่งสัมผัสใน แต่ก็ไม่จำเป็นต้องมี วรรค
ละ 2 แห่งเสมอไป เพราะกลอนต้องมีเนื้อหาที่กวีต้องการสื่อ สัมผัสในอาจตกหล่นไปบ้างก็ไม่เป็นไร
เพราะสัมผัสในมิใช่สัมผัสบังคับ มีข้อควรสังเกตคือ วรรครับ และวรรคส่ง ถ้าจะใส่สัมผัสใน 2 คู่ คู่แรก
คือคำที่ 3 และคำที่ 4 เป็นสัมผัสพยัญชะเท่านั้น เล่นสัมผัสสระไม่ได้ เพราะคำที่ 3 เป็นสัมผัสบังคับ มี
แนวทางแก้ไข ถ้าจะเล่นสัมผัสสระ คำที่ 3...4ต้องย้ายสัมผัสบังคับเป็นคำที่ 1 หรือ 2 แทน ปล่อยคำที่
3 ไว้เล่นสัมผัสใน ตัวอย่าง

                  อันความรักปักอกเหมือนตกเหว...............ซ้ำถูกเปลวปานไฟลามไหม้สุม
                     รัก...ปัก   อก....ตก                                    เปลว...ปาน ไฟ...ไหม้ (วรรคละสองคู่)

.............วรรคที่สอง เปลวกับปาน เป็นสัมผัสพยัญชนะ อยากเล่นสัมผัสสระ ต้องใช้คำที่ 1 หรือคำที่ 2
รับสัมผัสบังคับ เพื่อ  ให้คำที่ 3 ว่าง จะได้ใช้เล่นสัมผัสใน เช่น

                    อันความรักปักอกเหมือนตกเหว...............ปานเปลวไฟไหม้สุมร้อนรุ่มเหลือ
                               รัก...ปัก อก....ตก ย้    ายคำรับสัมผัส คือคำ เปลว มาอยู่ตำแหน่งคำที่ 2 คำที่ 3
คือ ไฟ เลยว่าง เล่นสัมผัสสระได้คือคำที่ 3...4 เป็น ไฟ...ไหม้ ร้อน...รุ่ม (สัมผัสพยัญชนะ)
รุ่ม....สุม ได้สัมผัสใน 3 คู่

................ถ้ารักชอบสัมผัสในก็อย่าให้ผิดฉันทลักษณ์ ถ้าปล่อยคำที่ 3 ที่เป็นสัมผัสบังคับตามแผนผัง แล้ว ยังสัมผัสสระกับคำ ที่ 4 อีก ก็จะมีคำรับสัมผัสบังคับ 2 คำ ก็คือผิดฉันทลักษณ์นั่นเอง

                           อันความรักปักอกเหมือนตกเหว..............ซ้ำถูกเปลวเลวนรกไฟตกสุม
                                                                                            ดูคำ เปลว...เลว นรก...ตก
สัมผัสใน 2 คู่ จริงแต่เป็นการแต่งผิดฉันทลักษณ์

.................จะคัดกลอนบทต่อ ๆไปให้อ่านดู เพื่อจะได้สังเกตว่า มหากวีสุนทรภู่ ท่านเล่นสัมผัสใน
วรรครับ และวรรคส่ง อย่างไร ไม่มีผิดฉันทลักษณ์หรอก สังเกตคำรับสัมผัสบังคับ ใช้คำที่ 3 ตามปกติ
ดูว่าสัมผัสในตรงนี้ ถ้าเล่น เล่นอย่างไร

O..ถึงหน้าแพแลเห็นเรือที่นั่ง.............คิดถึงครั้งก่อนมาน้ำตาไหล ครั้ง.........ไม่เล่น
เคยหมอบรับกับพระจมื่นไวย...............แล้วลงในเรือที่นั่งบัลลังก์ทอง ใน......ไม่เล่น
เคยทรงแต่งแปลงบทพจนารถ.............เคยรับราชโองการอ่านฉลอง ราช......ไม่เล่น
จนกฐินสิ้นแม่น้ำแลลำคลอง................มิได้ข้องเคืองขัดหัทยา ข้อง......เคือง (สัมผัสพยัญชนะ)
เคยหมอบใกล้ได้กลิ่นสุคนธ์ตลบ..........ละอองอบรสรื่นชื่นนาสา อบ.........ไม่เล่น
สิ้นแผ่นดินสิ้นรสสุคนธา.....................วาสนาเราก็สิ้นเหมือนกลิ่นสุคนธ์ฯ วาสนา......ไม่เล่น

O..ดูในวังยังเห็นหอพระอัฐิ....................ตั้งสติเติมถวายฝ่ายกุศล สติ......เติม (สัมผัสพยัญชนะ)
ทั้งปิ่นเกล้าเจ้าพิภพจบสกล...............ไม่เห็นหลักลือเล่าว่าเสาหิน หลัก... ลือ....เล่า(สัมผัสพยัญชนะ)
เป็นสำคัญปันแดนในแผ่นดิน...............มิรู้สิ้นสุดชื่อที่ลือชา สิ้น.....สุด (สัมผัสพยัญชนะ)
ขอเดชะพระพุทธคุณช่วย..................แม้นมอดม้วยกลับชาติวาสนา ม้วย....ไม่เล่น
อายุยืนหมื่นเท่าเสาศิลา....................อยู่คู่ฟ้าดินได้ดังใจปอง ฟ้า.......ไม่เล่น
ไปพ้นวัดทัศนาริมท่าน้ำ....................แพประจำจอดรายเขาขายของ จำ........จอด (สัมผัสพยัญชนะ)
มีแพรผ้าสารพัดสีม่วงตอง..................ทั้งสิ่งของขาวเหลืองเครื่องสำเภาฯ ของ...ขาว(สัมผัสพยัญชนะ)

O..ถึงโรงเหล้าเตากลั่นควันโขมง......มีคันโพงผูกสายไว้ปลายเสา โพง....ผูก (สัมผัสพยัญชนะ)
โอ้บาปกรรมน้ำนรกเจียวอกเรา..........ให้มัวเมาเหมือนหนึ่งบ้าเป็นน่าอาย เมา...เหมือน (สัมผัสยัญชนะ)
ทำบุญบวชกรวดน้ำขอสำเร็จ.............สรรเพชญโพธิญาณประมาณหมาย เพชญ..โพธิ (สัมผัส พยัญชนะ)
ถึงสุราพารอดไม่วอดวาย...................ไม่ใกล้กรายแกล้งเมินก็เกินไป กราย..แกล้ง (สัมผัส พยัญชนะ)

ไม่เมาเหล้าแล้วแต่เรายังเมารัก..........สุดจะหักห้ามจิตคิดไฉน หัก.....ห้าม (สัมผัสพยัญชนะ)
ถึงเมาเหล้าเช้าสายก็หายไป...............แต่เมาใจนี้ประจำทุกค่ำคืนฯ ใจ.....ประจำ (สัมผัสพยัญชนะ)
..............
O..ถึงบางจากจากวัดพลัดพี่น้อง.........มามัวหมองม้วนหน้าไม่ฝ่าฝืน หมอง...ม้วน (สัมผัสพยัญชนะ)
เพราะรักใคร่ใจจืดไม่ยืดยืน...............จึงต้องขืนในพรากมาจากเมือง ขืน.............ไม่เล่น
ถึงบางพลูคิดถึงคู่เมื่ออยู่ครอง.............เคยใส่ซองส่งให้ล้วนใบเหลือง ซอง.........ส่ง (สัมผัสพยัญชนะ)
ถึงบางพลัดเหมือนพี่พลัดมาขัดเคือง....ทั้งพลัดเมืองพลัดสมรมาร้อนรน เมือง......สมร (สัมผัสพยัญชนะ)
ถึงบางโพธิ์โอ้พระศรีมหาโพธิ์.............ร่มริโรธรุกขมูลให้พูนผล นิโรธ....รุกข (สัมผัสพยัญชนะ)
ขอเดชะอานุภาพพระทศพล...............ให้ผ่องพ้นภัยพาลสำราญกายฯ พ้น...ภัยพาล (สัมผัสพยัญชนะ)

..............สังเกตดู วรรครอง และวรรค ส่ง ท่านแต่งด้วยความระมัดระวัง มิให้มีคำรับสัมผัสเกินมา ด้วย
ไม่เล่นสัมผัสสระ ถ้าจะแต่งให้มีสัมผัสใน ก็เลี่ยงไปเล่นสัมผัสพยัญชนะแทน หวังว่าท่านที่ได้อ่าน
ข้อความที่นำเสนอนี้ จะเข้าใจลีลากลอนที่ไพเราะแบบของสุนทรภู่ ได้ดีขึ้น ถึงท่านจะชอบเล่นสัมผัส
ใน ท่านก็เล่นไม่ผิดฉันทลักษณ์ นะครับ

วันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2559

Item Bank


Item Bank 

ขุนทอง ศรีประจง

คลังข้อสอบ เป็นหลักการที่ดี น่าจะนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน ผมเคยมีความคิดอยากจะทำ ด้วยการหยิบข้อสอบ ที่ครูใช้สอบกลางภาค ปลายภาค นำมาวิเคราะห์หาค่า p ค่า r แล้วจะเก็บเข้า Bank พอดีเจอข้อสอบบางข้อมา จากแบบฝึกที่สำนักพิมพ์เขาทำจำหน่าย เลยหมดแรง พอดีได้ออกไปทำงานที่จังหวัด ไม่มีคนช่วยสานต่อเลยปิดโครงการ ไป เสียดายเหมือนกัน วันนี้ได้เขียนถึงการวิเคราะห์ข้อสอบไปแล้ว ก็อยากเลยไปถึงคลังข้อสอบ บ้าง
..........คลังข้อสอบที่ผมอยากได้คือที่เก็บรวบรวมข้อสอบแบบเลือกตอบ 4 - 5 ตัวเลือก โดยเก็บเป็นรายข้อ รายวิชา แยกเป็นรายจุดประสงค์การเรียน เมื่อก่อนต้องใช้วิธีพิมพ์บัตร กระดาษแข็ง ขนาด กระดาษ A 4 ตัด 4 ส่วน ใช้เป็นบัตร เก็บข้อสอบ 4 ข้อ พร้อมรายละเอียด แต่เดี๋ยวนี้ โปรแกรมเอกเซล สามารถนำมาประยุกต์ใช้แทนบัตรเก็บข้อสอบได้



ตัวอย่างคลังข้อสอบที่ใช้ตารางเอกเซล ข้อละ 5 บรรทัด ตารางหนึ่งยาว 1,048,576 บรรทัด เก็บได้ 2 แสน ข้อ เหลือเฟือ เวลาต้องการ ก็ใช้ความสามารถโปรแกรม ค้นหาเฉพาะรายวิชา เฉพาะระดับชั้น ได้ จึงคิดว่าน่าจะสะดวกสำหรับครูที่คิดอยากทำ

..........วิธีดำเนินการ เพียงแค่ครูพิถีพิถันการออกข้อสอบ เก็บข้อมูลอย่างมีหลักการ มีตารางวิเคราะห์จุดประสงค์การเรียนรู้ สรุปผลได้ชัดเจนว่าจุดประสงค์ขอไหน ออกข้อสอบวัด กี่ข้อ สร้างข้อสอบ 4-5 ตัวเลือก แล้วนำไปใช้ทดสอบกับนักเรียนตามปกติ ทดสอบเสร็จ ก็จัดเก็บข้อมูลการทดสอบมาวิเคราะห์หาความยากง่าย เพื่อบันทึกลงคลังข้อสอบ ถ้านักเรียนที่สอบ ไม่เกิน 100 คน ควรใช้ทั้งหมด นำคะแนนมาเรียงอันดับ แบ่งครึ่งเป็นกลุ่มสูง กลุ่มต่ำ นำไปกรอบตารางวิเคราะห์หาค่า p ค่า r ได้ ถ้านักเรียนเกิน 100 คน 10-20 อาจตัดใจเอามาวิเคราะห์หมดก็ได้ หรือจะใช้วิธีสุ่ม เช่น นักเรียน 300 ทำสลาก 1 2 3 สุ่มจับ 1 ใบ จับได้เลข 3 เลือกคนที่อยู่ลำดับที่ 3 จับใหม่ ได้หมายเลข 1 คือคนที่ได้ลำดับที่ 4 ต่อไปสลากของหมายเลข 7 8 9 คือจับทีละ 3 ฉบับ เลือก เอา 1 จนได้ครบ 100 ฉบับ เป้นตัวแทนของ 300 ฉบับ นำไปใช้กับตารางวิเคราะห์

..........ตารางวิเคราะห์ แนะนำให้ใช้ตารางเอกเซล เริ่มแต่คีย์ข้อมูลกระดาษคำตอบนักเรียนทีละฉบับ ซึ่งยากพอสมควร แต่ก็คุ้ม เพราะพอบันทึกเสร็จ ผล คะแนนที่ได้ ค่า pและค่า r ก็ปรากฏให้เห็นทันที ไม่ต้องใช้เครื่องคิดเลข แถมแม่นยำด้วย



        ตารางวิเคราะห์ข้อสอบกลุ่มสูงกลุ่มตำ ออกแบบเหมือนกัน ใช้ร่วมกันได้ ข้อสำคัญ การใส่สูตรคำนวณ และการคัดลอก สูตร ตรวจสอบให้ดีว่าสูตรถูกต้องและคัดลอกไปแล้วก็ถูกต้อง ผลวิเคราะห์จะได้ไม่ผิดพลาด สะดวกจริง ๆครับ หลังการวิเคราะห์ข้อสอบ ทำให้เราได้ทราบว่า ข้อสอบที่เราเขียนกับมือ เป็นข้อสอบที่ ยาก ง่าย แค่ไหน ดูค่า p r มี ความสามารถจำแนกเด็กเก่งไม่เก่งได้ดีหรือไม่ ดูค่า r แล้วบันทึกผลการใช้ลงในแบบเก็บข้อสอบในคลัง ข้อสอบบางข้อ สถิติดี ก็เก็บไว้ใช้ได้เลย ส่วนข้อที่บกพร่องก็ปรับปรุงแก้ไข นาน ๆเข้าครูก็จะมีข้อสอบวัดจุดประสงค์การเรียนรู้ข้อเดียว มีหลายคำถาม
หลายตัวเลือก แต่ละข้อมีประวัติการนำไปใช้ และประวัติค่าสถิติจากการวิเคราะห์ จนพบว่าข้อสอบจำนวนหลายร้อยข้อเป็นข้อสอบ ที่มีคุณภาพดี แวลาเลือกมาทำแบบทดสอบ ครูก็นำตารางวิเคราห์จุดประสงค์ไปเลือกเอาข้อสอบจากคลังได้เลย กำหนดได้ด้วย ว่าจะเอาข้อสอบแบบยาก ปานกลาง หรือง่าย หน่อย อยากทำแบบทดสอบคู่ขนาน ก็ทำได้ วัดจุดประสงค์การเรียนข้อเดียวกัน ค่า p r ใกล้เคียงกัน เพราะมีให้เลือกหลายข้อ คลังข้อสอบช่วยได้ครับ
        ปล การอ้างอิงเซลในตารางเอกเซล เป็นการกำหนดให้เซลที่เราต้องการ แสดงผลเหมือนเซลที่เราอ้างอิง เช่น ผมพิมพ์ชื่อ ผมไว้ที่ เซล B100 ผมอยากให้ชื่อปรากฏที่เซล B200 ด้วยวิธีอ้างอิงเซล ผมเอาเมาส์คลิกเซล B200 ตามด้วยแตะแป้นเครื่อง หมายบวก แล้วเมาส์เลื่vนไปเซล B100 พบชื่อพอดี เมาส์คลิก B100 เคาะแป้น Enter จบ ชื่อโผล่เซล B200 ได้เลย เรียกว่าอ้าง อิงเซล เราใช้วิธีเดียวกันนี้ อ้างอิงเซลที่มีสูตร ฟังชั่น ต่าง ๆ ได้ครับ
       การคัดลอก ปกติเราจะเลือกเซลต้นฉบับแล้วใช้คำสั่งคัดลอกก่อ จากนั้นไปเลือกที่จะวาง ค่อยใช้คำสั่งวาง สิ่งที่คัดลอกไว้ จะปรากฏให้เห็น ลองเลือกที่วางมากกว่า 1 เซลดูว่าผลจะเป็นอย่างไร วิธีนี้แหละครับเราใช้คัดลอกสูตร ฟังชั่น ที่ใช้แบบเดียวกัน เช่นจะรวมคะแนนนักเรียน 120 คน เราใช้ฟังชั่นเฉเพราะเลขที่ 1 จากนั้นคัดลอกสูตรไปใช้กับคนอื่น ๆ มันง่ายใช่ไหม ลองดูสิ

วันอังคารที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2559

รบกับหอบหืด

......................ยาพื้นบ้านแก้หอบหืด.............
-------------
.............แม่บ้านผมเป็นหอบหืดตั้งแต่ปี 2520 ได้ช่วยดูแลรักษาตามสภาพ พาไปหาหมอ หายาพื้นบ้านมาให้ ดีขึ้นเป็นพัก ๆ แล้วก็เป็นอีก ก็อยากนำประสบการณ์มาเล่าให้ฟัง แยกเป็น 2 ตอนแล้ว กัน ตอนแรกพูดถึงการแพทย์สมัยใหม่ ว่าเคยไปรับรักษาอย่างไร บ้าง ช่วงหลังพูดถึงการใช้วิธีรักษาแบบพื้นบ้าน 
..........บ้านเราอยู่ในเขตเทศบาล เจ็บป่วยก็ไปหาหมอ เล็ก ๆ น้อย ไปคลินิค จนหมอจำหน้าได้ถ้าอาการหนักก็โรงพยาบาล ห่างแค่กิโลเมตรเดียว เริ่มแรกเธอไอติดต่อกันเป็นสัปดาห์ ไม่แรงแต่ไม่หาย ก็ไปคลินิค หมอบอกสงสัยจะเป็นภูมิแพ้ ถามหาญาติพี่น้องมีใครเป็นบ้าง อ้อคุณยายเป็นแบบคันตามตัว พี่ชายหอบหืดอย่างแรงพี่สาวแพ้รถยนต์ แปลกกว่าเพื่อน คือแกนั่งรถไม่ได้เลยเพียงบอกจะได้นั่งรถโดยสารเท่านั้นแหละอาเจียนก่อน คราวหนึ่งผมพาแม่บ้านมารับปริญญาลูกจบปริญญาตรี ม.เกษตร ป้าพี่สาวแกขอมาด้วยจะไปอยู่กับลูกชายที่ทำงานอยู่แถวบางนา เราเช่ารถตู้เขามา จะออกรถตอน สามทุ่ม ถึงรุงเทพ ฯ คงเช้า พี่แกเริ่มอาเจียนตอนหกโมงเย็นไม่รู้เพราะอะไร ถามไปถามมาเมารถ ยังไม่ได้ขึ้นนั่งรถซะ
หน่อย เป็นเอามาก พาไปคลินิคหมเขาให้ยานอนหลับมากิน เดินทางจากเลยเข้ากรุงเทพ ฯ แกมาตื่นแถวโรงเรียนนายร้อยนครนายกจอดพักทานข้าวต้มกัน เพราะจวนสว่างแล้ว ป้าตื่นมาอ้วกจนจะเป็น
ลม เลยพาไปโรงพยาบาล หมอให้ยาอาการดีขึ้น ก็เดินทางต่อ เข้าที่พัก โทรเรียกลูกชายมารับที่ ม.เกษตร เราก็ไปร่วมกิจกรรมงานพระราชทานปริญญา
........โดยสายเลือดแม่บ้านมีภูมิแพ้อยู่แต่ยังไม่แสดงอาการ พอโดนกระตุ้นด้วยกลิ่นบุหรี่ เราเองน่ะแหละสูบบุหรี่ก็เลยแสดงอาการ ทำให้ต้องเลิกบุหรี่ แต่หอบหืดไม่หยุด มันเดินหน้าไปเรื่อยหมอขา ประจำแนะให้ไปตวจที่โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า เขากำลังวิจัยโรคภูมิแพ้ โดยการทดสอบว่าแพ้อะไร แล้วให้ยากระตุ้นความต้าน ทานสารที่แพ้นั้น เห็นว่าน่าจะตรงกับอาการที่เราเป็น ก็พากันมาขอรับการรักษา ฟังหมออธิบายทราบและเข้าใจว่า ยังไม่จบงานวิจัย ยังรับรองผลเต็มร้อยไม่ได้ มาพบหมอทุก 3 เดือน ก็มาติดต่อกัน 3 ปี ก็เลิก เพราะสรุปอาการคนของเราไม่ดีขึ้น อาการหอบหืดชักรุนแรงขึ้น เป็นทีก็ต้องเรียกหาออกซิเจน เลยปรึกษาหมอ หมอสั่งอุปกรณ์ควบคุมการปล่อยออกซิเจน หลอดกรองอากาศ หน้ากาก
ครอบจมูก ก็ช่วยได้เยอะ เพราะบางทีไปโรงพยาบาล ดมออกซิเจน พักหนึ่ง หมอให้กลับบ้านได้ ยังกะไม่เคยหอบ พอมีถังไว้ที่ห้องนอนมีอาการก็เปิดให้ ครู่เดียวก็ได้หลับ ยาที่หมอให้ก็พวกยาแก้แพ้เม็ด
สีเหลือง ๆ กินแล้วง่วงมาก แล้วก็พวกยาอันตรายแบบเม็ดสีขาว ๆหมอบอกเป็นพวกสเตียรอยด์ อันตรายใช้ตามหมอสั่ง อย่าซื้อ มากินเอง เคยไปซื้อยาลูกกลอนที่ชาวบ้านเขาบอกแก้หอบหืดดีมาก ถุงละ 150 บาท เอาไปให้หมอดู แกหัวเราะ บอกวาผมทำให้ก็ได้ ที่กิน 3 เม็ดมันหยุดหอบหืด เพราะเขาแอบเอายาสเตียรอยด์ปนไว้ กินแล้วปวดแข้งขาก็หาย หอบหืดก็หาย แต่ชั่วคราวนะ ผลข้างเคียงคือกินอร่อย กินจุ อ้วนเอา ๆ
........มีข่าวหน้าหนังสือพิมพ์เรื่องการผ่าตัดต่อมหืดที่โรงพยาบาลโคกเคียน นราธิวาสน์ เลยพยายามสืบหาข้อมูล ทราบว่ามีอยู่จริง ค่าใช้จ่ายไม่แพง ตอนนั้นซื้อรถปิคอัพใหม่ ๆ ไม่ถึงปี เลยกล้าจะลองไปดู ระยะทางขนาดนี้ สองวันน่าจะถึง ชวนพี่ชายซึ่งแกก็เป็นหอบหืดเพราะสูบบุหรี่มากไปด้วย มีคนป่วยหอบหืดสองคน ติดถังออกซิเจนใหญ่ 1 ถัง ลูกสามคนไปด้วย ปัญหาคือยังไม่กล้าขับรถ เข้ากรุงเทพ มาถึงอยุธยาก็แวบออกสุพรรณบุรี ทะลุนครปฐม ไปราชบุรี เพชรบุรี คืนแรกนอนหัวหิน เขากำลังขยายถนนเป็นสี่เลน มีการก่อสร้างเป็นระยะ ๆ ขับรถยากเหมือนกัน แต่ดีตรงที่ไม่มีรถวิ่ง เร็ว หวาดเสียว มีแต่รถค่อย ๆคลานไปคืนที่สองนอนที่ ปัตตานี วันรุ่งขึ้นไปถึงโรงพยาบาลโคกเคียน ราวสองโมงเช้า ไปพบหมอ เขารีบจัดคิวให้ เพราะคิวยาวมาก เป็นพวกต่างประเทศจากจีน สิงคโปร์ มาเลย์ คนไทยไม่มาก นอนที่นราธิวาส 1 คืน หมอให้กลับได้ เป็น การผ่าตัดเล็กที่ตรงต้นคอ เอาต่อมเล็ก ๆ เท่าสิวหัวช้างออก เอามา
ให้เราดูเลยดองใส่ขวดเล็ก ๆให้คนละขวดของใครของมัน วันต่อมาหมอให้กลับได้ ขากลับอาการดูจะเบาบางลง เลยแวะเที่ยวชมบ้านเมืองบ้างเช่นไปดูด่านเบตง ดูหาดทราย ตามรายทาง สองคืนเช่นเคย ผลพี่ชายหายขาด แต่แม่บ้านยังหอบอยู่
........เคยใช้ยาพื้นบ้านอะไรบ้างไหม อันนี้เยอะมาก ใครว่าอะไรดีก็หามาลอง จะลองรวบรวมดูว่ามีขนานใดบ้าง อย่างแรก ผมบนหัวคนนี่แหละ ล้างสะอาด เอามาคั่วให้ไหม้เอาไปผสมน้ำแล้วกรองให้ สะอาด ใส่แก้วดื่มเช้าเย็นเจ็ดวันหาย ดื่มแล้วอาเจียนได้อาเจียนดี จนต้องหยุด เหนื่อยมาก.......ต้นใต้ใบทั้งห้าส่วน ราก ต้น ใบ ดอก ผล ล้างสะอาดตำให้ละเอียด ผสมน้ำ กรองเอาถ้วยชาหนึ่ง ดื่มเช้าเย็น ติดต่อกัน 3 วัน
ตำราบอก หาย แต่หอบหืดแม่บ้านยังอยู่
.......ผัดเผ็ดเนื้อจระเข้ ผสมสุรา น่าอร่อย เสียดายจับจระเข้ไม่ได้ 
สั่งพวกไปทำงานใกล้ฟาร์ม มันหามาให้เป็นกระดูก เอามาขัดเอาฝุ่นกระดูกผสมน้ำดื่มทีละแก้วเช้าเย็น เห็นคุยว่าเจ็ดวันหายขัดซะจน กระดูกเหี้ยน หืดก็ยังสบายอยู่
.......เม็ดบวบขม แกะเอาแต่เนื้อใน ซัก 10 เม็ด บดผสมเหล้า 1 ก้ง กินให้หมดกรึบเดียว ชอบมาก เว้นอีกวัน กรึบที่ 2 เพิ่มบวบเป็น 20 เม็ด เว้นวันหนึ่งค่อยกรึบที่ 3 ใช้บวบ 30 เม็ด ยาขนานนี้คนไข้ชอบ ขอเปลี่ยนเป็นเหล้าแดง เหล้าขาวแรงไป กินแล้วอาเจียนจนแทบสลบ ตำราบอกอาเจียนมากดี รังขี้หืดจะได้ออกหมด หายแล กินจนเข็ดขยาด หืดยังไม่หายขาดหรอก ผ่านไปซัก 2 สัปดาห์มันมาอีก
.......พ่อตาเปิดตำราสุมนไพรพบว่าไข่ไก่ที่มีเชื้อผมสมน้ำส้มสายชูดื่มสด ๆ ก่อนอาหารเช้าเย็น 15 วันอาหารหอบหืดจะทุเลา กินติด ต่อไปอีก 3 เดือนหายขาด น้ำส้มสายชูพอหาซื้อได้ แต่ไข่แบบมีเชื้อ นี่ต้องไปหาซื้อพวกเลี้ยงไก่พื้นบ้าน เขาไม่ยอมขายหรอก ต้องไปโรงฟักไข่ นี่ก็ไม่อยากขาย ต้องไปนั่งอธิบายยืดยาว ขอซื้อแค่ 2 ถาด เลือกให้หน่อย คิดราคาสองเท่าก็ยอม ได้ไข่มาทดลองให้รับประทาน วันละ สองฟองเช้าเย็น แรก ๆ ก็ทานยาก หลายวันเข้าทำกินเอง เห็นบอกมันอร่อยดี แต่หอบหืดยังเฉย ๆ
......กระเทียมโทน พริกไทย หัวแห้วหมู อย่างละเท่า ๆ กัน ตำให้แหลก ตากแห้ง บดเป็นผงผสมน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอนขนาเท่านิ้วก้อย ทานครั้งละ 3 ก้อน เช้าเย็น แก้หอบหืดดีนักแล ตำราว่าอย่างนั้น ทานอยู่กึ่งเดือนก็เลิก เพราะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
......รากต้นดอกปีปหรือกันของหรือกาสลองนั่นแหละ ขุดเอามามัดหนึ่งต้มเอาน้ำมาดื่มเช้าเย็นครั้งละถ้วย อาการไอจะเบาบางลง อันนี้ไม่บอกหอบหืดจะหาย ที่บรรเทาลงคงไม่น่าสงสัย เพราะไอ หอบหิดนี่ถ้าเจอของร้อน ๆ อาการไอจะผ่อนคลายลงได้เสมอ
.......หนุมานผสานกาย สังกรณี ปลูกข้างบ้านงอกงามดี ใบดก เพิ่งรู้เป็นยาหอบหืด เด็กมาสองใบล้างดีแล้วเคี้ยวดูดกินน้ำจนจืดค่อยคายทิ้ง ทำวันละสองครั้ง เช้า เย็น หอบหืดจะเบาบางลงจะใช้ใบแห้ง2-3 ใบ ชงดื่มเหมือนชงชาก็ได้ผลเช่นกัน อาจต้มใบสดเอาน้ำใส่กระติกน้ำชาดืมตลอดวันก็ยิ่งดี ก็เหมือนเดิมครับ จนต้นมันซีดจะตายต้องหยุดให้มันงอกใบก่อน
.......มะนาวหั่นชิ้นเล็ก ๆ มะแว้งเด็ดเป็นลูก ๆ วางใส่จาน พร้อมถ้วยเกลือ ให้ทานเล่นแก้ไอ ตอนแรกก็ว่าขม ทานทานมา ให้กินลูกเดียว เล่นทีละพวง บอกกำลังหิว ก็ไอห่าง ๆนะ คงเพราะกำลังกินเลยลืมไอ
.......ใบลำโพงหั่นฝอยตากแห้งเหมือนยาสูบ เอามามวนด้วยใบตองกลายเป็นบุหรี่ใบลำโพงจุดสูบเวลามันจะหอบหืด ช่วยบรรเทาหอบหืดดีนัก ใช่ดีเพราะมันมัวแต่อาเจียนน้ำหูน้ำตาไหล ลืมหอบหืดไปเลย หายอาเจียนแล้วหอบหืดก็กลับมาอีก
........ยาประเภทเผาเอาขี้ถ้ามาละลายน้ำ กรองด้วยผ้าขาวสะอาดใส่แก้วให้ดื่มเช้าเย็นมี หลายขนาน แต่ละขนานก็ว่าเด็ด ๆ ทั้งนี้ ได้หามาลองดู มีอะไรบ้าง......
.......ขี้ไก่โป่ ภาษาอีสานครับ ขี้ไก่ก้อนใหญ่ ๆ เอาแค่ 3 ก้อนนะ มาตากแห้งเป็นขี้ไก่หลายแดดหน่อย แล้วเอามาเผาไฟ นำขี้เถ้าเย็นแล้วไปห่อด้วยผ้าขาวสะอาด นำไปแช่น้ำในแก้ว บีบหน่อยฝุ่นยา
จะได้ไหลออกมา ให้ดื่มไปเห็นเฉย ๆ นะ คนไข้ถามว่าอะไรรส มันแปลก ๆ พอบอกขี้ไก่เท่านั้นแหละอาเจียนออกมายังกะเมารถสิบล้อเชียว หืดหลบไปหลายวัน
........น้ำแช่เจ้าโลกขนาดยักษ์ ตัดเอาไปตากแดดให้แห้ง เวลาจะใช้เอามาถู ๆ กับหิน เอาผงไปละลายน้ำให้ดื่ม ก็เหมือนเดิมครับ ดื่มได้ แต่พอรู้ว่าน้ำจ้าวโลกช้างตากแห้งเท่านั้นแหละ อ้วกเป็นชั่วโมงเลย หอบหืดหลบไปนาน แล้วก็กลับมาอีก
........น้ำขี้สีก อันนี้ไม่ต้องมีส่วนผสมอะไร แค่ไปขุดบ่อน้ำเล็ก ๆ ลึกแค่คืบ ในบริเวณน้ำขี้สีกไหลผ่านมาใกล้ ๆ ดักเอาน้ำให้มันซึมผ่านดินกรองให้หน่อย ได้น้ำที่ใสสะอาด ดื่มทีละแก้ว เช้าเย็น วันแรกไม่มีปัญหา วันที่สองมีคนบอกน้ำขี้สีกเท่านั้นแหละ วันที่ 3 ไม่ยอมดื่ม แล้วหืดก็ไม่หาย อ้อน้ำขี้สีกมันคือน้ำอะไร บ้านที่เขามีชาน มีตุ่มน้ำดื่มน้ำใช้อยู่ที่ชาน ใช้น้ำแล้วน้ำบางส่วนจะไหลลงพื้นดิน ดินอิ่มน้ำก็ไหลลงไปทางระบายน้ำ อันนี้เขาเรียกน้ำขี้สีก การขุดบ่อดักเอาน้ำ เพื่อให้ดินกรองน้ำให้ไม่น่าเกลียดเท่านั้นเอง
........พกแมว เวลาแมวมันคลอด จะมีรกพันลูกมันออกมา ปกติมันเลียกินหมด มีบางคนรู้ว่ามันเป็นยาหอบหืด คอยแย่งเอามาตากให้แห้งเก็บไว้ทำยา บ้านนาหนองใกล้ ๆ กันมีป้าคนหนึ่งแกมีพกแมวตากแห้ง ไปขอแกทำยาหอบหืด ค่าครูแกยี่สิบบาท ได้ยา 1 ขวด เอามาให้ดื่มทีละแก้วขวดเดียวหายแกบอก หายจริง ๆ คือหายไปเลยไม่กลับไปหาแม่หมออีก
........กระดูกอูฐ....แม่บ้านได้มา ผู้ปกครองนักเรียนไปทำงานซาอุ เอามาฝาก เพราะรู้เป็นยาหอบหืด เขาขายคนอื่นแต่ครูไม่ขายให้ อ้าวแล้วทำไงล่ะ อ๋อเขาให้ฟรีฝากลูกสาวมาให้ คุยใหญ่ ก็วิธีเดิม เอาไปขัดถูกกับหินเอาผงละลายน้ำให้ดื่ม ก็จนกระดูกมันหมดแหละ หืดยังสบายดี
........เอ็นจระเข้....แม่บ้านได้จากผู้ปกครองนักเรียนที่ไปทำงานอยู่ที่ฟาร์มจรเข้ สมุทรปราการ เนื้อแดดเดียวก็ได้ แต่เนื้อสด ๆ ไม่มี ขอบคุณผู้ปกครองนะที่มีน้ำใจ เขาสอนเด็กประถม ป. 1 ยังกะเลี้ยงลูก เด็กรักมาก ผู้ปกครองรู้กิติศัพท์ พลอยรักและนับถือครูด้วย ก็ลองดู เนื้อแดดเดียวไม่ยากทอดไส่จานหนึ่ง เห็นแบ่งกินสองวันก็หมด ไม่มีผลอะไร มีอย่างเดียวคืออร่อย กินคนเดียว คนอื่นอย่ายุ่ง มันเป็นยา แกบอกอย่างนั้น วันหลังค่อยได้ทำ เอ็นถูกับหินเอาผงละลายให้กินทีละแก้วก็กินง่าย จนหมดแท่งเอ็นตากแห้งนั่นแหละหอบหืดยังเป็นปกติ เป็นมากก็ไปคลินิคตามเดิม
.......พี่สาวจากกำแพงเพชรแวะมาเยี่ยมที่บ้านเล่าให้ฟังว่า หลามผากต้นลุมพุกซิ เด็ดมากแก้หืดชะงัดนัก ตำรายาแม้วเชียวนะ ของหายาก ต้นลุมพุกน่ะรู้ เพราะโตมาที่บ้านหนองลุมพุก ผากหรือกาฝากมันซิหายาก เจอหลายต้นแล้วแต่ไม่มีกาฝาก เลยบ่นให้เพื่อนครูฟัง วันหนึ่งเขาก็เอามาฝาก ขอบคุณมาก ๆเลย หาแทบตาย เขาบอกที่ไร่เขามีต้นหนึ่งกาฝากมันเยอะ ถ้าไม่พอจะพาไปเอาเลยบอกรอก่อน เพราะคาดเดาได้อยู่ว่าผลจะเป็นแบบไหน ล้างดีแล้วก็สับแหลก ยัดใส่กระบอกไม้ไผ่ เอาไปเผาแบบหลามปลา
ไหล นานเหมือนกัน เทเอาน้ำสีเหลืองกลิ่นหอมน่ากิน ปล่อยให้เย็นลงก็ยกไปให้ หลามให้กินอยู่สัปดาห์หนึ่ง หอบหืดหลบไป จนนึกดีใจว่าเข้าท่า แต่ก็หนีความจริงไม่พ้น ไม่นานก็กลับมาอีก
.......พ่อตามาจากสวนบอกว่าเมียทิดก่อนบ้านนาซำแซงเป็นหอบหืด หาย ไปถามเขาดูซิมันมียาดีอะไร ก็นั่งมอเตอร์ไซด์ไปนะ ห่างกันแค่สามกิโลเมตรเอง เป็นพวกทำไร่ใกล้ ๆ สวนพ่อตาเมียเขาเป็นมาสองปีแล้ว อ้อหอบหืดรุ่นน้องแม่บ้านเรา ถามกันถึงการดูรักษา ก็ไม่ต่างกัน เราซะอีกที่เคยใช้ยามากมายหลายขนาน จนทิดก้อนต้องไปเอาสมุดมาจดยาที่แกยังไม่ได้ใช้ ไปๆ มาๆ ใครขอยาใครก็ไม่รู้ เอาเป็นว่าแลกเปลี่ยนกัน ยาแปลกที่เราไม่เคยใช้จากทิดก้อนคือน้ำมะพร้าวอ่อนผสมสารส้มลูกละช้อน แล้วเทใส่แก้ว
ให้ดื่มเช้าเย็น เนื้อไม่ต้องเอาแต่น้ำ ยาขนานนี้ดีตรงนี้แหละ เนื้อมะพร้าวอ่อนที่เหลือนี่ไง ครับผลก็ยังไม่มีอะไรแตกต่างจากขนานก่อน ๆ
.......ลูกยอแก่ครึ่งกิโลผสมพริกไทยดำ 1 ขีด ตำละเอียดหมักใส่ขวดโหลใส่ตู้เย็น ตักกินก่อนนอนวันละช้อน สามวันเจ็ดวันจะเป็นความเปลี่ยนแปลง ดีขึ้น กินต่อไปในที่สุดจะหาย เสียดายเลิกกิน ก่อนเพราะรอไม่ไหว
.......รบกับหอบหืดมายี่สิบสองปีครับ ที่สุดผมก็แพ้มัน มันเอาแม่บ้านผมไปจนป่านนี้ยังไม่ได้ข่าวคราวเลยว่าไปอยู่ไหน เจอหน้าหมอพยาบาลที่เคยรักษา บางคนไม่รู้ก็ถามหาว่าเป็นไง หายดีรึยังก็ต้องกัดฟันตอบว่า ดีแล้วครับไม่ต้องใช้ยาอะไร พยาบาลที่รู้ก็หัวเราะขำ ๆ ก็คนมันตายแล้วนี่เธอ จะต้องไปพึ่งยาอะไร ใช่แล้วครับนั่นแหละยาที่หอบหืดกลัวมีขนานเดียว