วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ออกพรรษาหน้ากฐิน



..........เล่ากันมาว่าสมัยพุทธกาลมีพระภิกษุชาวเมืองปาฐา 30 รูป ตั้งใจจะเดินทางไปเฝ้าพระพุทธ
เจ้าที่ประทับอยู่วัดพระเชตวัน ครั้นเดินทางถึงเมืองสาเกตุก็เป็นกำหนดวันเข้าพรรษาพอดี ทั้งที่ยัง
ระยะทางอีกประมาณ 6 โยชน์ (6 x 400 เส้น =2400 เส้น คูณด้วย 40 เมตร = 96000 เมตร
คือ 96 กิโลเมตร) ออกพรรษาเป็นเขตจีวรกาล แต่ภิกษุกลุ่มนี้รีบเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ช่วง
ปลายฤดูฝนลำบากพอสมควร เมื่อไปถึงวัดพระเชตวันจึงมีสภาพทุลักทุเล เมื่อพระพุทธเจ้าทักทาย
สุขทุกข์แล้ว เห็นความลำบากจึงมีทรงอนุญาตให้ช่วยกันตัดเย็บผ้าให้เสร็จ 1 ผืน ภายใน 1 วัน แล้ว
มอบให้พระรูปใดรูปหนึ่งนำไปผัดเปลี่ยน ถือว่าความสามัคคีช่วยกันทำควรได้รับรางวัล คืออานิสงส์
5 ประการได้แก่ ออกนอกวัดไม่บอกลาก็ได้(ปกติต้องอาบัติ) ถือครองผ้าไม่ครบไตร ไม่ต้องอาบัติ
เก็บผ้าอดิเรกได้ตามปรารถนาไม่อาบัติ ฉันคณะโชภนาได้ไม่อาบัติ ได้สิทธิ์ผ้าที่เกิดในอาวาสไม่
ต้องแบ่งพระแขกที่มาจากวัดอื่น นอกจากนี้ยังขยายเวลาจีวรกาลออกไปจนถึงกลางเดือนสี่ เพราะ
กฐิน มีประโยชน์แก่พระมากอย่างนี้เอง ชาวบ้านจึงนิยมทำบุญหาผ้าสนับสนุนให้พระทำกฐินเรียก
บุญกฐิน และนิยมทำบุญต่อ ๆกันมาจนปัจจุบัน สาระความรู้เรื่องกฐินที่ควรทราบ เช่น
............1. ผ้ากฐิน มีปริมาณมากพอที่จะตัดเย็บเป็นผ้าชนิดใดชนิดหนึ่งในจำนวน 3 ชนิดคือ สบง
จีวร หรือสังฆาฏิ ผ้าที่พระภิกษุในวัดต้องช่วยกันทำเพียง 1 ผืนเท่านั้น ผืนใดก็ได้
............2....พระภิกษุต้องจำพรรษาในอาวาสเดียวกันครบ 3 เดือน พรรษาไม่ขาด จำนวน 5 รูป
จึงจะอนุญาตให้ทำผ้ากฐินกันได้
............3. พระภิกษุช่วยกันแสวงหาผ้าบังสุกุล หรือรับผ้าที่มีผู้บริจาคก็ได้ เมื่อมีผ้าครบ ก็นัดวัน
ตัดเย็บ สมัยก่อนต้องพึ่งไม้แบบ(กฐิน) จนเรียกว่าการ กรานกฐิน คือทาบไม้แบบบนผ้าแล้วตัดตาม
แบบแล้วค่อยนำชิ้นผ้ามาเย็บเป็นผืนผ้า เสร็จแล้วนำไปย้อมสีให้เรียบร้อย ถวายพระที่สงฆ์เลือกไว้
นำไปผัดเปลี่ยน กระบวนการตัดเย็บจนเสร็จและนำไปผัดเปลี่ยนนี้เรียกว่า "กรานกฐิน"
...........4. พระภิกษุผู้กรานกฐินจะนุ่งห่มผ้าใหม่เข้าไปรายงานต่อที่ประชุมสงฆ์ แจ้งว่าตนเองได้
รับผ้ามาตัดเย็บเสร็จแล้วผัดเปลี่ยนเป็น การกรานกฐินเสร็จเรียบร้อยแล้ว คณะสงฆ์ก็จะแสดงความ
ยินดีอนุโมทนา ถือว่าทุกรูปได้กรานกฐินด้วย และได้รับอานิสงส์ 5 ข้อทุกรูป
..........5. พระภิกษุได้รับการขยายจีวรกาลออกไปถึงกลางเดือนสี่ ปกติวันเพ็ญเดือนสิบสอง หมด
เขตจีวรกาลแล้ว ต้องหาผ้ามาผัดเปลี่ยนในช่วงเวลานี้ แต่อานิสงส์กฐินได้ยืดจีวรกาลอีก 3 เดือน
เลยไม่ต้องรีบร้อน ค่อย ๆ หาไป ก็ทัน
..........6. ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า เป็นการถวายด้วยการทอดวางไว้ ไม่ยกถวายใส่มือ ด้วยเจตนา
จึงเป็นการถวายแก่สงฆ์ ผ้าป่ามีวิธีรับด้วยการชักบังสุกุล ส่วนกฐินสงฆ์จะรับโดยหมู่คณะประชุม
กันพิจารณาว่า มีผ้าเกิดขึ้นในวัด มีปริมาณพอ สำหรับทำไตรจีวรผืนใดผืนหนึ่งได้ คณะสงฆ์ขอ

หารือจะมอบผ้าให้แก่พระภิกษุรูปใด ไปดำเนินการ ให้เป็นไปตามระเบียบวิธีการกรานกฐิน
คณะสงฆ์ก็จะดำเนินการสองขั้นตอน คือ การประกาศ เลือกพระภิกษุผู้สมควรรับผ้ากฐิน  เรียก
การอุปโลกน์กฐิน หลังจากนั้นจึงจะประชุมสวดญัติทุติยกรรมวาจา อีกครั้ง เพื่อให้ถูกต้องตาม
หลักพระวินัยการรับกฐิน  จัดเป็น ญัติ
ทุติยกรรมวาจา โดยทั่วไปชาวบ้านนิยมนั่งดูพระท่านสวด 
และรอถวายบริวารกฐิน แล้วรับพร แต่พิธีการของพระยังไม่เสร็จ 
.........7. พระที่ได้รับมอบหมายจะไปดำเนินการ ซัก ตัดเย็บย้อมผ้า แล้วนำไปทำตามกรรมวิธีทาง
พระวินัยได้แก่ การพินทุ กัปปะ สละผ้าเก่า อธิษฐานใช้ผ้าผืนใหม่ แล้วกรานผ้ากฐิน รายงานต่อ
ที่ประชุมสงฆ์
.........ข้อสงสัยการทำบุญกฐิน ที่มักถามกันบ่อย ๆ
.........8. ใครมีหน้าที่หาผ้ากฐิน (พระภิกษุที่จำพรรษาครบ 3 เดือนในอาวาสเดียวกัน ช่วยกันหา
ส่วนชาวบ้านอยากช่วยพระ เลยพากันหาผ้าไปถวาย ไม่ใช่หน้าที่โดยตรง เลยหาไปเยอะมาก แบบ
ถวายองค์ละไตรยังได้เลย แต่ที่พระทำเป็นผ้ากฐิน มีเพียงผืนเดียว)
.........9. ทำบุญกฐินมีข้อจำกัดด้วยเวลา จำกัดด้วยจำนวนพระภิกษุที่จะรับ(พระภิกษุมีเวลาหาผ้า
มาตัดเย็บจีวร 1 เดือนนับแต่ออกพรรษา จะหาผ้าไปถวายช่วยพระก็ทำได้ในช่วงเวลา เดือนนี้เท่า
นั้น ที่เรียกกันว่า เขตกฐิน ส่วนจำกัดจำนวนพระ ต้อง 5 รูปถึงรับกฐินได้นั้น เป็นเรื่องของพระชาว
บ้าน ไม่เกี่ยว โยมเอาผ้าถวายให้แล้วก็จบ ส่วนพระจะทำให้เป็น ผ้ากฐินได้นั้น ต้องมีจำนวน 5 รูป
จำ พรรษาในอาวาสเดียวกัน พรรษาไม่ขาด ถึงจะประชุมกันเพื่อ กรานกฐิน ได้
........10..ชื่อบุญกฐินที่เรียก มีหลายคำเช่น กฐินต้น กฐินหลวง กฐินพระราชทาน จุลกฐิน โจรกฐิน
กฐินราษฎร์ มหากฐิน กฐินสามัคคี จุลกฐิน โจรกฐิน ต่างกันอย่างไร เยอะจริง ๆ จะพยายามรวบ

สั้น ๆ พอรู้ความ ดังนี้
.........กฐินต้น เป็นกฐินที่พระเจ้าแผ่นดินมีศรัทธา นำไปถวายวัดที่มีพระประสงค์ ทั้งที่มิใช่วัดพระ

อารามหลวง ส่วนมากเป็นวัดตามหัวเมืองที่มีพระราชศรัทธา 
.........กฐินหลวง เป็นกฐินที่พระเจ้าแผ่นดินจัดเพื่อทอดถวายวัดพระอารามหลวงต่าง ๆ โดยเสด็จ
ไป ด้วยพระองค์เองหรือมอบหมายให้ผู้แทนพระองค์ไปทอดถวายแทน
.........กฐินพระราชทาน เนื่องจากวัดหลวงปัจจุบันมีจำนวนมาก จึงอนุญาตให้ผู้มีศรัทธานำกฐิน

หลวง ไปทอดถวายแทน
.........กฐินราษฎร์ คือกฐินที่ราษฎรหรือชาวบ้านทั่วไปจัดการทอดกันเองที่วัดราษฎร์ เช่น วัดใน

หมู่บ้าน กฐินราษฎร์อาจมีเจ้าภาพครอบครัวเดียวจัดทำไปถวาย เรียกฐิน เฉย ๆ ก็ได้
.........กฐินสามัคคี ชาวบ้านร่วมมือกันเป็นคณะทำบุญกฐินทอดร่วมกันที่เรียกว่า กฐินสามัคคี ก็ได้ 

บางคราวจัดกันยิ่งใหญ่จะเรียกมหากฐินก็ได้
.........จุลกฐิน (อ่านว่า จุนละกะถิน) หมายถึง กฐินรีบด่วน กฐินที่ใช้เวลาเตรียมน้อย จุลกฐิน เป็นคำ
เรียกพิธีทอดกฐินที่ต้องเร่งรีบ ทำให้เสร็จภายในวันเดียว เริ่มตั้งแต่ปั่นฝ้าย ทอเป็นผืนผ้า เย็บ ย้อม
ตากแห้งแล้วนำไปทอดเป็นผ้ากฐิน พระสงฆ์รับแล้วก็รีบกรานกฐินในวันนั้นด้วย ทำดังนี้จึงเป็นจุล

กฐิน กว่าจะเป็นจุลกฐินได้จะต้องใช้ผู้คนมาก และมีความชำนาญเป็นพิเศษ กะเวลาได้ถูกจึงจะ
เสร็จทันเวลาและขณะทำจะดูชุลมุนกันไปหมด เพราะต้องเร่งรีบให้ทัน 
.........โจรกฐิน หมายถึงกฐินที่จัดทำไปถวายโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า ส่วนมากวัดในชนบทบาง
วัด ไม่มีเจ้าภาพจัดกฐินไปถวาย ชาวบ้านมีศรัทธาอยากให้พระได้อานิสงส์กฐิน จัดผ้าและไทย
ทานพอ ประมาณไปถวาย
.........11. ทำบุญกฐิน ได้บุญมากกว่าทำบุญอย่างอื่น ใช่หรือไม่ คงเป็นเพราะเห็นจัดกันยิ่งใหญ่
คนไปร่วมงานมากมาย มีการสมโภชใหญ่โต (ทำบุญทุกชนิด กิจกรรมที่จะทำให้เกิดบุญมี 3

ประการ คือ ทานมัย มีการให้ ก็เกิดบุญ สีลมัย มีการปฏิบัติศีล ก็เกิดบุญ ภาวนามัย มีการฝึกอบรม
ให้เกิดปัญญา ก็เกิดบุญ ถ้าทำบุญอะไรมีการทำทานมาก ก็ได้บุญมาก มีการรักษาศีลมาก ๆ ก็ได้
บุญมาก มีการอบรม สมาธิวิปัสสนามาก ๆ ก็ได้บุญมาก หลักทำบุญมีอย่างนี้เอง ไม่ได้วัดค่าใช้
จ่ายถูกหรือแพง)
...........เขียนถึงการทำบุญกฐิน เพราะช่วงนี้กำลังเห่อทำบุญกฐินกัน ก็อยากให้ความรู้เรื่องกฐิน

บ้าง จะได้ทำบุญอย่างคนรู้จักบุญกฐิน ทำแล้วได้บุญครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น