วันอังคารที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ออกพรรษาจุดโคมไฟไต้ประทีป




                                                                                                  ขุนทอง ศรีประจง


..........ออกพรรษา หน้าทอดกฐิน ได้เขียนถึงไปแล้ว ยังมีกิจกรรมสำคัญอีก 3 อย่างที่นิยมทำกัน
ในช่วงนี้ ได้แก่ การตักบาตรเทโว การจุดประทีปโคมไฟ และการลอยกระทง ลูกหลานคนอีสานรุ่น
ใหม่ยุคไฮเทค บางคนก็ไม่รู้จัก ทำไมต้องตักบาตรเทโว บาตรเทวดาใบใหญ่กว่าบาตรธรรมดา ๆรึ   เปล่าทำไมตักบาตรปีละหนเอง จุดประทีปโคมไฟอาการหนักกว่า เพราะคำถามที่ว่า ก็จุดกันทุกวัน  เวลาทำวัตรสวดมนต์ แล้วจุดวันออกพรรษาแปลกตรงไหน แล้วโคมไฟมีจุดด้วยเหรอวันออกพรรษา ส่วนกิจกรรมลอยกระทง ดูเหมือนจะรู้จักกันดีกว่า เพราะมีเพลงวันลอยกระทงให้ฟัง แถมรำวงสนุกด้วย
วันหนึ่งก็ได้คิดว่า ต่อไปภายหน้า ประเพณีจุดประทีปโคมไฟ อาจหายไปได้ จริง ๆ ก็เลยอยากเล่า
ถึงกิจกรรมทั้ง 3 อย่าง ที่ยกมาเปิดฉาก"ออกพรรษาจุดโคมไฟไต้ประทีป" ดังต่อไปนี้
..........ตักบาตรเทโว คำเต็มคือ "เทโวโรหณะ" คือคำ เทว + โอโรหณะ  เทว  หมายถึงเทวโลก
สถานที่พระพุทธเจ้าจำพรรษาที่ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และได้เทศน์โปรดพระมารดาจนเมื่อวันแรม

1 ค่ำออกพรรษา ได้เสด็จ โอโรหณะ คือ เสด็จลง มายังมนุสสโลกที่เมืองสังกัสสนคร มีผู้คนไป
รอรับเสด็จเป็นอันมาก คนสมัยปัจจุบันเห็นว่าเป็นกิจกรรมครั้งสำคัญ น่าจดจำ จึงจัดงานระลึกถึง
วันที่เสด็จลงมาจากเทวโลก ด้วยการทำบุญตักบาตรและต่อมาเรียกชื่อว่า ตักบาตรเทโว นั่นเอง
เมืองสังกัสสะ เป็นเมืองสำคัญของอาณาจักร กัมพิลละหรือกันยาคุพย์ ในสมัยพุทธกาล ปัจจุบัน
อ้างอิงว่าเหลือเพียงร่องรอยว่าเคยเป็นเมืองเก่า อยู่บริเวณหมู่บ้านสังกิสสะ บะสันตะปุระ จังหวัด
ฟารุกาหบาท รัฐอุตตรประเทศ ในประเทศอินเดีย ตำนานพระถังซำจั๋งไปชมพูทวีป ก็มีพูดถึงเมือง
สังกัสสะนครไว้ด้วยว่ามีวัดวาอารามปรากฏอยู่เป็นอันมาก แสดงว่าในอดีตกาลเมืองนี้มีอยู่จริง
.........การตักบาตรเทโว เหมือนตักบาตรธรรมดาทั่วไป เน้นการถวายข้าวปลาอาหารเป็นสำคัญ
ที่เห็นแปลกคงมีเฉพาะข้าวต้มโยน ข้าวต้มมัดธรรมดานี่แหละ ฉีกใบมะพร้าวมัดติดเป็นหางยาว
เอาไว้จับโยนใส่บาตร เห็นเล่าว่าคนแย่งกันใส่บาตร พวกอยู่หลังจำเป็นต้องโยน แต่ไม่แน่ใจว่าจะ
โยนแม่นขนาดไหน พระยิ่งโกนหัวผมไม่มีโดนเข้าไปคงเละน่าดู กิจกรรมนี้จัดกันตอนเช้ามืด ช่วงที่
พระออกบิณฑบาต เสร็จแล้วก็แยกย้ายกันกลับ มักจะจัดร่วมงานฉลองออกพรรษา หรืองานรื่นเริง
อื่น ๆ
.........งานจุดประทีปโคมไฟ กำลังจะเลือนหายไปจากวัดทางอีสาน เว้นแต่วัดแถบแม่น้ำโขง
ที่พัฒนาจนกลายเป็นประเพณีไหลเรือไฟ แถมมีพญานาคมาร่วมจุดบั้งไฟพญานาค เลยโด่งดังกัน
ไปทั่ว กลบประเพณีจุดประทีปโคมไฟกันไปเลย สมัยกระผมเป็นเด็ก 2494-2498 ใกล้ออกพรรษา
ตั้งตารองานจุดประทีปโคมไฟ ทราบว่าทุกหมู่บ้านมีเช่นกัน เพราะฟังจากพี่ชายเขาชวนกันไปเที่ยว
งานหมู่บ้านใกล้เคียง มารู้ทีหลังว่าเพราะไปติดสาวบ้านอื่นนั่นเอง พี่สาวกระผมก็มีหนุ่มบ้านโปโล
มาร่วมจุดเทียนหลายปีจนกลายมาเป็นพี่เขยคนโตในเวลาต่อมา งานจุดประทีปโคมไฟออกพรรษา
จึงเชื่อได้แหละว่าสำคัญต่อหนุ่มสาวไม่น้อย ส่วนเด็ก ๆ ไม่ค่อยมีผลมากนัก นอกจากมีขนมหวาน
ได้วิ่งเล่น ได้จุดธูปเทียนบูชา 

.........หลังวันทำบุญข้าวสาก(เพ็ญเดือนสิบ) ทางวัดจะเตรียมทำประทีป ตัดไม้ไผ่มาเหลาทำก้าน
ประทีป เข้าไปป่าหายางบง เก็บใบอ้ม ใบเนียม เอามาตากแห้ง บดละเอียดไว้ทำประทีป ไม้ไผ่ที่

นำมาเหลาทำก้านประทีป ตากให้แห้ง ก่อนออกพรรษาสัก 15 วัน เริ่มทำประทีปทั้งพระและเณร
ช่วยกันทำไว้มาก  ๆเอาไว้แจกโยมทั้งหมู่บ้าน ไม่ต้องซื้อธูป เพราะยังไม่มีใครเอามาขาย ส่วนเทียน
หรือน้ำมันที่จะใช้จุด ชาวบ้านจะทำจาก ผึ้ง ที่ได้จากรังผึ้งนำมาเคี่ยวไฟ ขี้ผึ้งไหลออกจากรังผึ้งทิ้ง
ให้เย็นก็จะได้ผึ้งสีเหลือง บ้าง ขาวบ้าง เอามาทำเทียน ส่วนน้ำมันใช้น้ำมันมะพร้าว น้ำมันงา น้ำมัน
ถั่ว น้ำมันละหุ่ง น้ำมันสบู่ดำ น้ำมันหมากค้อ ฯลฯ ชาวบ้านรู้ดีว่าหมากอะไรมีน้ำมันมาก หามาแกะ
เอาแต่เนื้อตากให้แห้งแล้วนำไปบีบเอาน้ำมัน ได้ซักถ้วยตะไล ก็มากพอเอาไปจุดบูชา เวลาจุด
ใช้หมากตูมกา ควักใส้ในออก เจาะร้อยเชือกหิ้วได้ กระป๋องก็ใช้ได้ กระบอกไม้ไผ่เล็ก ๆ ก็ทำได้
เอาไว้ใส่น้ำมัน เหมือนเราทำตะเกียง เอาฝ้ายมาทำไส้หย่อนลงไปในน้ำมัน ที่จะจุดไฟ ทำหลอด
สังกะสีพันไว้ กันไฟไหม้ลงไปหาน้ำมัน ผ่าไม้คีบหลอดพาดปากกระบอกไว้ เวลาจุดไฟก็เหมือน
จุดตะเกียงน้ำมันนั่นเอง ไฟไหม้ใส้ส่วนปลาย ก็จะดูดน้ำมันซึมขึ้นมาจนกว่าน้ำมันจะหมด จุดแล้ว
นำไปแขวนที่ราวซุ้มจุดประทีปโคมไฟ หรือไปห้อยตามต้นไม้บริเวณวัด 

........ซุ้มจุดประทีปโคมไฟ หลวงพี่และพี่เณร เป็นผู้นำ ชาวบ้านหาต้นกล้วย ก้านและใบมะพร้าว
ดอกไม้ เอาออกไปวัดให้ท่านจัดซุ้ม คนไม่มากทำโรงเรือนขนาดห้องเดียว 2 x 2 เมตร สองสัก
เมตรครึ่ง เดินลอดไปมาสะดวก เสาใช้ต้นกล้วย ตัดใบออกเหลือไว้สัก 4 ก้าน ปัก สี่มุม แทรก
ด้านละต้นใช้ 8 ต้น พาดขื่อด้วยไม้ไผ่ ไว้ห้อยหม้อน้ำมัน สูงแค่สะเอวตัดต้นกล้วยต่อไว้เป็นที่ปัก
ธูปเทียน นอกนั้นก็ประดับประดาให้ดูสวยงามด้วย แถบกระดาษสีต่าง ๆ มีที่จัดให้วางดอกไม้
วันออกพรรษา ไปฟังพระเจริญพุทธมนต์เสร็จ ก็ลงมาจุดธูปเทียนกัน ซุ้มสว่างไสวด้วยเปลวเทียน
เปลวหม้อน้ำมัน และหอมกลิ่นธูป หนุ่มสาวก็ได้พบกัน สมัยก่อนจึงสำคัญมากสำหรับหนุ่มสาว
........โคมไฟมี 3 ชนิด โคมจุดไฟที่ใช้น้ำมัน ช่วงเรียนหนังสือที่ชัยภูมิเคยได้ยินเขาเรียกไต้ตูมกา
ไปดูเป็นหมากตูมกาควักใส้ในออก ร้อยเชือเป็นสาย มีใส้แบบตะเกียง แขวนไว้มีสีเหลือง กับสีของ
เปลวไฟ สวยดี ที่ใช้กระป๋องนม กระบอกไว้ไผ่ ก็จัดเป็นโคมไฟ   ส่วนโคมแบบที่สองเป็นโคม
ไฟจริง ๆ แบบที่ทางเหนือเขาปล่อยให้ลอยเต็มท้องฟ้านั่นแหละ แต่ของอีสานขอบทำโคมไฟ
ขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูยบ์กลาง 75-100 เซนติเมตร ยาวซัก 3-4 เมตร โครงใช้กระดาษว่าวเป็นหลัก
ก้นโคมถักเชือกแปดเส้นห้อยลงมามัดที่ปาก ช่วยพยุงเวลาโดนลมพัดแรง จะได้ไม่ฉีกขาดง่าย
ปากเป็นกรอบวงกลมแบบขอบกระด้งทำด้วยไม้ไผ่เหลาบาง ๆ มัดลวดดึงไปมา 8 เส้น ตรงกลาง
จะมัดใส้ที่ใช้จุดไฟ เดิมใช้เศษผ้าชุบน้ำมันยาง ตากให้แห้ง สามแดด คือแห้งแล้วนำไปชุบมาตาก
ใหม่ 3 ครั้ง มัดให้แน่น น้ำมันจะได้ไม่หมดง่าย หลักการของโคมไฟคือ ไฟจากไส้ที่จุดจะทำให้
อากาศในโคมร้อนและดันตัวโคมให้ลอยขึ้น ส่วนลมภายนอกคือตัวพัดพาโคมไป ใส้หมดน้ำมันโคม
ก็ตก
........ตอนเช้ามีการปล่อยโคมลม วิธีการทำเหมือนโคมไฟ แต่จะทำขนาดใหญ่กว่าซัก 2 เท่า
เช่น เส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5-2 เมตร สูง 4-5 เมตร ปากทำแคบ ขนาด 1/3-1/4 ของเส้นรอบวง
โคมแบบนี้ใช้วิธีอัดควันไฟให้เต็ม ความร้อนของควันจะทำให้โคมลอยขึ้นได้โดยไม่จ้องจุดไฟ
โคมชนิดนี้ไปได้ไกลหลายสิบกิโลเมตร กว่าจะตกผ่านไปสองสามวันเลยทีเดียว เคยทำปล่อยงาน
กิฬาสีที่จังหวัดเลย สามวันไปตกที่เพชรบูรณ์ เขาได้รับรางวัลผ้าเช็ดตัวอย่างดี 2 ผืน และแจ้งจด
หมายมาให้ทราบ แต่โคมวันออกพรรษาสมัยเด็ก ไม่รู้หรอกว่ามันไปไหนอย่างไร 

........ลอยกระทง กิจกรรมลอยกระทงทำกันหลังออกพรรษา 1 เดือน เป็นวันเพ็ญเดือนสิบสอง
ทราบว่าเดิมเป็นพิธีกรรมการบูชาเทพเจ้าของทางศาสนาพราหมณ์ การจุดไฟบูชาดั้งเดิมของอีสาน
มีมาแต่โบราณ จัดกันเดือนออกพรรษา เมื่อมีงานลอยกระทงเลยชอบใจสนุกกันใหญ่จนลืมการจุด
ประทีปโคมไฟดั้งเดิม รอแต่เมื่อไรจะมีงานลอยกระทงกัน ที่อ้างกันมากคือการลอยกระทงของ
ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ สมัยสุโขทัย ว่าเป็นที่มาของงานลอยกระทง แต่ดูวิธีบูชาไฟของไทยเหนือ
ไทยอีสาน ที่ทำกันมาก่อนจะมีกรุงสุโขทัย เป็นวิธีบูชาพระรัตนตรัยธรรมดา ๆ วันออกพรรษา
ในฮีตเดือนสิบเอ็ดของอีสานก็ชัดเจนมีการบูชาพระรัตนตรัยด้วยการจุดประทีปโคมไฟ ส่วนถิ่นที่
อยู่ริมน้ำโขงว่ากันชัด ๆเลยว่าไหลเรือไฟบูชาพระรัตนตรัย แถมจุดบั่งไฟพญานาคร่วมด้วย สนุก
กันใหญ่
..........เขียนถึงกิจกรรมเดือนออกพรรษา ว่าด้วยการบูชาประทีปโคมไฟที่ทำท่าจะหายไป และ
รุ่นใหม่เขาถามหาลอยกระทงแทน เสียดายนะถ้าเกิดเลือนหายไปจริง ๆ ก็เลยเขียนถึงเอาไว้ให้รู้
ไทยเรา สมัยก่อนเคยมีประเพณีทำนองนี้อยู่ แค่นี้เองแหละครับ อย่าเพิ่งเชื่อล่ะ ลองตรวจสอบ
ดูอึกทีก็ได้ ล้านนา ล้านช้าง เกิดก่อนเจียงใหม่ เจียงฮาย และสุโขทัย ฝากไว้ให้ศึกษาดูครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น