.......วันนี้ 28 มิถุนายน 2561 อยากเล่าประสบการณ์การแต่งกาพย์สู่กันฟัง โดยเฉพาะท่านที่ชอบอ่านบทร้อยกรองที่กระผมเขียน ซึ่งแต่งด้วยกาพย์มาก กว่าร้อยกรองชนิดอื่น บททักทาย อวยพรวันเกิด บันทึกเรื่องราว ชอบใช้กาพย์ มากกว่าโคลงกลอน สาเหตุเพราะถนัด โดยเฉพาะกาพย์ยานี กาพย์ชนิด อื่น ๆ ก็แต่งบ้างแต่ไม่มาก
.......แต่งกาพย์ก็เหมือนร้อยกรองชนิดอื่น ๆ นั่นแหละ สิ่งแรกคือจดจำแผน ผังบังคับ บทกาพย์ยานีที่ช่วยผมจำแผนผังบังคับได้ดี...ได้แก่
.......พระเสด็จโดยแดนชล.........ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย
........กิ่งแก้วแพร้วพรรณราย.......พายอ่อนหยับจับงามงอน ฯ
........ทบทวนแผนผังบังคับจากบทนี้ บทหนึ่งมี 2 บาท บาทหนึ่งมี 2 วรรค วรรควางข้างหน้า 5 คำ ข้างหลัง 6 คำ รวมวรรคหน้า + หลัง บาทละ 11 คำ เวลาอ่านจังหวะจะเป็น 2-3 และ 3-3 เช่นนี้ทุกบาท สังผัสนอกคือบังคับว่า.....
........สัมผัสบังคับ คำท้ายวรรคที่หนึ่ง ส่งให้คำที่ 3 วรรคที่ 2
........สัมผัสบังคับ คำท้ายวรรคที่ 2 ส่งสัมผัสห้ำท้ายวรรคที่ 3 จบบังคับ
........คำท้ายบทจะส่งสัมผัสให้บทถัดไป ตรงคำท้ายวรรคที่ 2
........ข้อสังเกต วรรคที่ 3 และวรรคที่ 4 ไม่มีบังคับสัมผัสแบบกลอนแปด
........ความไพเราะของกาพย์ยานี นิยมใช้สัมผัสในช่วย ตัวอย่างที่ยกมาจัด
เป็นกาพย์ที่แต่งได้ไพเราะมาก
.........1..วรรคที่ 1 สัมผัสพยัญชนะ ด 3 คำ
.........2. วรรคที่ 2 สัมผัสพยัญชนะ ฉ 2 คำ
.........3. วรรคที่ 3 สัมผัสพยัญชนะ ก 2 คำ พยัญชนะ พ 2 คำ และมี
สัมผัสสระเสียง แอว 2 คำ
........4. วรรคที่ 4 มีสัมผัสเสียงสระ อับ 2 คำ สัมผัสพยัญชนะ ง 2 คำ
........หมายเหตุ สัมผัสในที่เกิดมากมายเช่นนี้ มิใช่กฏหรือข้อบังคับ แต่เป็นรสนิยมของผู้แต่ง ท่านทราบกาพย์ยานี จะมีความไพเราะมากขึ้น ถ้า
........มีสัมผัสใน ประเภทสัมผัสพยัญชนะ มากกว่าสัมผัสสระ
........เสียงท้ายวรรคในบทหนึ่ง ๆ เป็นไปตามธรรมชาติ การอ่านทำนองเสนาะจะคล่องรื่นไหลดี ถ้าวรรคที่ 2 ลงด้วยเสียงสูง โดยเฉพาะเสียงจัตวา วรรคอื่น ๆส่วนมากมักเป็นเสียงสามัญ ส่วนเสียงอื่นก็มีบ้าง
.........ลองแต่งกาพย์ยานี..........บังคับมีตามแผนผัง
.........สิบเอ็ดคำระวัง................แต่งให้ครบตามกระบวน
.........แต่งให้ครบจำนวนคำตามแผนผัง ไม่ได้นึกถึงความไพเราะ ได้สัมผัสในคู่เดียวคือ แผนผัง คำมันบังคับเสียง ผ 2 คำ จะลองเสริมสัมผัสในเพิ่ม
..........กรองกานท์กาพย์ยานี.......คำควรมีพบแผนผัง
..........สิบเอ็ดพากเพียรยัง...........ลงคำครบจบกระบวน
..........เสริมสัมผัสในมีทุกวรรค อ่านรื่นมากขึ้น เลยได้ข้อสรุปว่าแต่งกาพย์ยานี ต้องรู้จังหวะการอ่านออกเสียงของกาพย์ ตือ 2-3 และ 3-3 อย่าให้มีคำคร่อมจังหวะ เพราะจะอ่านสะดุด เช่น
..........พระเสด็จโดยแดนชล พระเสด็จ 3 พยางค์ แต่มีสองคำ เสด็จพยางค์แรกเสียง ลหุ ลงจังหวะกาพย์ 2 คำ เลยไม่ติดขัด
..........พระดำเนินโดยทางเรือ ดำ ถือเป็นลหุจริง แต่เสียงหนัก ทำให้คร่อมจังหวะต้องอ่าน พระดำ...เนิน โดยทางเรือ กลายเป็น 6 คำ ผิดฉันทลักษณ์วรรคหน้า 5 คำ จังหวะ 2+3
...........กาพย์ยานีสิบเอ็ด...........คำ กาพย์ยานี คร่อมจังหวะ 2+3
...........เฉลิมขวัญวันเกิด............คำ เฉลิมขวัญ อ่านแยกไม่ได้ คร่อมจังหวะ
...........สดุดีราชัน....................คำ สดุดี คร่อมจังหวะ
...........จากตัวอย่างจะพบว่า จำนวนคำวรรคหน้ากำหนดให้มี 5 คำ/พยางค์กาพย์ยานีสิบเอ็ด เฉลิมขวัญวันเกิด และคำ สดุดีราชา จำนวนคำครบตามบังคับแต่อ่านจังหวะ 2-3 ไม่รื่นติดจังหวะต้องอ่านฉีกคำ กาพย์ยา...นีสิบเอ็ดเฉลิม...ขวัญวันเกิด สดุ...ดีราชา อ่านได้แต่ดู ตลกดี จัดคำลงให้พอดีกับ
จังหวะจะอ่านเพราะกว่า
...........นับคำกาพย์ยานี อ่าน 2-3 ได้
...........เฉลิมวันเกิดนุช...เฉลิมอ่านลำพังไม่ต้องพ่วงคำขวัญ
...........ราชันสดุดี..........อ่าน2-3 ได้
...........กรณีวรรคหลังกำหนดมี 6 คำ จังหวะ 3-3 ก็ควรเลือกคำลงให้พอดีถ้ามีคำคร่อม ก็จะทำให้อ่านสะดุด ไม่เพราะ เช่น
...........กระบวนจะยาตรา.........มหากษัตริย์ดำเนิน
...........ชลมารคพระก็เพลิน......ชมปลาชมนกมากมี
...........ปลาชะโดสวาย.............ปลากรายปลาเค้าแปลกสี
...........ปลาสลาดกระดี.............ปลาเสือปลาแรดกดคัง
...........จำนวนคำใส่วรรคหน้า 5 วรรคหลัง 6 บังคับสัมผัสก็ตามแผน แต่อ่านยังไงก็ไม่เป็นกาพย์ยานี 11 ให้ เพราะจังหวะคำวางไม่ดีนั่นเอง ลองปรับจังหวะให้เป็น 2-3 และ 3-3 ดู
............กระบวนจะยาตรา อ่าน 2- 3 ได้.....ขัตติยาจักดำเนิน อ่าน 3-3 ได้
............ชลมาร์คพระเพลิดเพลิน อ่าน 2-3 ได้ ปรับคำนิดหน่อยให้สัมผัส พ
.............มัตสยานานามี อ่าน 3-3 ได้
.............ชะโดแลสวาย อ่าน 2-3 ได้
.............งามปลากรายเค้าหลากสี อ่าน 3-3 ได้
.............สลาดปลากระดี่...อ่าน2-3 ได้
.............แรดกดคังโน่นเสือปลา อ่าน 3-3 ได้
.......กระบวนจักยาตรา................ขัตติยาจักดำเนิน
.......ชลมาร์คพระเพลิดเพลิน........มัตสยานานามี
.......ชะโดแลสวาย.....................งามปลากรายเค้าหลากสี
........สลาดปลากระดี่..................แรดกดคังโน่นเสือปลา
........พอจัดคำลงจังหวะได้ อ่านก็เป็นกาพย์ยานี 11 ได้ทันทีเหมือนกัน แสดงว่าจังหวะของกาพย์ยานี 11 สำคัญไม่น้อย เวลาฝึกแต่ง นอกจากจะจดจำจำนวนคำแล้ว ยังต้องรู้จังหวะแต่ละวรรคด้วยจะช่วยให้กาพย์ อ่านง่ายขึ้น
.........สรุปสาระจากเรื่องที่นำเสนอคือ แต่งกาพย์ยานี 11 ทุกบาทมีจังหวะเป็น2-3 และ 3-3 คล้ายกันตลอด ผู้ฝึกแต่งควรวางคำให้ตรงจังหวะการอ่านด้วย จะช่วยให้กาพย์ที่แต่งอ่านคล่องมากขึ้น กาพย์จะอ่านเพราะถ้ามีสัมผัสในย จะใช้สัมผัสสระก็ดี สัมผัสพยัญชนะ ก็เพราะ กวีที่แต่กาพย์ยานี อ่านเพราะมาก ๆ พบว่าท่านนิยมสัมผัสในเป็นสัมผัสพยัญชนะมากกว่าสัมผัสสระ......... ดูกาพย์อย่างอื่นมั่ง
ลองแต่งกาพย์สุรางคนางค์
.......ผมใช้วิธีเดิม ๆ ครับ คือหาบทกาพย์ที่จำได้มาศึกษาแผนผังบังคับ เคยดูแผนผังกาพย์สุรางคนางค์ จะมี 4 บรรทัด บรรทัดแรกวางไว้วรรคเดียว ที่เหลือวาง 2 บรรทัดบทที่จำได้ดีจากกาพย์พระไชยสุริยาครับ
................................พระชวนนวลนอน
เข็ญใจไม้ขอน ...........เหมือนหมอนแม่นา
ภูธรสอนมนต์..............ให้บ่นภาวนา
เย็นค่ำร่ำว่า.................กันป่าไภยพาล
..............................วันนั้นจันทร
มีดารากร..................เป็นบริวาร
เห็นสิ้นดินฟ้า...............ในป่าท่าธาร
มาลีคลี่บาน................ใบก้านอรชร
.............................. เย็นฉ้ำน้ำฟ้า
ชื่นชะผะกา............... วายุพาขจร
สาระพันจันทน์อิน.......รื่นกลิ่นเกสร
แตนต่อคลอร่อน.........ว้าว่อนเวียนระวัน
..........กำหนดแต่งวรรคละ 4 คำ จำนวน 7 วรรค ลงตัว 28 คำตามชื่อกาพย์ วางจังหวะคำแบบ2-2 ทุกวรรค สัมผัสนอกหรือบังคับ ดังนี้
.........1. คำท้ายวรรคแรกส่งให้คำท้ายวรรคที่ 2 จบ ไม่ต่อไปวรรค 3
.........2..คำท้ายวรรค 3 รับสัมผัสระหว่างบท และส่งต่อคำท้ายวรรคที่ 5
.........3. คำท้ายวรรคที่ 5 ส้งสัมผัสให้คำท้ายวรรคที่ 6 จบสัมผัสบังคับ
.........กาพย์ท่านสุนทรภู่ แถมสัมผัสเกินมาที่ไหนบ้าง (คำท้ายวรรค 2....วรรค 3)อย่างด้วยก็ได้ บอกไว้ตรงนี้เพื่อทราบเฉย ๆ(คำท้ายวรรค 6 ....วรรค 7) แผนผังไม่ระบุให้มี ท่านสุนทรภู่แถมมา อ่านไพเราะดี จะเอา แผนผัง วางแบบนี้ จะดูง่ายไม่ตาลาย
.........ความไพเราะกาพย์ใช้สัมผัสในช่วย สัมผัสพยัญชนะใข้ได้ทุกวรรค ส่วนสัมผัสสระควรระวังอย่าใช้เสียงสระเดียวกันกับสระที่เป็นสัมผัสบังคับ เหมือนตัวอย่างที่ยกมา ทำให้สัมผัสเลื่อน สัมผัสเฝือ ท่านสุนทรภู่ชอบสัมผัสในอยู่แล้วท่านก็แต่งเอาไพเราะเป็นสำคัญ ส่วนเรา ๆ แต่งตามแบบแผนไปก่อน เก่งแล้วค่อยลองนอกแบบ
.....................................................ลงธารชมปลา
..................ยากนักแลหา..............น้ำมันขุนมัว
...................เห็นน้ำกระเพื่อม.........แลเลื่อมชวนหัว
..................คงจักเห็นตัว................กลับเป็นก้อนดิน
......................................................เด็กยิงกระสุน
..................หนังยางยิงวุ่น..............เสียวหัวลูกหิน
..................โดนเจ็บจริงแท้.............คงแย่ลูกบิน
...................แสบแสนสุดสิ้น............คงได้ด่ากัน
.......................................................ลอยเต็มท่าธาร
....................ถุงซองปลาหวาน.........ขยะสาระพัน
....................พลาสติคกระดาษ.........ประหลาดนักขัน
.....................อีกหน่อยคลองตัน.......ขยะเต็มมากมาย
........................................................อยากให้ช่วยกัน
.....................จัดที่จัดสรร................ขยะเหลือหลาย
.....................ทิ้งให้เป็นที่.................มิมีวุ่นวาย
......................ขจัดอันตราย.............ขยะควบคุม
........................................................บ้านเรือนสดใส
....................ขยะหายไป..................มลพิษมิรุม
.....................ต้นหญ้าเริ่มงอก...........ไม้ดอกไม้พุ่ม
.....................มินานครอบคลุม...........เต็มบ้านเต็มเมือง
........................................................จัดระเบียบดี
.....................คัดรูปคัดสี...................ประเทิงประเทือง
....................งามตางามใจ.................ดอกไม้ขาวเหลือง
....................แลรุ่งแลเรือง.................จัดให้ดูงาม
..........กาพย์สุรางคนางค์ แต่ยากตรงจัดสัมผัสตามแผน ถ้าจัดวางแบบนี้จะสังเกตง่ายหน่อยท้ายวรรคหนึ่งส่งท้ายวรรคสอง ตัด ท้ายวรรคสามรับสัมผัสบทก่อนหน้าและท้ายวรรค ห้าวรรคห้าส่งให้วรรค หก และตัดแค่นี้ แถวหน้า 3 วสรรค มีส่งสัมผัสวรรคเดียวคือวรรค 4
ข้อสังเกตเพื่อจำง่าย มีสัมผัส 3 เส้นทางคือ
..............1. คำท้ายวรรคที่ 1 ส่งคำท้าย ววรค 2 ตัดไม่ส่งต่อ
..............2. คำท้ายวรรค 3 รับสัมผัสบทก่อนน้า และส่งให้คำท้ายวรรค 5 ส่งต่อไปท้ายวรรค หก
..............3. คำท้ายวรรค 4 ส่งคำสองวรรคห้า
.............กาพย์จังหวะ 2-2 อ่านสนุกดี จัดสัมผัสก็ไม่ยากเกินไป น่าจะลองแต่งเล่นดู ชมนก ชมไม้
ชมปลา ก็ง่ายดี ลองดูครับ
ลองกาพย์ฉบังมั่ง
..........ฉบัง 16 เป็นกาพย์ที่ผมจำได้มากมาย จะเอามาเป็นแบบศึกษาแผนผังบังคับเลยไม่ยากจากบทสวดมนต์ประจำสัปดาห์ครับ จากบทสวดมนต์วันศุกร์ที่โรงเรียนน่ะครับ
สวดระลึกธรรมคุณ
(นำ) ธรรมะคือคุณากร...............(รับพร้อมกัน) ส่วนชอบสาธร
ดุจดวงประทีปชัชวาล...............
แห่งองค์พระศาสดาจารย์...............ส่องสัตว์สันดาน
สว่างกระจ่างใจมนท์...............
ธรรมใดนับโดยมรรคผล...............เป็นแปดพึงยล
และเก้ากับทั้งนฤพาน...............
สมญาโลกอุดรพิสดาร...............อันลึกโอฬาร
พิสุทธิ์พิเศษสุกใส...............
เป็นกาพย์ฉบัง 16 สบายผมเลย การจัดจังหวะ 2 คำตลอด เป็น 2-2-2....2-2...2-2-2 เป็น 3 วรรครวมคำ 6+4+6 เป็น 16 คำพอดี สัมผัสบังคับ ดังนี้
.........1. คำท้ายวรรคแรก ใช้รับสัมผัสระหว่างบทด้วย
.........2. สัมผัสในบทมีคู่เดียวคือ คำท้ายวรรที่หนึ่ง ส่งให้คำท้ายวรรคที่ สอง
........จากตัวอย่าง คงแต่งไม่ยาก เพราะจังหวะคำเป็นคู่ ๆ ชมนก ชมปลา ง่ายดี
เพราะส่วนมากชื่อพยางค์เดียว
..........ปลาช่อนปลาหมอปลาหลด..............ปลานิลปลากด
...........ปลาบู่ปลาคังปลากราย
...........นกเขานกขาบปีกลาย.......................นกเจ่าตัวร้าย
...........นกยางอีลุ่มกาแวน
..........สรุปจะแต่งกาพย์ฉบังให้นึกบทสวดมนต์เอาไว้แทนแผนผังบังคับ จังหวะคำเป็นคู่ ๆ 3 วรรค 6-4-6 คำ สัมผัสบังคับในบทมีคู่เดียว คำท้ายวรรคหนึ่ง ไปคำท้ายวรรคสองคำท้ายบทส่งให้คำท้ายวรรคที่สองบทถัดไป....สัมผัสในนิยมสัมผัสพยัญชนะมากกว่าสัมผัสสระ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น