วันจันทร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2560

วิไลรัตน์ บุญปัน (ศิริหล้า) 










.......ผมรู้จักครูตั้งแต่ยังเป็น น.ส.วิไลรัตน์ ศิริหล้า ในสถานะบุตรสาวคนโต ของ คุณครูอารีย์ ศิริหล้า และคุณป้าเพชร ศิริหล้า ทั้งสองเป็น พี่ชายพี่สะใภ้ของ แม่บ้านผมเอง (ครูอู่แก้ว ศิริหล้า) ช่วงครูแก้วสอนอยู่บ้านไร่พวย ก็พักประจำ อยู่ที่บ้านพี่ชายพี่สะใภ้นั่นแหละ หลายปีจนแต่งงาน ค่อยมาอยู่ที่บ้านพ่อแม่ ในตัว เมืองเลย แล้วนั่งรถไปเช้าเย็นกลับ น.ส.วิไลรัตน์มาเรียน ม.ปลายที่โรงเรียน อาชีวะ และได้มาพักอยู่ที่บ้านคุณปู่คุณย่า นายคูณ สิริหล้า นางวันดี สิริหล้า อ้อคุณตาแกชอบใช้ ส เขียนนามสกุล คนอื่นเขียนด้วย ศ ความจริงก็ไม่แปลก ศ เขียนแบบ สันสกฤต ส เขียนแบบบาลี
......เมื่อครูอู่แก้วแต่งงาน ออกมาอยู่บ้านนา มีคุณปู่ คุณย่า ออกมาอยู่บ้านนาด้วย อากาศดี น.ส.วิไลรัตน์ ศิริหล้า ก็ออกมาอยู่บ้านนากับคุณปู่คุณย่า เลยได้รูจักแต่นั้นมา เขาเรียกผมว่า อา มหา ผมเรียกเขาด้วยชื่อเล่น ติ๋ว โดยลักษณะ นิสัย ติ๋ว เป็นเด็กที่ไม่ค่อยพูด ขยันช่วยงานบ้าน ขยันอ่านหนังสือ ไม่ชอบเที่ยว
เตร่เฮฮา ไม่เคยได้ยิน ปู่ย่าบ่น สรุปว่าเป็นเด็กดี ดังนั้นผลการเรียนก็ดีมาตลอด
.......จบการศึกษาระดับ ม.ปลาย ได้เรียนต่อ ปวส. หลังจากนั้นก็ห่างกันไป ได้ข่าวว่าเรียนครู และสุดท้ายก็มาบรรจุที่เมืองเลย ดีใจแทนป้าลุงมาก มีลูกสาว หล่นใต้ต้นเป็นครูเหมือนคุณพ่อ เป็นข้าราชการมีบุญมากนะ เพราะสวัสดิการคุ้มครองถึงพ่อแม่ด้วย ได้ตอบแทนท่านยามเจ็บป่วย ก็พลอยดีใจด้วยที่หลาน
สาวได้เป็นครู แสดงว่าคนดี มีทางเดินคือ สุคติ จริง ๆ อ้อ สุคติของผม หมายถึง คติ ที่แปลว่าเส้นทาง เดิน ทางดำเนิน (ของชีวิต) สุ แปลว่า ดี งาม เป็นครู นี่เดินทางยาวไกลไปจนเกษียณ และต่อเป็นครูบำนาญไปจนตลอดชีวิต มี สวัสดิการเลี้ยงครอบครัวได้ เจ็บป่วยก็มีค่ารักษาพยาบาล ชีวิตความเป็นอยู่ แบบนี้แหละเรียก สุคติแล้ว ครูติ๋ว เสวยสุคติตั้งแต่เป็นครูมาแล้ว ไม่ต้องรอ ชาติหน้า เพราะฉะนั้นที่บอกว่ายินดีด้วย เพราะเป็นคติ ที่น่ายินดี
........เป็นครูหลายปีก็ได้ข่าวแต่งงานกับครูสำนอง บุญปัน ซึ่งเป็นคนเข้ากับ ป้าและลุงได้ดี เดาได้ไม่ยาก ต้องเป็นคนขยันเอาการเอางาน ใจดีมีคุณธรรม มีความรับผิดชอบ ขอเป็นเขยป้ากับลุงก็เลยไม่ยุ่งยาก สรุปว่าครูติ๋ว เจอเนื้อคู่ ที่เป็นคนดีอย่างที่คาดเดาไว้ พอได้รู้จักก็ชื่นชมนะ มีคู่ขีวิตแบบนี้มีแต่ความสุข
ความเจริญมาสู่ครอบครัว ซึ่งก็เป็นเช่นนั้น ทั้งสองมีครอบครัวที่ร่มเย็นเป็นสุข มีงานราชการที่เป็นไปด้วยความราบรื่น ได้รับความเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ
........อานิสงส์การเป็นคนดี ได้พบแต่สิ่งดี ๆ ส่งผลไปถึงลูกหลานด้วย คือ มีลูกก็เป็นลูกที่ดีงาม คนหนึ่งเป็นครู อีกคนเป็นพยาบาล ยอดเยี่ยมแล้วครูติ๋ว เพราะเหตุที่เราเป็นคนดีของพ่อแม่ ส่งผลให้เราเติบโตเป็นคนดี มีหน้าที่การงานที่ดี มีครอบครัวที่ดี วันนี้ 26 กันยายน 2560 ครูติ๋วบอกว่าหนูจะเกษียณแล้วนะ
ตกใจเหมือนกัน ทำไมไวเหลือเกิน แต่ก็ไม่วิตกหรอก คนที่ทำดีมาตลอด เกษียณแล้วก็ยังเป็นคนดีตลอด ไป อาเชื่อมั่นอย่างนั้น สุดท้าย ขอคุณพระ คุณเจ้า ปกปักคุ้มครองให้ครูติ๋ว เกษียณไปพบแต่ความสุขความเจริญ ครอบครัว อยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป


....................O..สบ....ชัยสบโชคล้วน.........มงคล
....................สันต์...สงบวิมล.....................ดั่งแก้ว
....................วัน.....งามยิ่งเวียนวน............บรรจบ เกษียณ แฮ
....................เกษียณ..แต่งานใจแผ้ว........เพียบพร้อมพลังบุญ
...................O..วิไล..งามจิตพร้อม............ดูดี
...................รัตน์...หลากดวงมณี..............เพริศพริ้ง
...................บุญ....มากส่งเสริมศรี...........งามสงา
...................ปัน....แผ่เผื่อ บ ทิ้ง...............ทอดทิ้งไมตรี
..................O..อายุ...ยืนยิ่งด้วย................อสงขัย
..................วัณณะ.ผ่องสดใส..................สง่าล้ำ
...................สุขะ...ชื่นกายใจ...................เริงรื่น แลนา
...................พละ...เกริกเกินก้ำ................ยิ่งด้วยฉัททันต์


ขุนทอง ศรีประจง

26 กันยายน 2560

-----------------------------



ปู่ไปงานรับปริญญา อาแก้ว เอาลงให้ดูเล่น


บันทึกไปงานเกษียณ 


.........28 กันยายน 2560 ผมเดินทางไปงหวัดเลย เพื่อร่วมงานเกษียณ ครูอาจารย์หลายท่านที่คุ้นเคยกัน เพราะผมเคยเป็นครูอยู่ที่นั่น 15 ปี และถือโอกาสไปเยี่ยมญาติพี่น้องและลูกหลานด้วย เพื่อชดเชยการทักทาย ประจำวันที่ขาดหายไป ขอโพสบันทึกไปร่วมงานเกษียณ 2560 ชุดนี้แทน อ้อ ผมแกล้งเขียนเป็นคำฉันท์นะครับ อาจอ่านยากซักหน่อย ขุนทอง ศรีประจง

ประณามบท(วัสนตดิลก 14)
๏สรวมชีพพระคุณสุคตทรง..........อภิทรงติวิชชา
ปุพเพนิวาสสะอนุสา................จุติแลอุบัติญาณ
๏อีกอาสวักกขยะสิ้น...................พระมุนิทร์พิชัยมาร
ตรัสรู้พระโพธิ์อริยชาญ..............จตุสัจจะแจ่มใจ
๏แผ่คุณอดุลยพระศาสน์..............ธประกาศพิเศษใส
วางฐานพระรัตนและไตร............วรพุทธศาสน์ธรรม
๏ปาปัสส์ละห่างกุศลสม..............ก็นิยมชะจิตนำ
สามกิจพระศาสนก็จำ................ปฏิบัติและดำเนิน
๏ขอบุญและคุณสรณะน้อม............มนพร้อมก็สรรเสริญ
นับถือพระคุณอดุลยเจริญ............ชยสิทธิ์พิพิธเทอญ ฯ

ภุชงค์ประยาตฉันท์ 12
๏ลุสองแปดณกันยา....................จะพาเพลินณทางไกล
บุรีเลยสุราลัย...........................พิมานแมนพิพิธการ
๏เกษียณกิจสหายเก่า...................เพราะพวกเขาก็เคยสาน
สนองกิจกระทำงาน....................ประกอบคุณกรุณมา
๏จะไปมุทุเกื้อ............................หทัยเอื้อแสวงหา
กรุณอุ่นและเมตตา......................อำนวยพรพลังใจ
๏ธนัญธรจะตามติด........................ขนิษนวลก็แจ้งไข
ธิดาเธอจะตามไป.......................จะขับรถสะดวกดี
๏เพราะพร้อมสรรพ์จะเดินทาง............ก็วางกรงสุนัขขี
เพราะนามนะคุกกี้........................และทาโร่จะติดตาม
๏จะนับหมาก็มีสอง.......................แหละพวกพ้องก้มีสาม
ลุหกโมงก็ได้ยาม.......................จะเดินทางสบายใจ
๏และพร้อมสรรพคำนับน้อม..............พระภูมิพร้อมมิสงสัย
นมัตถุพระเทพไท........................จะไปเที่ยวสวัสดี
๏จะฝากบ้านกรุณณา.....................พิทักษ์พาโชคชัยมี
เคราะห์ภัยก็ห่างหนี.....................เพราะคุณเทพพระเมตตา

อินทรวิเชียรฉันท์ 11
๏รถเคลื่อนและเลื่อนลับ..................และก็ขับเลาะมรรคา
คุกกี้ก็โห่ฮา..............................และจะเห่าเพราะดีใจ
๏หนูพลอยจะจอดครู่......................ก็เพราะหนูจะแจ้งไข
กาแฟจ๊ะสั่งไว้............................ก็จะรับและเดินทาง
๏เรียบร้อยเลาะมรรคคา..................จรมาก็ยากสาง
มันมืดเพราะฝนคราง.....................ก็กระหึ่มและนึกกลัว
๏นั่นไงเหยาะหยาดลง...................ชละคงมามืดมัว
เมฆดำก็คลุมทั่ว.........................แหละพระพายก็โรมรัน
๏รถวิ่งเลาะเชื่องช้า......................ก็มุมามิหุนหัน
ทางลื่นสิสำคัญ..........................ก็จำทนประหลาดดี
๏ฤาฤกษ์จะออกบ้าน......................ขณะวานพระภูมิชี้
ร่มเย็นอยากจะมี.........................ก็สะใจนะฝนแรง
๏หนึ่งทุ่มพนมถึง...........................ก็ตะลึงแหละสีแสง
รถราก็มากแย่ง...........................เลาะและแซงก็วุ่นวาย
๏สามทุ่มก็ผ่านมา..........................นคราประจักษ์สาย
หินซ้อนแวะมาง่าย.......................เพราะเพาะพันธุ์จะแจกฟรี
๏พันธุ์ไม้ประกาศแจก......................ก็จะแผกและหลากสี
หลากพรรณก็เคยมี........................เสาะแสวงและรับมา
๏ฝนหยุดก็กลับเย็น.........................ก็มิเห็นเพลาะแพรหนา
ถามยายก็มีผ้า............................บ่มิพอจะแจกกัน
๏ขอลงจะซื้อหน่อย........................นะกบินทร์จะหาพลัน
โลตัสนะเปิดนั่น...........................ก็จะซื้อสบายใจ


สาลินีนท์ฉันท์ 11
๏ห่มผ้าก็หายหนาว........................ก็ลืมคราวจะเหน็บใน
หลับนอนมิเงียบไซร็....................เพราะช่วยคุยกะพลอยมา
๏อยากรู้เรื่องพุทธเจ้า.....................บอกเราละวางหนา
ทำไมสอนแปลกจ้า......................กรุณด้วยและช่วยกรอง
๏คำถามดูสั้นสั้น............................และสำคัญเพราะครรลอง
คำสอนลึกซึ้งตรอง........................ประจักษ์จริงปฐมกาล
๏สอนในธรรมจักร............................แหละมีหลักพิเศษขาน
มรรคแปดทางพบพาน....................ลุสัจจาบวรธรรม
๏ทุกข์มีเหตุแห่งทุกข์ .....................ก็รานรุกและชี้นำ
ก่อเกิดทุกข์แจกจำ.......................เพราะตัณหาแหละโรมรัน
๏มันยึดหนุบเหนียวแน่น....................ก็แดนเกิดทุเขตขันธ์
ยึดมากทุกข์อนันต์..........................จะทุกข์สั้นก็ปล่อยไป
๏หลักการดูง่ายง่าย.........................จะยากหลายมิสงสัย
ตัณหาปลดปล่อยได้.......................ละทุกข์เราจะเบาบาง
๏มรรคแปดแนวดำเนิน......................จะเจริญละเสกสาง
จักละได้ถูกทาง............................เหตุแห่งทุกข์ปละปล่อยไป
๏ทุกข์ดับจักก่อเกิด..........................ประเสริฐยิ่งแสดงไข
ธรรมจักรจำเริญนัย.........................แสดงชัดวิวัฒน์มี

วิชชุมาลาฉันท์ 8
๏ล่วงเลยเที่ยงคืน...........................ยังตื่นนงศรี
พูดคุยกันดี..................................ลืมหลับพับไป
ตื่นมาอีกครั้ง...............................เด็กยังสงสัย
หนทางจักไป...............................ทางใดหนอลุง
๏ลืมตาดูทาง.................................แปลกบ้างมาถึง
เขตเขื่อนตราตรึง...........................เร่งรีบมาคุง
เขตเมืองโนนสัง.............................เสียงดังตึงตุง
เขาปลุกชักยุ่ง...............................ตืนมาทันใด
๏บ้านหนองลุมพุก............................รีบรุกต่อทาง
มาถูกแล้วอ้าง...............................รีบจับจักไข
เข้าเมืองโนนสัง.............................กำลังดีไฉน
เลี้ยวขวานั่นไซร้............................มุ่งบ้านโนนเมือง
๏วิ่งเจ็ดกอมอ................................พอดีเลี้ยวเสร็จ
พันห้าร้อยเมตร.............................สำเร็จชำเรือง
นั่นหนองลุมพุก............................บุกบั่นมาเปลือง
ทางใกลนึกเคือง..........................นั่งรถหมดแรง
๏ตีห้าบรรจบ.................................พบพี่สาวงง
พุดศรีประจง................................ยังง่วงสำแดง
พูดคุยทักทาย..............................หลากหลายถ้อยแถลง
ของฝากจัดแจง............................ยินดีปรีดา
๏ถามไถ่สุขทุกข์.............................รุกรี้รุกรน
หลานย่างเนื้อรน............................ชักชอบแล้วหนา
ข้าวเหนียวนึ่งร้อน..........................อ่อนนุ่มยกมา
คนง่วงหิวล้า...............................อร่อยถึงใจ
๏สมควรบอกลา..............................พาทีอวยพร
หายทุกข์หายร้อน.........................สุขสมสดใส
เดินทางสะดวก.............................พวกผองปลอดภัย
อันตรายใดใด...............................อย่ามาแผ้วพาน


ยานี 11
๏ดำเนินกันต่อมา..............................มิช้าเข้าเมืองโนนสัง
หนึ่งโมงวิ่งระวัง.............................ไปหนองบัวลำภูบน
๏สี่ห้ากิโลยืน.................................น้องพลอยฝืนมิสับสน
ขับรถทั้งคืนจน.............................ลุสว่างหนทางไกล
๏รีบมามิช้านัก................................สักชั่วโมงถึงตรงไหน
วังสะพุงมุ่งมาได้............................พักหน่อยหนาท่าจะดี
๏ก๊วยจั๊บหน้าโรงเรียน.......................ครูแวะเวียนมาทุกที
[6idki
๏เรียบร้อยเข้าเมืองเลย......................มิเชือนเฉยส่งแม่หญิง
ให้พักเที่ยงจักวิ่ง............................รับไปทานอาหารกัน
๏ส่วนเราไปประสาน..........................ราชการมีกิจสรรค์
มีการที่สำคัญ................................ต้องไหว้วานช่วยดำเนิน
๏บ่ายโมงจึงเรียบร้อย........................ค่อยมารับยายสรรเสริญ
ฉันหิวชักช้าเกิน.............................พาไปกินกุดโง้งที
๏ก็ได้โชคเข้าข้าง.............................ไปถึงว่างสองเรือนดี
สั่งของกินมากมี..............................ล้วนชองชอบธนัญธร
๏บรรเลงจนพุงกาง............................มิยอมว่างดวงสมร
ส้มตำไก่ทอดร้อน............................สมุนไพรกินกระจาย
๏ต้มส้มปลานิลสด..............................อร่อยหมดกุ้งเต้นหาย
แวบเดียวลุงกระจาย..........................กุ้งเต้นหมดก็เกินไป
๏ยำรวมก็สุดยอด...............................ต้มยำทอดมิสงสัย
ยอดเยี่ยมทุกสิ่งไป..........................เสร็จแล้วจึงจำจากมา
๏ส่งยายกลับที่พัก.............................เราก้จักไปงานต่อ
เกษียณนวลลออ.............................วิไลรัตน์นามบุญปัน
๏ลูกสาวลุงอารีย์................................ท่านเป็นพี่แฟนของฉัน
ครูแก้วแต่ก่อนนั้น.............................อยู่อาศัยพี่เขามา
๏ลูกสาวลุงเป็นครู..............................อยู่ไร่พวยนั่นแหละหนา
เกษียณกาลเวลา..............................มาบรรจบไปอวยพร
๏ขอให้ประสบโชค..............................กาลวิโยคดวงสมร
สรรเสริญเจริญพร..............................ลาภปรากฏยศจำเริญ
๏อายุยืนยาวมั่น.................................ขวัญศิริชนสรรเสริญ
เกริกเกียรติกิจดำเนิน.........................เทพบำรุงรุ่งเรืองเทอญ ฯ


สุรางคนางค์ 28
๏.................................งานครูเกษียณ
สอนมาจำเนียร................ครบหกสิบปี
ถึงเวลาพัก.....................จำจักจรลี
ลาจากถิ่นที่...................ทำการสอนมา
๏.................................ครูศรีสงคราม
อ่านดูรายนาม.................ตามในสารา
หนึ่งณีรนุช....................สุดราชพรหมมา
อีกครูจรรยา...................นามนาวาเรือน
๏.................................ถัดครูบรรจง
สกุลเธอประสงค์..............งามดังดวงเดือน
ครูวิยะดา.......................งามหาใดเหมือน
ขวัญใจผองเพื่อน.............น้ำใจไมตรี
๏.................................ครูหรรษมนต์
ครูมนต์นภา....................ล้วนมาพอดี
เกษียณกิจการ................พักงานครานี้
พวกพ้องต่างชี้................เสียดายคุณครู
.................................อีกคุณเยาวลักษณ์
๏ก็เคยรู้จัก......................ขยันน่าดู
ปลงงานวางไว้................จากไปหดหู่
เสียดายความรู้................มากประสบการณ์
๏.................................คุณครูทุกคน
คุณค่ามากล้น.................ล้วนมีผลงาน
สั่งสอนศิษย์เลิศ..............ประเสริฐประสาน
เลิศวิชชาชาญ................ชาวศรีสงคราม
๏.................................ขอบคุณทุกท่าน
แม้งานเกษียณ...............จำเนียรทุกยาม
ตราอยู่คุณมี...................เสริมศรีติดตาม
สง่างดงาม.....................ตราบชั่วกาลนาน

มาณวกฉันท์ 8
๏โอมคุณะไตร...................ได้มุทุจิต
ยามปิยมิตร.....................ขีณเพราะกาล
ครบจะกเษียณ..................เปลี่ยนบุรการ
พักและละงาน...................จรจะละไป
๏เทพศิวะอวย....................ช่วยผิจะวอน
เสกอนุสรณ์ณ์....................สมหฤทัย
อายุก็ยืน..........................ชื่นปิตินัย
ชมศิริใส...........................วรรณนิรมล
๏สุขจิตะน้อม.......................พร้อมสุขะกาย
เกริกพละหมาย...................ดุจคชพล
ลาภธนวัฒน์.......................จัดศิริผล
เทพกิติดล.........................มวลอภิพร
๏ยศก็พิลาส.........................มาดผลหนุน
เกริกก็เพราะบุญ..................เกื้อลุบวร
ไกรสรเสริญ.......................เพลินปิติกรณ์
กิตติสมร............................จีรสราญ
๏โชคผิจะมาด......................คาดชยะสม
เริงรติรมย์..........................รื่นมนบาน
รัตนตรัย...........................ได้มุทุทาน
สุขและสราญ......................สบศิริเทอญ ฯ
--------------------------
โพส 2 ตุลาคม 2560






วันพุธที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2560

กฐินขันธ์



ยายอยากทำบุญกฐิน
..........19 กันยายน 2560 ไป รพ.ทรวงอกกับยาย ขากลับก็ขึ้นทางด่วน ที่ด่านตรงงามวงศ์วาน มุ่งหน้ามาทางพระราม 9 ดินแดง เจอรถติดบนทาง ด่วน ติดหนักมากกว่าจะถึงด่านอโศก รามอินทราเกือบชั่วโมง ปกติไม่ถึง สามสิบนาที หลุดออกมาได้ ก็มุ่งไปทางสุวรรณภูมิ ทางกลับบ้านแปดริ้ว มาทางมอเตอร์เวย์ เครื่องบินเยอะวันนี้ แต่ไม่มีปัญหาหรอก คนละเส้นทาง เราไปบนถนน เขาไปทางอากาศ ปวดท้องฉี่มากเลยคนเบาหวานมักมี อาการปวดฉี่บ่อย เลยขอแวะด่านเก็บเงิน เพราะเคยแวะประจำ เขามีห้อง น้ำไว้บริการเหมือนปั้มน้ำมันนั่นแหละ แต่ยังไม่ถึงด่านลาดกระบัง เจอที่พัก ทางหลวงพิเศษ จำได้นี่ก็เคยแวะ ที่พักรถ มีห้องน้ำใหญ่โต ก็สะดวกดี
........ออกมาเห็นป้ายข้างถนน มีป้ายวัดปนอยู่หลายสิบป้าย ชวนปิดทอง ฝังลูกนิมิตร ไถ่ชีวิตโคกระบือ อ้อมีป้ายใหม่ชวนทอดกฐิน ยายก็เลยชวน คุยเรื่องกฐิน เห็นเขาทำบุญกฐินก็อยากทำบ้าง สมัยก่อนปู่ย่าตายายเคย พาทำบุญกฐิน ตกสมัยเรายังไม่เคยทำเลย ถามทราบว่า บ้านเป็นเจ้าภาพ บ่อย เพราะตาทวด เป็นเจ้าเมืองฉะเชิงเทรา ชื่อพระอินทราสา อ้อเคย อ่านประวัติเจอชื่อนี้ บ้านอยู่ตรงบ้านเลขที่ 6 หน้าวัดโสธรนั่นแหละ โหนี่ หลานเจ้าเมืองนะนี่ ถามต่อเคยไปร่วมงานกฐินนับครั้งไม่ถ้วน
........ทำบุญกฐินบ่อย รู้ไหมล่ะว่าบุญกฐิน เขาทำอะไรถึงเป็น กฐิน และ ทำไมรอออกพรรษาก่อนค่อยทำบุญกฐินกัน ยายตอบง่าย ๆ ไม่ต้องคิดยาก ไม่รู้จ้า....ไปบ่อยนึกว่าจะรู้ สมัยตาเป็นวัยรุ่น งานกฐินมีเทศน์สองธัมมาสน์ หัวเรื่อง กฐินขันธ์ ตอนบวชก็เคยขึ้นธัมมาสน์ ปีละ 3-4 งาน กฐินกว่าครึ่ง
นอกนั้นก็ทำบุญฌาปนกิจ ทำบุญบวชนาค เราสนทนากันเพื่อสอนชาวบ้าน ในเรื่องต่อไปนี้.......
...........1. ประวัติความเป็นมาของบุญกฐิน
...........2. กฐินเป็นงานของใคร พระหรือโยม
...........3. อยากทำบุญกฐิน ทำอย่างไร
...........4. เรื่องเบ็ดเตล็ด อื่น ๆ
............แค่ 4 หัวข้อก็ใช้เวลาประมาณสองชั่วโมง จะเล่าย่อ ๆพอรู้ความ ให้ยายฟัง มีพระภิกษุชาวเมืองปาฐา 30 รูป เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ถึงเมืองสาเกตุเข้าพรรษาพอดี เหลือทางอีก 6 โยชน์ ประมาณ 90 กิโลเมตร หยุด 3 เดือนออกพรรษาก็เดินทางต่อ ถึงวัดเชตวันได้เฝ้าสมใจ ช่วงนี้ 29 วันนับแต่ออกพรรษา เป็นจีวรกาล คือเวลาหาผ้าผัดเปลี่ยนประจำปี ของ พระภิกษุ สมัยนั้นไม่มีโรงงานทอผ้า ชาวบ้านทอผ้าใช้เอง ตลาดร้านผ้า หายากมาก พระจะแสวงหาผ้าที่ชาวบ้านเข้าทิ้ง  ที่เรียก ปังสุกุล คือผ้าเปื้อนฝุ่น มีบางเผ่าเขาใช้ผ้าพันศพหลาย ๆ รอบเอาไปทิ้งป่าช้า ไม่เผา ศพเน่าเปื่อย ผ้ายังอยู่ เปื้อนมาก เรียกผ้าปังสุกุล เอาไปซักล้างสะอาดก็นำไปใช้ได้ ฉะนั้น การหาผ้าจึงเป็นเรื่องใหญ่ หมดเวลา 29 วัน ต้องรออีกปี จึงจะถึงเขตหาผ้าปีถัดไป พระพุทธเจ้าเห็นความยุ่งยากจะเกิดกับพระ 30 รูป มาจากต่าง ถิ่นด้วย น่าจะหาผ้าไม่ทันเวลา จึงอนุญาตให้ทำกิจกรรมสามัคคี ตัดเย็บผ้า ช่วยกัน แจ้งให้ทราบว่า ถ้าพวกเธอที่อยู่จำพรรษาในอาวาสเดียวกัน มี พรรษาไม่ขาด ช่วยกันหาผ้า มาตัดเย็บจีวรให้เสร็จ 1 ผืน ใน 1 วัน มอบ ให้พระรูปหนึ่งนำไปครอง ถือว่าทำกิจกรรมสามัคคีเสร็จ ให้อานิสงส์ ผ่อน ผันพระวินัย 5 เรื่อง ที่สำคัญคือ ขยายจีวรกาลออกไปอีก 3 เดือน ต่อมา เรียกกิจกรรมเย็บจีวรสามัคคีนี้ว่า กฐิน
..........ทำกฐิน ทำอย่างไร ฟังให้ดีนะ คนทำกฐินคือพระภิกษุ และเป็น พระอยู่จำพรรษาที่วัดเดียวกัน พรรษาไม่ขาด มีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 รูป 4 รูปคือคณะสงฆ์สามัคคี อีก 1 รูป เป็นบคคลที่จะครองผ้า มีจำนวนครบ ประชุมกันจะทำกฐิน พระรูปไหนจะครองผ้า แยกออก ให้ชัดเจน จากนั้น ก็นัดวันเวลาตัดเย็บผ้ากัน ถึงวันนัดก็มีผ้ามาประชุมกัน คณะสงฆ์ประชุม แจ้งให้ทราบว่ามีผ้าแล้ว ต้องการจะตัดเย็บผ้ากฐิน เพื่อมอบถวายพระรูปนี้ คณะสงฆ์ก็มีมติเห็นชอบ จากนั้นก็ให้เวลาช่วยกันจัดทำจีวรให้พร้อมจะผลัดเปลี่ยน พระที่จะครองก็ดำเนินการต่อจนเปลี่ยนผ้าใหม่เรียบร้อย และไป รายงานต่อที่ประชุมสงฆ์ว่า กระผมได้รับผ้ากฐินแล้วและได้อนุโมทนากฐิน แล้วจึงขอรายงานต่อคณะสงห์เพื่อทราบ คณะสงฆ์ก็อนุโมทนา จบกิจกรรม การทำกฐิน ได้รับอานิสงส์ 5 ข้อ และจีวรกาลของคณะสงฆ์วัดนี้ก็ขยายไป
จนถึงกลางเดือนสี่ กิจกรรมที่ทำสังเกตนะยาย พระทำกันเอง โยมไม่ได้ ยุ่งหรอก
.........ฉันอยากทำบุญกฐินนี่ ทำอย่างไร ก็ที่เล่าถึงการทำกฐินของพระ ท่านเย็บผืนเดียวแล้วถวายกันไปครองผ้าผืนนั้น ดังนั้นทำบุญกฐินมีผ้าผืน เดียวก็ถวายกฐินได้ ที่เห็นเขาถวายผ้าไตร ก็ 3 ผืน ให้พระเลือกเอง จะ ใช้ผืนไหนเป็นผ้ากฐิน ที่เราเห็นข้าวของมากมายเวลาไปถวายกฐิน เรียก ของบริวารกฐิน ไม่ได้จำกัดจะถวายอะไรมากมายขนาดไหน อ้อเว้นแต่ ของที่ไม่เหมาะกับพระ ไม่ควรเอาไปถวาย เมื่อรวบรวมจตุปัจจัยไทยทาน พอแล้วก็นำไปถวายที่วัด ในช่วง กฐินกาล คือ จีวรกาลนั่นเอง หมดเขต ก็เพ็ญเดือนสิบสอง ถวายเสร็จก็จบ ต่อไปก็เป็นการทำกฐินหน้าที่ของพระ เราจะอยู่รอดูก็ได้ ไม่ดูก็ไม่เป็นไร
........มีคนบอกว่าบุญกฐินต้องถวายในเขตจีวร ออกพรรษาไปจนถึงเพ็ญ เดือนสิบสอง เพราะเป็นช่วงเวลาพระผัดเปลี่ยนจีวร หาผ้ามาตัดเย็บจีวร ถ้าถวายนอกเขตนี้จะเป็นบุญกฐินไหม ทำกิจกรรมถวายทานทำได้ตลอดปี จะเรียกบุญอะไรก็เรียกไป เพราะโยมทำอย่างไรก็ไม่เป็น "กฐิน" ถวายใน เขตกฐิน ก็เป็นแค่การทำบุญถวายผ้า ในคำถวายก็บอกไว้แล้วว่า"เมื่อรับแล้ว ได้โปรดกราลกฐินด้วยผ้านี้"เพราะพระทำกฐินได้ ไม่ใช่โยมทำ เราแค่เอา ผ้าไปถวาย พระสะดวกมีผ้าพร้อมจะทำกฐิน ดังนั้นเราจะถวายผ้า เวลาไหน ก็ได้ สมมติ ไม่มีโยมมาจองกฐินเลย พระในวัดมีตั้ง 10 รูป วิตกกันใหญ่ จะได้อานิสงส์ไหม จีวรกาลจะขยายออกไปอีก 3 เดือนได้ไหม ถ้าท่าน เจ้าอวาส เข้าใจพระวินัยเรื่องกฐิน ก็ทำกฐินกันได้เลย ไม่ต้องรอโยม
.......ประชุมนัดวันเวลาทำผ้ากฐิน ไปหาผ้ามารวมกัน เลือกทำจีวร สังฆาฏิ หรือสบง เสร็จถวายรองเจ้าอาวาสปัดเปลี่ยนแล้วมารายงานคณะสงฆ์ ร่วม อนุโมทนา แค่นี้จบ ได้อานิสงส์กฐิน จีวรกาลขยายไปถึงกลางเดือน สี่ สมัยผมบวชอยู่ เจ้าคณะจังหวัดท่านสำรวจวัดไหนมีพระ 5 รูปขึ้นไป ไม่มี โยมถวายกฐิน ท่านมีหนังสือแจ้งความประสงค์ไปถึงเจ้าอาวาส จะนำผ้า กฐินไปถวาย ให้ประชุมทำกฐินได้ วันนัดก็มีรถยนต์จากศึกษาธิการจังหวัด นำไปถวาย ผ้า 1 ไตร ถังสังฆทานเท่าจำนวนพระเณร ปัจจัยท่านศึกษา
ใสซองไว้ไม่ได้ดู วันเดียวตระเวณถวาย 5 วัด ถวายเสร็จรับพรแล้วก็ลา ไม่รอดูหรอก กลับวัดก็สองทุ่ม พักหายเหนื่อยก็ไปอีก แรก ๆก็ไม่เข้าใจ ทำไมต้องไปถวายผ้าและบอกให้วัดทำกฐิน พอดูระเบียบวิธีกฐินก็เข้าใจ
........ทำบุญกฐิน ไม่เป็นกฐิน มีด้วยเหรอ อันนี้คุยกันมากในหมู่ผู้รู้ ถ้า บังเอิญไม่ได้ศึกษาจริง ๆจัง ๆ จะเห็นตั้งแต่ ห้ามรับผ้าจากมือโยม ต้อง ทอดวางผ้า พระมาสวดก่อนค่อยยกไป นี่ก็เพราะฟังมาไม่วิเคราะห์วิจัย ก็เพราะกฐินแรก ที่พระชาวเมืองงปาฐาทำนั่น ใครเอาผ้าไปถวาย หากันมา เอง ตัดเย็บเอง ได้ผ้าหนึ่งผืน ถวายพระอาจารย์รูปหนึ่งไปผัดเปลี่ยน พระที่เหลืออนุโมทนา ผ้าผืนที่ช่วยกันตัดเย็บนั่นเรียกผ้ากฐิน ดังนั้น ถวายกฐินยังไงก็ยังไม่เป็นผ้ากฐิน จะยื่นมือรับ หรือใส่พานรับ ก็ยังไม่เป็น ผ้ากฐิน ผ้าเก่าที่อยู่ในตู้ เอาออกมาตัดเย็บทำผ้ากฐินก็เป็นกฐินได้ เพราะ เป็นกฐิน ไม่เป็นกฐิน อยู่ที่พระเป็นผู้ทำ โยมถวายแล้วกลับบ้านได้เลย ไม่ต้องห่วง
.........ใช่เลยตาไม่ต้องห่วง ด้านหน้านี่มันพนัสนิคมนะ ไม่ใช่ด่านบ้านเรา เออใช่ แวะด่านบางปะกงโดน 45 บาท ทำไมไม่ 35 บาทล่ะตา เขาปรับ 10 บาทน่ะยาย ออกด่านฉะเชิงเทรา 35 บาท มาออกนี่เพิ่ม 10 บาท ก็ ขำ ๆนะ โม้จนลืมทางออก เลี้ยวรถไปพนัสนิคม ถึงแยกพานทองมีตลาสด ดักทางไม่ให้ไป ก็ต้องจอดซิครับ ผู้ตรวจการตลาดสดลงไปตรวจทุกแผง เลย ได้ไก่ย่าง ส้มตำ เนื้อหมูแดดเดียว แกงหน่อไม้ ผักบุ่ง ผัดสเม็ด ฯลฯ เต็มหอบ หิ้วไปใส่ท้ายรถ 3 รอบ ค่อยผ่านสี่แยกนั้นได้ วิ่งระมาสัก 10 นาที ถึงเทศบาลที่เราไปบ่อย ๆจำได้ ถามแวะอีกไหม ยายให้กลับบ้าน ก็วิง 30 นาที ก็ถึงบ้านแล้วครับ จบเหอะยาวมากแล้ว ทีหลังอย่าชวนคุยแล้วกัน เดี๋ยวหลงทางอีก 


คุณยายหลายอาการ




.........อยู่กันมาหลายปี คุณยายธนัญธรเป็นคนเข้มแข็ง เป็น หญิงเหล็ก หญิงแกร่ง ภาพที่ปรากฎให้ใคร ๆเห็น แบบนั้นจริง แต่ยังมีอาการหลายอย่าง ไม่แสดงให้เห็น นานวันเข้า รู้จัก กันมากขึ้น อาการที่ไม่ค่อยได้เห็นก็แสดงอาการให้เห็น จน น่าเป็นห่วง ไม่ใช่เรื่องเสียงหาย แต่ช่วยให้เข้าใจยายดีขึ้น จะ นำมาเล่าให้ลูกหลานฟัง
.........คุณยายติดกะละมัง คนอื่นเขาเป็นติดอ่าง แต่นี่ไม่ใช่ เขาเรียกอะไรไม่รู้ ยายจะติดคำบางคำในความนึกคิด เวลาจะ พูดอะไรด่วน ๆ คำที่ติดอยู่นั่นโผล่มาก่อน โดยที่แกไม่รู้ตัว แถมยืนยันว่าไม่ได้พูดคำนั้น อย่าง คำกางเกงใน คงกระทบใจ สักครั้งหนึ่งและ ฝังลึกเชียวไม่ยอมลืมง่าย จะไปเที่ยวนอกบ้าน
กัน เรามีหน้าที่สวมปลอกคอให้หมาน้อย 2 ตัว จะเอาไปด้วย จวนเวลาหมาอาบน้ำเช็ดตัวอยู่ ยายออกมาเร่ง
.........นี่ ตา ใส่กางเกงในไว ๆหน่อยสิ.....งง รู้ได้ไงว่าเรา ไม่ใสกางเกงใน นึก ๆ อ้อ เร่งใส่ปลอกคอให้หมา แม่บ้านเช็ด ตัวให้หมาอยู่เลยแกล้ง สวนไป ยุ่งทำไมใส่ไม่ใส่กางเกงในป้า... ยายก็ยังไม่รู้สึกนะ รีบ ๆ หน่อย ใส่กางเกงในแล้วจะไปกัน ก็ขำกันแหละ รู้ว่ายายแกหลุด ยังไม่รู้สึกตัวอะไร มีอยู่คราหนึ่ง รำคาญเลยลองแกล้ง ออกจากห้างแมคโคร สองข้างทางแผง ขายหอยแมงภู่ 5-6 แผง ติดป้าย หอยสด ๆ 3 โลร้อย ซื้อไป ครั้งหนึ่งเจอหอยเน่า เททิ้งเฉย ๆ เลยนั่งด่าในรถแหละ พวกนี้ ขายหอยเน่า ๆ ให้เราเนาะ ยาย ทำไมไม่เลือกหอยสด ๆมา ขาย ครั้งก่อนเราบอกซื้อหอยสด ๆ สามโล ได้หอยเน่า หรือ จะให้เราบอก หอยเน่า ๆ สามโล ถึงจะได้สด ๆ คุยจบถึงแผง พอดี ให้เงินยาย 100 บาท ยายเปิดหน้าต่างรถสั่งบนรถเลย แม่ค้า ๆ หอยเน่า ๆ สามโล ปิดปากไม่ทันหลุดไปแล้ว ดีที่ คนขายเป็นผู้ชาย แกหัวเราะ ไม่มีครับมีแต่หอยสด ๆ ยายก็ ยังเฉย ได้หอยแล้วก็ออกรถ ยายหันมาถามเรา พ่อค้ามัน หัวเราะอะไร ก็ต้องบอกว่าพ่อค้าอารมณ์ดี เมียไม่อยู่ ใครมา เขายิ้มให้เสมอแหละ
.........อาการโลกหมุนเคยยินยายบอกมีปัญหาช่องหู ส่งผล มีอาการโลกหมุนบ่อย แกชอบแคะหูทั้งแคะเองและวานเขา ช่วย แคะเสร็จก็จะมีอาการบ้านหมุน เวียนหัวเป็นบ่อยจนชิน มีอยู่วันหนึ่งแกมีอาการบ้านหมุน แต่เช้าจนเที่ยง นานกว่าทุก ครั้ง ถามแม่บ้านก็ไม่ได้แคะหูให้ พอตื่น ดีขึ้นก็ถามแคะหูอีก ล่ะสิ เปล่าไม่ได้ทำ แล้วทำไหมเหมือนแคะหูบ้านหมุนแบบครั้ง ก่อน ๆ เปล่านะ ยายแค่ดื่มน้ำข้าวหมากแก้วเดียวเอง ดื่มแล้ว ทำไมมันมึน ๆ ไม่รู้ อ๋อเมาน้ำข้าวหมาก น้อง ๆสาโทแหละ เข้าใจ ทีหลังอย่าเยอะนะยาย ไวน์ยังอ่อนกว่าน้ำข้าวหมาก จะบอกให้
.........อาการนอนไม่หลับ แรกไม่รู้ หลับยากเมื่อไรแกก็จะ หายามากินแล้วก็หลับได้ มาทราบทีหลังเป็นพวกยาที่หมอให้ เพราะไปพบหมอก็จะบ่นให้เขาฟัง หมอก็จัดให้มา เพราะรู้จัก หมอดีนี่ หลัง ๆ เห็นใช้ยาพวกแก้แพ้มั้ง กินแล้วก็ง่วง ๆ ได้ ต่อมาก็สังเกตดูแกชอบนอนหลับกลางวัน น่าจะเกินห้าชั่วโมง แล้ว กลางคืนมันก็หลับยากเป็นธรรมดา ก็คงจะมีอาการหลับ ยากต่อไป เพราะคนสูงอายุอย่างเรา ๆ นอนวันละ7- 8 ชั่วโมง พอแล้ว หลับมากกว่านั้นจะยากหน่อย
........อาการกระดูกพรุน ยายเล่าให้ฟังเอง ไปตรวจมวลสาร กระดูกและทานยาตามหมอสั่งไม่ขาด วันหนึ่งยายไปเที่ยว ตลาดสด หกล้มกระดูกสะโพกร้าว หมอใส่สกรูให้สองตัวเดินไม่ถนัดจนทุกวันนี้ ไปตรวจเห็นว่ามีปัญหาต้องผ่าเอาสกรูออก รออยู่หมอจะนัดผ่าเมื่อไร
........อาการซึมเศร้า นี่ยายก็บอกเองเคยเป็นมากถึงขนาด ต้องพึ่งจิตแพทย์ อยู่ด้วยกันก็ไม่รู้นี่ว่ามีอาการซึมเศร้า ก็เห็น รื่นเริงเบิกบานดีอยู่ ชวนให้พาไปนั่นไปนี่ บ่อย ๆ ตลาดสด ใกล้นเส้นทาง ไปบางน้ำเปรี้ยว องครักษ์ คลองสิบหก นคร นายก ปราจีน อยู่ตรงไหน ตลาดเปิดวันไหน น่าจะจำได้หมด เพราะไปบ่อย บางทีก็เตลิดเข้าไป กทม. สุขาภิบาล 5 ตลาด ไท ตลาดสี่มุมเมือง งานเมืองทองธานี ศูนย์ศิริกิตต์ มีตาราง ให้เลือกอยากไปงานไหน สั่งเอา ๆ ไม่อยากเชื่อว่าจะมี อาการซึมเศร้า ก็คนไม่ซึมเศร้ายังไม่ขยันเที่ยวได้ขนาดนี้
........โรคเส้นเลือดตีบ อันนี้เห็นน้องชายทำบายพาส ก็คง วิตกอาจเป็นบ้าง เลยพยายามตรวจเชคบ่อย ๆ รามา ไปซัก หกเที่ยว ตาไปทรวงอกยายก็ไปเป็นเพื่อน ไปเห็นหมอ และ พยาบาลที่นั่นเขาพูดคุยเป็นกันเองดี ขอไปเป็นคนไข้ที่นั่น ไม่ผิดหวังหรอก เขาตรวจอาการต่าง ๆ จนสุดท้ายสั่งให้ไป ตรวจด้วยการฉีดสี จะได้รู้ชัด ๆว่าอาการที่เป็นอยู่มีผลมาจาก เส้นเลือดตีบไหม ถ้าใช่ก็จะได้รับการแก้ไขไปเลย ครับโรงบาล นี้เชี่ยวชาญเรื่องโรคทรวงอก โดยเฉพาะเรื่อง หัวใจ ปอด มี คนไข้สองโรคนี้มาขอรับรักษาเป็นอันมาก
......เขียนเล่าถึงอาการต่าง ๆ ของยาย ความจริงก็คือแกมี ความรู้เรื่องสุขภาพอนามัยดี ช่วงทำงานก็สนใจแต่คนป่วย ส่วน ตัวเองก็ไม่ค่อยได้ใส่ใจมากนัก เพราะออกจากงานมาก็มีเวลา มาก สนใจตัวเองมากขึ้น นั่นก็คล้ายจะเป็นโรคที่ 1 นี่ก็เหมือน เป็นโรคที่ 2 ไปพบหมอก็ได้ยาปลอบใจมา ก็ไล่อาการไปเรื่อย บางทีก็เจอของจริงเจ็บป่วยจริง ก็กินยาตามหมอสั่ง หมอซึมเศร้า หมอกระดูก หมอโรคหัวใจ ยาวันละหลายสิบเม็ด เป็นคู่แข่ง ตาได้ เรื่องใช้ยามาก
.......อาการหนักที่ยายต้องเจอคือ ฉีดสี หาเส้นเลือดตีบตัน วันศุกร์ ต้องไปรายงานตัวเข้ารับการรักษา บังเอิญเป็นวิธีที่ตาทำ มาแล้ว หมอจะเจาะเส้นเลือดใหญ่ที่ขาหนีบ ใช้แค่ยาชา ไม่ ต้องใช้ยาสลบ เปิดแผลแล้วก็ฉีดสารสีหมึก เข้าไป เราก็ลืมตา ดูน้ำสีมันไหลเข้าเส้นเลือด หมอก็ดูไปคุยกันไป ไปเจอจุดแรก ใกล้ ๆ หัวใจ สักครูเจออีก เป็น 2 จุด หมอหัวหน้าสวนทันที สองจุดใส่ขอลวดเรียบร้อย ปิดแผล ออกมาพักฟื้น 3 วัน ก็กลับ บ้าน รอนัดมาตรวจติดตามผลอีก มีการฉีดสีอีกรอบ เจออีก คราวนี้หมอบ่น เพราะมันอยู่ด้านหลัง ใช้เวลานานกว่ารอบแรก ถึงเสร็จ นั่นคือประสบการณ์ที่ได้รับ ยายก็ไปยืนเฝ้าอยู่หน้า
ห้องแลป คราวนี้ยายต้องรับการฉีดสีด้วยตัวเอง ก็กลัว ๆบ้าง แต่ดีกว่าตอนตาทำ เพราะไม่รู้อะไรเลยว่าหมอจะทำอย่างไร ก็ได้แต่ภาวนาขอให้การรักษาดำเนินไปด้วยความรียบร้อย ไม่มี อุปสรรคหรือภัยใด ๆเกิดขึ้นนะยายนะ

วันพุธที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2560

เดือนสิบเอ็ดเสร็จธุระพระวสา


                                                                        ภาพจากกูเกิ้ล

                                                                       ๏ เดือนสิบเอ็ดเสร็จธุระพระวสา
                             รับกฐินภิญโญโมทนา        ชุลีลาลงเรือเหลืออาลัย 

---------------------------
........เดือนสิบเอ็ดแล้ว นึกถึงนิราศภูเขาทองของท่านสุนทรภู่ ที่เริ่มพูดถึงเดือนสิบเอ็ดเกี่ยวกับกิจกรรมสำคัญคือเรื่อง ธุระพระวสา และรับกฐิน ตรง กับเรื่องที่อยากเขียนพอดี เอาทีละเรื่องแล้วกัน พระวสาที่ท่านกล่าวหมายถึง ช่วงพรรษา 3 เดือน ตั้งแต่กลางเดือนแปดไปจบกลางเดือนสิบเอ็ด เข้าเขต กฐินต่อเนื่องกันไป ทำให้เดือนสิบเอ็ดครึ่งหนึ่งอยู่ในเขตการอยู่จำพรรษา อีกครึ่ง หนึ่งอยู่ในเขตจีวรกาล ซึ่งเป็นเขตอนุญาตให้ทำบุญกฐินได้
........การอยู่จำพรรษาคือกาลเวลาที่กำหนดให้พระภิกษุงดจาริกไปมา ให้อยู่ ณ สถานที่ชัดเจนตลอดเวลาสามเดือน ของฤดูฝน พรรษา วัสสา แปลว่าฤดูฝน สาเหตุที่พระพุทธเจ้ากำหนดให้หยุดจากริก ก็เกี่ยวข้องกับ เรื่องฝน เล่าว่าพระภิกษุสมัยก่อนนิยมท่องเที่ยวไปตามป่าเขาและชนบท หน้าฝนก็ยัง
ไม่หยุด เดินทางก็ไม่สะดวก กระทบต่อการทำไร่ทำนาชาวบ้าน หยุดงานไปต้อนรับพระหลายวัน จนเกิด มีสำนวนพระเหยียบย่ำข้าวกล้าเสียหาย ท่าน พอ.ปิ่น มุทุกัณฑ์ เล่าถึงเรื่องนี้ว่า พระส่วนมากเป็นลูกชาวไร่ชาวนา คงไม่กล้า เหยียบย่ำข้าวกล้าชาวบ้านแน่ มีคนตำหนิ ทำไมพระภิกษุไม่หยุดจาริก ทราบ 

ถึงพระพุทธเจ้า ทรงพิจารณาแล้วเห็นชอบให้พระภิกษุหยุดจำพรรษา 3 เดือนคือ เริ่มหลังวันอาสาฬห
บูชาคือ แรม 1 ค่ำเดือนแปด ปีอธิกมาสก็เลื่อนไป แปดที่ 2 ปัจจุบัน ตีความ พรรษาแรกแรม 1 ค่ำเดือน
แปด พรรษาหลังแรม 1 ค่ำ เดือนเก้า
.........พระท่านทำวัตรเช้าเสร็จ อธิษฐานพรรษาได้เลย อธิษฐานต่อหน้าพระพุทธรูป นั่นแหละ มีรูปเดียว ก็ทำการอธิษฐานไปเลย มีหลายรูปก็อฐิษฐานต่อพระเถระ ดูจาก คำอธิษฐานพรรษา ว่า
..........."อิมัสะมิง อาวาเส อิมัง เตมาสัง วัสสัง อุเปมิ ” หรือ
...........“อิมัสะมิง วิหาเร อิมัง เตมาสัง วัสสัง อุเปมิ ”
............แปลความว่า ข้าพเจ้า จะอยู่จำพรรษา ตลอดสามเดือน ที่อาวาสนี้(ที่วิหารนี้) อาววาส หมายถึง วัด วิหารหมายถึงอาคาร เลือกใช้ให้ถูกแล้วกัน เพราะ สถานที่ที่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้จำพรรษาได้    คือสถานที่อยู่อาศัยปลอดถัย จากฝนและสัตว์ที่มีอันตรายต่าง ๆ มีเฉพาะที่ห้ามไม่ควรจำพรรษา เช่น
กระท่อมผี กรด เต้น ตุ่มน้ำ โพรงไม้ ค่าคบไม้เป็นต้น ตลอดสามเดือนให้พัก อยู่ ณ ที่ที่ได้อธาฐานพรรษา มีเหตุจำเป็น ขออนุญาตไปได้คราวละ 7 วัน เช่น บิดามารดา สหธรรมิก เจ็บป่วย สหธรรมมิก อยากสึก มีกิจสงฆ์ต้องไปช่วย โยมนิมนต์ไปรับไทยทาน ไประงับอธิกรณ์ (ต้องอาบัติทุกฏ พรรษาไม่ขาด) ครบสามเดือนออกพรรษาโดยอัตโนมัติ หมดระยะเวลา แค่มีการปวารณา นิยมกระทำกันช่วงวันออกพรรษา
..........ปวารณาคือการประกาศยอมให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ไม่คำนึงถึง อายุพรรษา ตำแหน่งหน้าที่ ประเพณีที่มีเฉพาะสังคมพระภิกษุเท่านั้น แต่ปัจจุบันยังใช้ได้อยู่รึเปล่า ถ้าใช้กันอยู่ถือว่าเยี่ยมยอด       คำปวารณา ว่า "สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ ทิฎเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัสมันโต    อะนุกัมปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปฎิกะริสสามิฯ" 

.................."ทุติยัมปิ สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ ทิฎเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัสมันโต อะนุกัมปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปฎิกะริสสามิฯ" 
................."ตติยัมปิ สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ ทิฎเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัสมัน  โต อะนุกัมปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปฎิกะริสสามิฯ" มีความหมายว่า ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ กระผมขอปวารณาต่อ .สงฆ์ ด้วยได้เห็นหรือได้ฟังก็ตาม ขอท่านทั้งหลายโปรดอนุเคราะห์ ว่ากล่าว ตักเตือน กระผมด้วย เมื่อกระผมมองเห็นแล้ว จักประพฤติตัวเสียเลยใหม่ให้ดี...
.........เรื่องที่ 2 บุญกฐิน ออกพรรษาแล้วเข้าสู่เขตการแสวงหาผ้าผัดเปลี่ยน พระวินัยกำหนดระยะเวลา  ให้ หลังออกพรรษา แรม 1 ค่ำเดือน 11 ไปจนถึง เพ็ญเดือน 12 รวมเวลา 29 (14-15) วัน อนุญาตให้แสวงหาผ้า มาตัดเย็บ เป็นไตรจีวร เพื่อเปลี่ยนของเก่าที่ใช้มาครบรอบปีพอดี เคยพบเรื่องพระภิกษุชาว ปาฐา 30 รูป เดินทางมาเฝ้า แต่มาถึงเมืองสาเกต เข้าพรรษาพอดี เลยหยุด ที่ตรงนั้นพอออกพรรษา   รีบเดินทางต่อ ทาง 6 โยชน์(96 กม.) เดินทาง หลายวัน พระพุทธเจ้าเห็นความทุลักทุเลและความ ยุ่งยากในการหาจีวร เพราะเวลาเหลือน้อยลงเลยอนุญาตให้ช่วยกันทำกฐิน อนุญาตให้พวกเธอ ที่อยูจำพรรษาด้วยกัน สามัคคีทำผ้าไตรจีวร 1 ผืน สบง จีวรหรือสังฆาฏิ เสร็จ 1 ผืน ถวายพระรูปหนึ่งไปผัดเปลี่ยน ทั้งหมดทำให้เสร็จในวันเดียว จะได้รับอานิสงส์ 5 ประการ เที่ยวไปไม่บอกลาได้ไม่อาบัติ อยู่ปราศจาก ไตรจีวร ได้ไม่อาบัติ ฉันคณะโภขนาได้ไม่อาบัติ เก็บอดิเรกจีวรได้ไม่อาบัติ จีวรใด ๆที่มีผู้ ถวายเป็นของพวกเธอเท่านั้น ไม่ต้องแบ่งอาคันตุกะ ที่ยอด เยี่ยมมากคือขยายจีวรกาลออไปถึงกลางเดือนสาม
........ตามประวัติบุญกฐิน ดูเป็นกิจของพระภิกษุ แม้ชาวบ้านได้ยึดเอามา จัดเป็นประเพณีทำบุญไป    แล้วก็ตาม เช่นนำกองกฐินไปถวายพระ มีข้อจำกัด หลายอย่างที่ควรทราบ ถือต้องถวายช่วงเวลาจีวรกาลเท่านั้น 29 วันนับแต่ ออกพรรษา ต้องทำเป็นกิจสามัคคีของสงฆ์ 4 รูป เป็นคณะสงฆ์ประกาศญัติ
ตัดเย็บผ้าเสร็จในวันเดียว พระ1 รูป เป็นผู้รับเปลี่ยนผ้าใหม่ อย่างนี้ถึงจะ เป็นกฐินโดยสมบูรณ์ตามพระวินัยกำหนด ถ้าขาดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็ไม่ใช่ กฐิน เช่นพระไม่ได้จำพรรษาด้วยกัน ขาดองค์ประกอบ ความสามัคคีของพระ ที่จำพรรษาด้วยกัน ดูประวัติพระชาวปาฐา 30 รูปจำพรรษาที่เมืองสาเกตุด้วย กัน นั่นแหละชัดเจนดี ทำไมต้องทำวันเดียวให้เสร็จ เพราะพระพุทธเจ้าจะให้ อานิสงส์ที่สามัคคีช่วยกันทำ
........พระที่วัดทำกฐินเองได้ไหม หรือต้องรอคนมาถวายก่อน อันนี้แน่นอน ทำได้ ถ้าอยู่จำพรรษาไม่ น้อยกว่า 5 รูป ประชุมกันกำหนดวันทำกฐินกันได้ ช่วยกันทำใหเสร็จใน 1 วัน ถวายพระรูปหนึ่งไป   ครองและอนุโมทนา ก็เป็น กฐินและได้อานิสงส์เช่นกันเท่ากับที่ชาวบ้านนำกฐินมาถวาย แต่เงินอาจ ไม่มีถวาย เท่านั้นเอง
........ผ้าผืนไหนเป็นผ้ากฐิน ผ้าที่พระได้รับอนุญาตให้มีไว้ใช้ 3 ผืนที่เรียก ไตรจีวรนั่นแหละ คือ อันตร วาสก (สบง ใช้นุ่ง) อุตราสงค์ (จีวร ผ้าห่ม) และ สังฆาฏิ(ซ้อนห่มเมื่ออากาศหนาวเย็น) นอกจากนี้ถือ เป็นส่วนเกิน ดังนั้นการ ตัดเย็บผ้ากฐิน จะเลือกตัดเย็บเพียงผืนเดียว เพราะกลัวไม่เสร็จในวันเดียว   ส่วนมากเลือ อันตรวาสกเพราะผืนแคบ ใช้ผ้าน้อย เย็บเสร็จเร็วกว่าผืนอื่น ปัจจุบันมีจักรเย็บผ้า เลือก   ผืนไหนก็ไม่เป็นปัญหา สมัยก่อนช่วยกันเย็บแบ่ง กันเย็บเป็นขันธ์ ๆ แต่ละขันธ์ก็จะมีสองส่วน เย็บประกอบเป็นผืนผ้า มีขันธ์ กลาง ขันธ์รองข้างละ 2 รวมเป็นห้าขันธ์ แล้วมีผ้าเย็บรอบเรียกอนุวาตะ       ยากเหมือนกัน คนเย็บต้องมีแบบจะเย็บ 5 ขันธ์ 9 ขันธ์ 








.........เย็บจีวรสมัยมีจีวรสำเร็จรูป ทำได้ง่าย เพราะจีวรเป็นรูปร่างดีอยู่แล้ว เพียงเลือกเอาผืนที่ดูดีหน่อย มาตรวจดูต้องปรับซ่อมตรงไหนบ้าง ตะเข็บไม่ สวยเลาะออกเย็บใหม่ ด้ายเปราะรื้อเย็บใหม่ จนมั่นใจว่าได้จีวรที่เรียบร้อย สวมใส่สบาย ก็เรียกการตัดเย็บจีวรได้เหมือนกัน เคยเห็นเขาเอาผ้าด้ายดิบ ไปถวายกฐินกัน เล่นตัดเย็บกันทั้งวันได้ผ้าผืนเดียว ถามว่าที่เหลือล่ะ ตัด เย็บแบบผ้ากฐินกันรึเปล่า เปล่าเลยซื้อจากร้านสังฆภัณฑ์สวยกว่าผ้ากฐินซะอีก มีผืนเดียวเท่านั้นแหละที่ทำเป็นเคร่งตัดเย็บย้อม พระเณรในวัดเป็นร้อย ใช้ผ้าสำเร็จรูปกันทั้งนั้น การตัดเย็บก็แค่ตรวจดูความเรียบร้อยเนื้อผ้าตะเข็บ สีก็ไม่ต้องย้อม มาจากโรงงานเรียบร้อยดี
..........ผมเคยรับเป็นคนครองผ้ากฐิน เลือกผ้าสบงมาทำผ้ากฐิน เลาะตะเข็บ ออกสัก 10 เซ็นต์ กรรไกรขลิบผ้าที่มันยุ่งกันออกนิดหน่อยแล้วเย็บใหม่ โยม เดินมาถามทำอะไรหลวงพี่ เย็บผ้า เขาเดินหนีไปสักครู่สีกาสาว ๆมาถาม พระ ตอบเสียงหวานเลย เย็บสบงจ้า...มัคทายกต่อเลยเสร็จยังล่ะ เสร็จแล้ว  งั้น
นิมนต์ไปอนุโมทนากฐินได้แล้ว ชาวบ้านฉลาดกว่าเราอีก ไม่เตี้ยมเราก่อน เลย กว่าจะได้คำตอบที่เขาต้องการ
.........ความจำเป็นของกฐิน สมัยก่อนผ้าหายาก การหาผ้ามาตัดเย็บและ ผัดเปลี่ยนให้แล้วเสร็จใน 1 เดือนลำบากเหมือนกัน กฐินจึงมีความสำคัญ เพราะช่วยขยายเวลาออกไปอีก 3 เดือน ปัจจุบันไม่มีความยุ่งยากในการ แสวงหาผ้ามาตัดเย็บจีวร แถมมีจีวรสำเร็จวางขายทั่วไป จีวรที่ชาวบ้านนำ ไปถวายวัดก็มีมากมาย จนพระไม่มีปัญญาจะใช้ให้หมด กฐินไม่น่าจะจำเป็น กลับเป็นเรื่องเงินทองมากกว่า เวลาคนไปปักกฐินจะมีคำถามว่า มีเงินถวาย วัดสักเท่าไร ถ้าน้อยก็บอกมีคนจองแล้ว เป็นแบบนี้ไป .
.......สนทนากันเล่น ๆ ถึงเดือนสิบเอ็ด สมัยก่อนเป็นเรื่องสำคัญ หนุ่มสาว ตั้งตารอวันออกพรรษา รอบุญกฐิน วันเวลาทำให้คนยุ่งทำการงานมากขึ้นจน ไม่ค่อยมีเวลานึกถึงเรื่องประเพณีวัดวาอารามสักเท่าไร   ต่อไปคงไม่เป็นพิธี เขาพรรษา ออกพรรษา เพราะวัดร้างไม่มีพระประจำ กฐินก็ถวายไม่ได้ มี พระไม่   ครบองค์ วัดที่มีพระก็หาเจ้าภาพยากเพราะเงื่อนไขเงินภวายวัด มีน้อยก็อายไม่กล้าไปทอดกฐิน คง    เป็นไปตามยุคสมัย แต่น่าสนใจเรื่อง วัดวาศาสนามีปัญหารุมเร้ามากเหลือเกิน ไม่มีคนจัดการที่ดีพอ หลายแห่ง มีชาว บ้านเข้าไปจัดการวัดแทนพระ เออไม่เคยเห็นก็มีข่าวให้เห็นบ่อย ๆ

วันจันทร์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2560

ทดแทนพระคุณพ่อแม่














-------------------------------------
เล่าเรื่องทำบุญแทนคุณพ่อแม่
........สมัยก่อนผมไม่ค่อยชอบทำบุญ เพราะไม่รู้จักบุญนั่นแหละ ที่ได้ทำก็เพราะไปกับ แม่และพี่ ๆ ตอนอยู่ประถมแม่ชอบชวนไปวัด ขึ้นบนศาลาใส่บาตรก่อนค่อยให้ลงไปลานวัดเพื่อนจัดทีมฟุตบอลรออยู่ แล้ว ขาดแต่กัปตัน ฟุตบอลเราทำจากผ้าขี้ริ้วม้วนกลม ๆ ฉีก ผ้าอาบน้ำฝนหลวงพ่อสองผืน ท่านให้มาเดิมเป็นผ้าถูพื้นของท่าน ซักล้างตากไว้หลายวัน ฉีกบิดเป็นเกลียวเชือก เอามาถักรอบลูกฟุตบอล ได้  ลูกขนาดส้มโอ เตะมันมาก เพื่อน มันขีดเส้นสนาม มีหลักปักเป็นประตูด้วย ข้างละ 5 คน สำรอง 1 ไว้เปลี่ยนตอนมีคน เหนื่อย สนามเล็ก 5 คนก็แน่นแล้ว กรรมการไม่ต้องมี แข่งกันนานแค่ไหนไม่รู้ ไม่มี นาฬิกา เคยทำแบบอันจมที่เขาใช้จับเวลาชนไก่ เพื่อมันไม่เอา บอกเราไม่ใช่ไก่ (ทำด้วยกะลามะพร้าว เจาะรูเล็ก ๆ วางใส่ถังน้ำ ให้น้ำค่อย ๆซึมเข้า จนมันจมลง ก็ หมดยก เรียกน้ำที่ 1 ตีกัน 3 ยก จบ ไม่ได้  ทำเองหรอก เพื่อนมันลักของพ่อมันมา) เล่นไปสักพัก มัคทายกลงมาด่าเบา ๆหน่อยโว้ย หนวกหู พระกำลังฉัน นอกเรื่องไป เยอะนะนี่ แค่จะบอกว่าเป็นคนชอบไปวัดไปวาแต่ยังเด็ก แต่นึก ๆ ดูไปเพราะชอบไป เล่นไม่ได้ชอบไปทำบุญหรอก
.......ช่วงเป็นนักเรียนประถม มัธยม ครูพาไปทำบุญที่วัดก็ไปแบบงง ๆ มีการบริจาคเงินรวมกันทำกัณฑ์เทศน์ถวายพระด้วย ไปถึงวัดก็สายแล้วหลังเที่ยง เดินรอบโบสถ์ จุดเทียนไปด้วย ยังนึกขำเลย สว่างกลางวันให้จุดเทียนทำไม หยดใส่มือร้อนตายชัก เวียนตอนกลางคืนค่อยคุ้มหน่อย ครูสั่งให้ระลึกพระ พุทธเจ้า รอบสองพระธรรม รอบ สามพระสงฆ์ นึกไม่ออกหลับตานึกก็เห็นแต่ภาพพระพุทธรูป พระธรรม นี่ไม่เห็นรูปเลย ไม่รู้หน้าตาเป็นยังไง พระสงฆ์ก็เห็นแต่ภาพพระครูท่าน ไม่รู้ว่าทำไมต้องนึกถึง นึกไป
เดินไป ไม่กี่ก้าวก็ลืมแล้วมาบนศาลาวัดร้อนมาก เหงื่อแตกพลั่ก ครูพาสวดมนต์ไหว้พระรับศีลฟังเทศน์ ถวายกันฑ์เทศน์แล้วก็ปล่อยกลับบ้าน สมัยเราเป็นครูให้ปรับทำ กิจกรรมบนศาลาก่อน ค่อยลงไปเวียนเทียนเสร็จเลิกกลับบ้านไป
.......พระบิณฑบาตรตอนเช้าจะผ่านถนนหน้าบ้านทุกวัน แม่และพี่สาวตักบาตรกันบ้าง เราไม่ตักเลยอายพระ ยังนึกเลยว่าถ้าเราบวชจะอุ้มบาตรเดินรอบบ้านแบบนี้ได้หรือ อายน่ะ แล้วสิ่งที่อายก็มาถึงเมื่อต้องบวชแทนคุณพ่อแม่สามเดือนก่อนค่อยสึกออกมาแต่งงาน คำนี้พ่อแม่ว่าเอง เราไม่รู้หรอกว่ามันจะทดแทนกันอย่างไร ทำขวัญนาคก็ตั้งใจฟังนะเขา ว่าพูดถึงคุณพ่อแม่ไว้อย่างพิศดาร แต่ตอนบวชทดแทนอย่างไรไม่เห็นว่าให้ฟัง ไปมอบ ตัวล่วงหน้า 7 วัน ท่องคำขานนาค ท่องบททำวัตรสวดมนต์     ได้เยอะเหมือนกัน วัดที่บวช หลวงปู่อายุเกินร้อยแล้ว บิณฑบาตรไม่ไหว พวกบวชใหม่คือสมาชิกใหม่ทั้งหมด มีโยม เขามาแนะนำกิจวัตรของพระต้องทำอะไรบ้าง วันพระหลวงปู่มาร่วมทำวัตรเย็น ท่านสอน
ให้บ้าง ผ่านไปเดือนหนึ่งถึงจำได้ กิจกรรมที่ทำประจำช่วงบวชอยู่ทำอะไรบ้าง พรรษาที่ 1 จำพรรษาวัด ที่บ้าน วัดอัมพวันบ้านหนองลุมพุก สอบได้ นธ.ตรี พรรษา ที่ 2 3 วัดหรคุณบ้านหนองหารจาง อำเภอ    น้ำพอง จังหวัดขอนแก่น จบ นธ. โท นธ.เอก และปธ.2) ช่วงนี้กิจกรรมประจำวันคล้าย ๆกัน ยังเป็นนักเรียน นักศึกษา
........ตีสี่ตื่นนอนทำวัตรส่วนตัวที่ห้องนอน ตีห้าทำวัตรรวม สว่างลงกวาดลานวัด เณร ตักน้ำใส่ตุ่ม ปัดกวาดศาลาฉัน เตรียมบาตรให้หลวงพี่ หกโมงครึ่งเตรียมออกบิณฑบาตร รับบาตรจากเณรก็เดินแถวเข้าหมู่บ้าน ไม่สวมรองเท้า ไม่วอกแวก ตาจ้องไม่เกินเจ็ดก้าว ไม่พูด คนจะใส่บาตร เปิดบาตรให้แผ่เมตตาให้ อย่ามองหน้าเขา โดยเฉพาะสาว ๆ สำรวม ให้มาก เสร็จก็ผ่านไป ไม่ต้องให้พร เพราะอาบัติ ห้ามพูดจาขณะเดินในบ้าน บาตรเต็ม หยุดรับ เดินกลับวัดเลย โยมจะใส่รู้เขาจะตามไปตักบาตรที่วัดเอง ถึง วัดเณรจะรับบาตร ไปเอาสิ่งของที่มิใช่ข้าวออกใส่ถาดรวมไว้ โยมเขาจะแยกจัดแต่งเป็นสำรับเอง บาตร
วางเรียงแถวไว้ คนที่จะตักบาตรเพิ่มก็ตักได้เลย สองโมงตรงลงศาลา สามเณรเขาจัด ที่นั่งฉันเรียบร้อย นำบาตรมาถวาย ยกสำรับอาหารถวาย คนที่สมาทานธุดงค์ฉันเฉพาะที่ มีในบาตร ก็ไม่รับสำรับที่เป็นถาด ฉันเสร็จก็ให้พร จบภาคเช้า ถ้าเป็นวันพระ คนมาเยอะ เขาจะจัดถวายสังฆทาน และไม่ให้ไปบิณฑบาตร
........วันพระหรือวันมีทำบุญสังฆทานต่าง ๆ บาตรจะจัดตั้งไว้ที่สำหรับให้ชาวบ้านใส่บาตร พระลงศาลาเจ็ดโมงครึ่ง ชาวบ้านพร้อม มัคทายกจุดธูปเทียนบูชาพระ สวดมนต์ไหว้พระ รับศีล อาราธนาพระปริตตมงคล พระเจริญพระพุทธมนต์ เพิ่มบทไชยมงคลคาถา(พาหุง) โยมเริ่มตักบาตร พวกจัดสำรับกับข้าวก็ทำไปจนเสร็จ มัคทายกนำกล่าวคำถวายสังฆทาน ยกบาตรถวาย ยกสำรับกับข้าวถวาย อาราธนาเทศน์ หัวหน้าเทศน์ ที่เหลือฉันไป เทศน์จบ พอดีให้พรได้พร้อมกัน โยมส่วนหนึ่งก็กลับ บางส่วนรอรับทานอาหาร หัวหน้าฉันลำพัง รูปเดียว ที่เหลือก็กลับ บางรูปก็รอหัวหน้า โยมช่วยจัดการสำรับ ล้างถ้วยชาม แล้วมานั่ง รับประทานอาหารกัน จบภาคฉันเช้า
.........สามโมงครึ่งพระเณรที่เรียนนักธรรมลงห้องเรียน ครูสอนนักธรรม ตรี โท เอก ก็ สอนกันไปจน ห้าโมง หยุดพักฉันเพล และพักผ่อน บ่ายโมงครึ่งลงเรียนภาคบ่าย ไปเลิก โน่นสี่โมงครึ่งพร้อม ๆนักเรียนโรงเรียนประถม ช่วงพรรษาที่ 2-3 อยู่สำนักเรียน ได้เรียน นักธรรม เรียนบาลี และเรียนเทศน์ปุจฉาวิสัชนา เทศน์หกกระษัตริย์ ตารางแน่นจริง ๆ เช้าเรียนนักธรรม บ่ายเรียนบาลี วันพระ 8 ค่ำ 15 ค่ำ เรียนเทศน์ ทำวัตรเช้าเย็นมีปกติ เตรียมลงทำวัตรเย็น พระปลงอาบัติก่อนทำวัตร สามเณรสมาทานรับศีล 10 ทุกวันพระ ใหญ่ เพราะไม่มีปลงอาบัติแบบพระ ทำวัตรเย็นจนจบก็เสวนากันตามเรื่องราวที่มีใครหยิบมา
หารือ ไม่มีก็แยกย้ายเข้าที่พัก ดึกหน่อยก็ทำวัตรส่วนตัว แผ่เมตตา พิจารณากัมมฐาน เหนื่อยแล้วก็หยุดพักหลับนอน
.........นอกเหนือกิจประจำ ยังมีกิจพิเศษแถมามากบ้างน้อยบ้าง งานทำบุญบ้าน ลักษณะงานมงคลต่าง ๆ คล้าย ๆกัน เขานิมนต์ไปเจริญพระปริตตมงคล ฉันเช้า บางบ้าน มีเทศนาด้วย เช่นขึ้นบ้านใหม่ ทำบุญบ้านโอกาสสำคัญ ๆ แต่งงาน ทำขวัญคนหายเจ็บป่วย งานอวมงคลกรณีคนตาย ทำบุญเนื่องด้วยคนตาย 3 วัน 7 วัน 100วัน มีเรื่องตื่นเต้นตอน บวชได้เจ็ดวันมีคนตาย หลวงปู่ว่า พวกมึงไปให้บุญเขา เป็นสาวสวยนาติดกันเคยหยอกล้อ กันก็บ่อย แกป่วยนานแล้วแหละ ตายตอนซักสองโมงเช้า โยมรีบมาบอกให้ท่องบทสวด ธัมมสังคิณี บังสุกุล และบทอนุโมทนา แกถามว่าท่องทันใหม่ บ้านนอกเขาห้ามท่องบ่น มันอาถรรพ์แรงแพ้ทำให้ชาวบ้านเสียชีวิตได้ง่าย ก็ไม่มีปัญหาหรอก แอบท่องในห้องนอน บ่อยจนจำได้ คนอื่นไม่รู้ จากนั้นมางานมงคล อวมงคล ต้องไปทำหน้าที่พระให้ชาวบ้าน รู้สึกเขาพอใจ พระเณรรุ่นนี้สวดคล่องไม่มีติดขัด ก็เพราะจบทำวัตรจะนัดทบทวนกับ 1 บท เสมอ เช่นวันนี้ ทำวัตรเช้าเสร็จ ซ้อมมงคลสูตร เย็นทบทวนรัตนสูตร วนเวียนไป เพื่อช่วย คนที่จำยากนั่นเอง ช่วงมาอยู่สำนักเรียน งานพวกนี้มีมาก แต่พระเณรเยอะ แบ่ง ๆ กันไป เลยไม่เหนื่อย
..........บุญจากการเทศน์ ปกติชาวบ้านจำศีลแปดค่ำ สิบห้าค่ำ มีประมาณ 25-30 คน เช้า ๆ หกโมงเศษจะได้ยินเสียงระฆัง ให้พระลงไปให้ศีลแปด ทำวัตรเสร็จพอดี เราต้อง รับบทนี้ประจำ หลวงปู่สั่งไว้ กลางวันโยมจะนั่งกรรมฐานกัน จนบ่ายจะเคาะระฆังอีกครั้ง ขอฟังเทศน์ 1 กัณฑ์ เขามีหนังสืออานิสงส์ให้อ่าน แต่เราไม่ชอบ เพราะแต่งซะเกินไป เช่น ทานเข็มเล่มเดียวเกิดชาติหน้าสติปัญญาเฉียบแหลม ทานข้าวก้อนหนึ่งไปเกิดใน สวรรค์วิมานสูงเป็นโยชน์บริวารนับร้อยนับพัน เลยอ่านเอาแต่สาระถ้าจะมีนิทานหรือชาดก
ก็อ่านแล้วเล่าเอง เทศน์แบบนี้ปรากฏว่าโยมชอบมาก งานไหนก็งานไหนสั่งไว้เลยให้ หลวงพี่เป็นคนเทศน์ สมัยมาอยู่สำนักเรียน ได้เรียนเทศน์ รู้จักหลักการเทศน์ดีขึ้น อาจารย์พาไปฝึกเทศน์บ่อย ๆ จนปล่อยให้เทศน์เอง ไปบ่อยเพราะสำนักเรียนนี้โด่งดัง มานาน มีงานเทศน์เข้ามามาก คนเทศน์ขาดก็ดึงเอามือใหม่ไปเสริมบ้าง จำได้ว่าแรก ๆ ได้ไปสัก 3 งาน ปี 2-3 เกิน 10 งาน เคยไปไกลถึงเวียงจันทร์ เทศน์หกกระษัตริย์ เขา เคยฟังทำบุญกฐิน หานักเทศน์ใกล้ ๆไม่มี เลยตามมาจนถึงขอนแก่น พระเทศน์ชอบมาก หญิงชายฟ้อนรอบธัมมาสน์ มีติดกัณฑ์เทศกันวนรอบศาลา จบก็เอาเงินกีบมายัดย่ามถวาย
ตอนข้ามมาฝั่งไทยแลกได้สามร้อยบาท เยอะนะสมัยโน้น
........พรรษาที่ 4-7 จำพรรษาที่วัดศรีบุญเรือง จังหวัดเลย เจ้าคณะจังหวัด สีหนาทภิกขุ นักเทศน์ปากกรรไกรคมกริบ ได้ศึกษาผลงานและรูปแบบการเทศน์ของท่าน แอบเอามาใช้ บ้าง ท่านหัวเราะบอกว่ามหาเทศน์แบบนี้มีบางคนไม่ชอบนะ ระวังจะไม่มีคนใส่บาตรให้ อยู่ที่วัดนี้ได้เรียนด้วย ได้เป็นครูด้วยสอนนักธรรม สอนบาลีและสอนการศึกษาผู้ใหญ่ จบ ปธ.3 ปธ.4 ช่วยสอนบาลีให้อาจารย์ วุฒิ. ม.6 ช่วยสอนคณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์ การศึกษาผู้ใหญ่ของวัดได้ด้วย ที่เล่ามานี่คือเป็นธรรมทานน่ะครับ มีโอกาสทำค่อนข้างมาก บุญกุศลก็ส่งผลให้เราสอบ พ.กศ. สองปีแรก ส่วน พ.ม. สอบปีเดียวได้เลย ลือกันทั่ว บ้านติ้ว มีโยมมาขอดูตัวด้วยนะ เออตอนนั้นผอม ๆ ดำ ๆ ไม่ค่อยมีใครรู้จัก เพราะทำแต่งาน สอน ๆ ๆ ๆ โยมชวนไปเที่ยวกินข้าวป่า ไม่ว่าง ชวนไปเยี่ยมนาข้าว ไม่ว่าง แบบนี้ ไง ถึงไม่มีใครรู้จัก พอข่าวพระวัดนี้ สอบวิชาชุด พม.ยกชุดในการสอบครั้งเดียว ถึงได้มาขอดูหน้าหน่อย อ้อ สอบได้วิชาชุดวิทยาศาสตร์ ด้วย พระอะไรสอบได้ชุดวิชาวิทยาศาสตร์ ครูไปอบรมเป็นเดือน ยังสอบไม่ค่อยจะผ่าน โห พวกโยมไม่   รู้นี่นา จบ ม. 6 คะแนนคณิต วิทย์ เต็ม สอนการศึกษา ผู้ใหญ่สองวิชานี้หาครูยากมาก หลวงพ่อบอกว่า   มหาช่วยสอนหน่อย หาครูได้ค่อยเปลี่ยน จนสึกก็ยังหาครูมาสอนไม่ได้ เพราะส่วนมากเป็นครูสตรี   ชวน  มาสอนพระเณร ไม่เอา
.........การปฏิบัติรักษาศีล แรก ๆก็ไม่รู้ แต่พวกเราจะสอบธรรมตรีกัน ท่องธรรมวินัย กัน เพื่อนให้เราเป็นผู้นำการสอน ครูจริง ๆ ไม่มีก็ตกลงให้อ่านหนังสือแล้วมาสัมมนากัน ส่วนวินัยคือศีล 227 ข้อ เลยถึงบางอ้อ ศีลพระอยู่นี่เอง จำได้ติดปากจะเอาไปสอบ อ่านวิธีการแก้ไขเมื่อมีปัญหาละเมิดศีล เดือนแรกพรรษาท่องจบแล้ว ไปเห็นหนังสือ พระภิกขุปาฏิโมกข์ เข้าใจว่าเป็นเทศนาที่พระพุทธเจ้าตรัสวันมาฆบูชา เอามาอ่าน ปรากฏว่าไม่ใช่ แต่เป็นศีล 227 ข้อ ที่เป็นภาษาบาลี มีคำแนะนำว่าพระต้องฟังสวด
ปาฏิโมกข์เพื่อทบทวนศีล ทุก 15 วัน อ้าววัดเราจะไปฟังสวดที่ไหน เจอหลวงปู่ก็เลย ถามท่านบอกว่าสวดไม่ไหวแล้ว ให้ไปลงอุโบสถวัดเจ้าคณะตำบล วัดพระอุปัชฌาย์เรา นั่นแหละ คนสวดคือพระอาจารย์สมชาย พระกรรมวาจารย์เรานั่นเอง ได้คุยกับท่าน ทราบว่าท่านท่องอยู่เป็นปี เล่มเล็ก ๆเองทำไมท่องนานจัง กลับมาวัดก็เลยลองท่องเล่น ๆ 15 วัน ท่องจบ ทำวัตรเย็นเสร็จ ทบทวนทุกวัน ออกพรรษาก็ลองสวดให้พระอุปัชฌาฟัง ท่านชอบใจ ถวายผ้าให้ 1 ไตร บอกต่อไปช่วยท่านสมชายสวดได้เลยก็ได้สวดบ่อย ๆ เพราะท่านอายุมาก ได้รางวัลผ้าไตรทุกปี ดังนั้นการรักษาศีลก็ง่ายเพราะรู้จักทุกข้อ ส่่วน
กรรมฐาน พระอุปัฌาย์ให้มาวันแรกที่บวช เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ อนุโลมปฏิโลม อยู่ห้องนอนก็ทำบ่อย ๆ แต่ผลไม่น่าพอใจ วิธีสติปัฏฐานจะทำให้เกิดสมาธิง่ายกว่า
.........ได้ตอบแทนพระคุณพ่อแม่โดยไม่รู้ตัว พ่อแม่เป็นคนไร่คนนา ขยันมาก พระ บิณฑบาตรถนนห่างบ้าน 100 เมตร เลยไม่ค่อยไปใส่บาตร ช่วงเราบวชแกล้งพาลูกน้อง แวะตามทางเดินผ่านรั้้วไป ไม่ใส่บาตรไม่ได้แล้ว พระมาเห็น ๆ มากันทั้งคุ้มเลย วันพระเห็นใส่ชุดขาวมาจำศีลกะเขา นึกขำในใจนะ พ่อเป็นคนเรียนหนังสือเก่ง ลายมือก็ สวยไปท่องบทสวดต่าง ๆมา นำสวดมมนต์ไหว้พระได้ มัคทายกเดิมท่านเสียตอนพรรษา ที่ 2 พ่อเลยสืบทอดตำแหน่งไม่มีผู้แข่ง ปีที่เราสอบเปรียญ 3 ได้ เขาเรียกพ่อมหา แม่มหา หน้าบานยังกะกระด้ง ราศีสดใสทั้งสองตายาย ก็เลยนึกได้
........แทนพระคุณพ่อแม่เราทำได้ ทำมานานแล้ว สมัยเรียนประถม สอบเสร็จ ครูประจำ ชั้นแวะมาบ้าน คนที่มาชี้หน้าด่าเรากำลังดื่มนมแม่นั่นแหละ รู้ทีหลังแกแอบมาบอกข่าวว่า ลูกชายมีงสอบได้ที่ 1 ได้เหล้าขาวฟรี 1 ขวด ๆไปโรงเรียนก็เห็นประกาศได้ที่ 1 จริง ๆ ขนาดตอนเรียน ป. 2 คนมาบอกข่าวแลกเหล้ายังเป็นคนเดิมนะ เพราะแกเป็นเพื่อนพ่อ สองตายายนี่ก็บ้ายอ เสียเหล้าฟรีก็เต็มใจ หมดไปเยอะเหมือนกันนะ สมัยนั้นสอบซ้อม 3 เทอม เทอมปลายมีสอบไล่อีกครั้ง เป็นสอบสี่ครั้ง เสียเหล้าฟรี 4 ขวดต่อปี 4 ปีก็ 16 ขวด มัวแต่ไปนับเหล้า ลืมไปว่านั่นเราทำให้พ่อแม่ปลื้มใจ เป็นการตอบแทนคุณที่ยอด เยี่ยม เพราะช่วยให้แกอิ่มอกอิ่มใจตลอดมา เราก็บ้าสอบได้ที่ 1 ปีละ 4 หน เรียนมัธยม 6 ปี ปีละ 4 ครั้ง ฝีมือไม่ตก ตอนบวชก็เช่นกัน นักธรรมตรี โท เอก พ่อแกรู้ข่าวก่อนใคร เพราะแกชอบเอาของไปถวายพระอุปัชฌาย์ วัดใกล้บ้านห่าง 5 กม.เอง วัดเจ้าคณะที่ เป็นสนามสอบ ผลสอบออกประกาศที่นี่ก่อน เห็นหน้าโยมก็หัวเราะบอก โชคดีอีกแล้ว ลูกชายได้นักธรรมตรี....โท...หลังจากนั้นย้ายไปเรียนบาลี เป็นเรามาแจ้งข่าวเอง ได้ เปรียญสามพ่อว่า น่าจะฉลองพัดยศนะ คนแรกของบ้านเราเชียวนะ เราขำ ๆ ไม่ให้ทำ เพราะประโยชน์น้อย ได้โอ้อวดอย่างเดียว ไม่ใช่ใบปริญญาจะได้เอาไปสมัครงานได้
........ตอนแม่เสียยังเป็นพระมหาอยู่ยังไม่สึก ได้ดูแลแม่จนลมหายในเฮือกสุดท้าย สาย ตาที่มองดูเราด้วยความห่วงใย ขอโทษแม่นะที่ฉันผิดสัญญา ตกลงกันบวชสามเดือน จะสึกออกมาแต่งงาน แต่ล่วงสามปีเข้าแล้วยังไม่สึก คงอยากเห็นลูกมีครอบครัวมีลูกมี หลานนั่นแหละ พ่อโชคดีกว่าทันได้เห็นลูกชายบรรจุเป็นครู ยืนกว่านั้นสักปีเดียวก็ได้เห็น ลูกสะใภ้แล้ว แต่งงานแล้วถึงได้พาไปเคารพเจดีย์สองตายาย ขอโทษนะพ่อและแม่ ชะตาชีวิตบางทีก็กำหนดได้ยาก แต่เชื่อนะว่าทุกสิ่งที่กระทำไป ช่วยให้พ่อแม่ภูมิใจได้ เสมอมา
...........ผลดีที่ได้บวชเรียนพระธรรมวินัย บวชแล้วได้ทำหน้าที่หัวหน้าคณะแทนท่าน เจ้าอาวาส ทำให้

ได้เรียนรู้การบริหารงานของคณะสงฆ์ ได้สนใจการปฏิบัติตามพระธรรม วินัย รู้จักอาบัติ รู้การทบทวนศีลทุก 15 วัน รู้วิธีปลงอาบัติ อาบัติที่ปลงได้ ปลงได้แต่มี เงื่อนไข นิสสัคคีย์ ต้องสละสิ่งที่ทำให้ต้องอาบัติก่อนค่อยปลงได้ สังฆาทิเสส ต้องอยู่ ปริวาสและมาณัติก่อนจึงจะขออัพภาณโดยคณะสงฆ์ วีสติวรรคได้ ส่วนปาราชิก 4 ข้อนั้น ไม่ต้องทำอะไรเพราะมันปลงอาบัติไม่ได้ ผิดแล้วขาดสภาพภิกษุทันที ไม่ต้องให้ใครบอกไม่ต้องให้ เขาเสียเวลาลงมติ
...........สึกออกมาสอบบรรจุเป็นข้าราชการครู ครูตรี โก้ดีเหมือนกัน พ่อดีใจมาก ข่าวว่า คุยให้ชาวบ้านเขารู้คงจะครบทุกครัวเรือนแล้ว เพราะแกเป็นมัคทายกด้วย เสียดายไม่ถึง สี่เดือนเลยพ่อล้มเจ็บลง ด้วยโรคยอดฮิตที่ชาวบ้านเขาเป็นกัน ฝีในท้อง กว่าจะแสดง อาการก็เจ็บหนักแล้ว พาไปโรงพยาบาล ฟังหมออธิบาย ก็ไม่สบายใจนักหมอว่ามาช้า ไประยะสุดท้ายแล้ว ก็ลามาเฝ้าดูพ่อช่วยพวกพี่ ๆ คราวละ 5 วันแล้วก็กลับไปลาใหม่ ที่สุดพ่อก็จากไปเสียใจมากเหมือนกัน เพราะการได้เป็นข้าราชการคือสุดยอดความคาด หวังที่แกอยากให้เป็นนับแต่ส่งไปเรียน ม.1 น่าจะมีโอกาสได้ดีใจเป็นสุขนาน ๆกว่านี้ หน่อย
..........ยาวมากจริง ๆ ขอสรุปแหละนะ การทำบุญทดแทนคุณพ่อแม่นั้น ต้องทำกัน ตลอดชีวิตเลยแหละ ใช่บวชสิบห้าวันสามเดือนจะเพียงพอ ยิ่งบวชแบบไม่รู้เทคนิคการ สร้างบุญด้วยละก็ เสียเวลา พระทำบุญด้วยวิธีเดียวกับเราคือ บุญกริยาวัตถุ 3 ทำทานได้ บุญ ปฏิบัติศีล และภาวนา ได้บุญ ถามดูว่า บวช 15 วัน 3 เดือน ได้ทำบุญกี่มากน้อย ดีไม่ดีสู้ ลูกสาวอยู่กับพ่อแม่ ทำมาหากินเลี้ยงดูพ่อแม่ให้มีข้าวปลาอาหารบริโภค ให้มี เสื้อผ้านุ่งห่ม เจ็บป่วยดูแลใกล้ชิด มีโอกาสก็พาไปทำบุญทำทาน พาไปท่องเที่ยว ทำได้แบบนี้จะดีมากเลย กรทำบุญตอบแทนพ่อแม่ที่ดีมาก ๆคือการทำให้ท่านดีใจ เป็นสุข และภูมิใจในสิ่งที่เราทำ ผมขยันตั้งใจเรียนสอบได้ที่ 1 ประจำ พ่อแม่เป็นสุขและภูมิใจ ขนาดเราไม่ค่อยอยู่บ้าน พี่สาวบอกบ่นหาแต่มึง ได้ปลาตัวโต ๆ ทำปลาแดดเดียว จะ เก็บไว้ให้มึง ดีที่พี่สาวพี่ชายเข้าใจ ไม่อิจฉา ช่วงที่พ่อแบ่งมรดกให้ เราก็แจ้งพวกพี่ ๆ ว่าส่วนที่พ่อยกให้เรานั้น ยกต่อให้พี่สาวคนที่เลี้ยงดูพ่อแม่นั่นแหละ ผมเป็นครูคงไม่คิด มาทำนาหรอก ความจริงคือมันไม่มากมายอะไร ให้พี่เขาเถอะเขาอยู่กับบ้าน จบได้แล้วนะครับ ...


.

*************