วันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

หัดแต่งโคลง




                                                     โต๊ะคอมที่นั่งทำงานทุกวัน
...........โคลงเป็นคำร้อยกรองที่ผมฝึกหลังจากกาพย์และกลอน ซึ่งแต่ละอย่างเขียน ไม่น้อยกว่าพันบท ทั้งเขียนเล่น บทสองบทหรือเต็มหน้ากระดาษ อย่างนี้เรียกเขียน เล่นสนุก ๆ และแบบเขียนเป็นเรื่องเป็นราว ยาว ๆ เช่น นิราศโตเกียว แต่งด้วยกลอน ยาว 70 หน้ากระดาษ A-4 นิทานอีสป 100 เรื่อง แต่งด้วยคำกาพย์ แต่เติมวรรคละ 6 คำ ให้อ่านสนุก ก็ถึงตอนนี้มั่นใจว่า กลอนแต่งได้แล้ว ต่อไปน่าจะหัดโคลงบ้าง ไม่มีลีลาอะไร หักคอเขียนเลย พาเพื่อนจาก ม.เกษตร ไปเที่ยวภูกระดึง ปี 2523 ตั้งใจเลยจะบันทึกด้วยโคลง ถามตัว เองว่าทำไม
กลัวโคลงนักหนา คงเพราะแบบนี้กระมัง
..........1. ที่ไม่ชอบโคลงเพราะคำเอก คำโท โดยเฉพาะคำ เอกโท คู่กันที่ต้องใช้ ในบาทที่ 2 และบาทที่ 4 แก้ปัญหาด้วยการฝึกหาคำเอก คำโท และคำ เอก+โท ฝึกค้นหาคำเอก คำ โท สมุดซักหน้า ดินสอ จดลงไป คำที่มีไม้เอก ๆ ๆ ๆ ๆนั่นแหละคำเอก ฝึกหาคำเอก คำโท และคำเอกโทชิดกัน จดในสมุดบันทึกดูว่าจะหายากไหม
...........
คำเอก น่า ย่า ข่า ตี่ พี่ สี่ ปี่ ป่า ปู่ เอาจริงพบว่า ไม่ยากนี่นา
ต่อไปก็เปลี่ยนจดคำที่มีไม้โทบ้าง เพราะนั่นเขาเรียกคำโท
............
คำโท ใกล้ ไข้ ก้อง ข้อง จ้อง ร้อง พ้อง รู สู้ ป้อง พอหาได้อยู่นะ
ต่อไปหาคำที่เป็นคู่ คำเอกและโท ได้น่าไม่เกินกำลังหรอก
............
คำ เอกโท เช่น พี่ป้า พี่น้อง พี่เชื้อ พ่อค้า แม่น้ำ แม่ค้า แต่งแต้ม ยั่วแย้ม
นึกว่าจะคิดไม่ออก ไหลมาเป็นน้ำหลากทีเดียว
..........คำตายแทนคำเอก เป็นการลดหย่อนให้ กรณีหาคำเอกไม่ได้ ให้ใช้แทนได้
..........
2. คำตาย ที่บอกว่าใช้แทนคำเอกได้ แบบไหน....   คำที่ผันวรรณยุกต์ เอก โท ตรี จัตวา ผันยาก เลยเรียกว่าคำตาย ตัวอย่าง คำประสมสระสั้นในแม่ ก กา เช่นคำว่า
..........กะ กุ ติ รึ ลองผันด้วยไม้เอก ไม้โท....ดูซิว่าออกเสียงยากไหม ยากอย่างไร
.........คำที่มีตัวสะกด แม่ กก กด และ กบ เช่นคำว่า นก จก ตก รด ปด บด จบ รบ คบ คำพวกนี้ลองผันด้วยวรรณยุกต์ ดูแล้วจะรู้เองว่าผันยาก เป็นอย่างไร คำทั้งสองแบบนี้เองที่เขาเรียกคำตาย อนุโลมใช้แทนคำเอกได้
..........
.(3) คำสุภาพ ตั้งชื่อตามกติกาการแต่งโคลงที่มีบังคับให้ใช้คำ 3 อย่างคือ คำสุภาพ คำเอก 7 คำโท 4 นั่นแหละ คำสุภาพในที่นี้หมายถึงคำที่ไม่ปรากฏรูปวรรณยุกต์ ตัวอย่าง มี เยอะแยะไป ในแต่ละบรรทัด ดูเอาเองครับ คำไหนมีไม้เอก คำไหนมีไม้โท ไม้ตรี คำนั้น ๆ ก็เรียก คำเอก คำโทและคำตรี คำจัตวา ต่างกันไป ส่วนคำที่ไม่มีรูปวรรณยุกต์ก็เรียกคำสุภาพ แค่นี้เองครับ
............ลงมือฝึกหาคำชนิดต่าง ๆ คำสุภาพ คำเอก คำโท คำตาย จนมั่นใจว่ารู้จักดีแก้ปัญหาที่เคยคิดว่าเป็นอุปสรรคเรื่อง คำเอก คำโท คำเอก-โทและคำตาย ก็หมดไป
............4. ยังติดขัดอะไรอีก คงจะเป็นแผนผังบังคับ ก็ท่องจำกันบ่อย ๆนี่นา
-----------------บทนี้ก็ท่องจำ
.............เสียงลือเสียงเล่าอ้าง.......อันใด พี่เอย
........เสียงย่อมยอยศใคร...............ทั่วหล้า
........สองเขือพี่หลับไหล................ลืมตื่น ฤาพี่
........สองพี่คิดเองอ้า......................อย่าได้ถามเผือ
-----------------บทนี้ก็ท่องตามครูสั่ง
. ...........จากมามาลิ่วล้ำ..............ลำบาง
........บางยี่เรือราพลาง.................พี่พร้อง
........เรือแผงช่วยพานาง..............เมียงม่าน มานา
.........บางบ่รับคำคล้อง..................คล่าวน้ำตาคลอ

...........จากโคลงแม่บทที่ท่องตามครูสอนนี่แหละ เอามาวิเคราะห์แผนผังโคลงสี่สุภาพ
ได้เป็นอย่างดี ดังนี้

...........(1) จำนวนคำ วรรคแถวหน้ามี 5 คำ เท่ากันทุกบาท วรรคแถวหลัง สองคำยกเว้นบาทที่ 4 มีจำนวน 4 คำ บาทที่ 1 และ 3 เติมสร้อยได้ 2 คำ
...........(2) บังคับให้ใช้คำเอก 7 คำโท 4 อยู่ที่ไหนบ้าง
................เอก 7 (บาทที่ 1 คำที่ 4)...(บาทที่ 2 คำที่ 2 และคำที่ 6) (บาทที่ 3 คำที่ 3 และคำที่ 7) (บาทที่ 4 คำที่ 2 และคำที่ 6) รวม 7 คำ
.................โท 4 คำ อยู่บาทที่ 1 คำที่ 5 บาทที่ 2 คำที่ 7 บาทที่ 4 คำที่ 5 และคำที่ 7
..........(3). คำตายล่ะที่ใช้แทนคำเอกได้ ได้แก่ คำประสมสระเสียงสั้นใน แม่ ก-กาเช่น จะ ติ ล่ะ นะ ยุ ลุ มุ และคำสะกดด้วยแม่ กก กด และ กบ เช่น นัก รัก ปัก ปก รกเกียจ เรียบ ซักซ้อมอีกที ยังไปได้สบาย ๆนี่นา จะใช้ก็เมื่อจนใจหาคำเอกไม่ได้ ถ้ายังพอหาได้ก็ไม่ต้องใช้ครับ
...........(4) คำสุภาพ คือคำที่ไม่ปรากฏรูปวรรณยุกต์ เอก โท ตรี จัตวา เช่น พี่ ย่า นั่น เล่นเรียกคำเอก เพราะเห็น ไม้เอกกำกับอยู่ ส่วนคำ ร้อง น้อง ใช้ ไว้ เต้น เรียกคำโท เพราะเห็นไม้โทกำกับอยู่ ส่วนคำ กา หนู ดู เห็น เป็น คง ลง ถือเป็นคำสุภาพ ไม่มีรูปวรรณยุกต์...โคลงที่เราฝึกกันเป็นโคลงสุภาพครับ โคลงสี่สุภาพ บังคับให้ใช้ เอก 7 โท 4 พยายามใช้ให้พอดีครับ ถ้าเกินล่ะ เกินก็ไม่ผิด แต่ถ้าแต่งประกวดเอาคะแนน ก็กลายเป็นจุดเสียให้กรรมการหักคะแนนได้

............รู้จักแผนผังบังคับ ตำแหน่งคำเอกคำโท และลักษณะคำที่ใช้แล้ว ต่อไปก็น่าจะลงมือแต่งดูบ้าง ผมฝึกครั้งแรก ใช้วิธีกำหนดตำแหน่งคำเอก คำเอกโทในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับการหา คำเอกคำโทมาใช้นั่นเอง

ฝึกหาคำเอกคำโท

............คำเอกโทติดกัน สำหรับใช้ในบทที่ 1 คำที่ 4-5 บาทที่ 2 คำที่ 6-7 และบาทที่4คำที่ 6-7
............เอก-โท เช่น พี่น้อง ไม่รู้ อยู่บ้าน อ่านได้ ร่ำร้อง แก่นแก้ว อยู่บ้าน ต่างบ้านคำตาย+คำโท เช่น นกร้อง นักร้อง ขัดข้อง นักสู้ ขับสู้ ปกป้อง ปัดป้อง ปิดป้องลองไปมาก็พบว่า ไม่ยากอย่างที่คิด
ฝึกข้อความกำหนดตำแหน่งเอก โท ตัดมากแผนผังโคลงมาฝึก
.............ฝึกกำหนดตำแหน่งคำเอกคำโท โดยเฉพาะคำเอก-โท เมื่ออยู่ในบทโคลง
..............1.คำที่ 4-5 ในบาทที่ 1 ลองดูจะหายากไหม
..................จากมาเผือห่างห้อง จากนางเรียมร่ำร้อง แลหาเห็นแต่บ้าน  มากมายนักหมู่ต้น และไพรมากไผ้ขึ้น ชมนกเสียงหมู่แก้ว นานานกแขกเต้า
...............2. คำเอกอยู่ตำแหน่งคำที่ 2 ใน บาทที่ 2 เช่น อกพี่หมองมัวมล ขวัญพี่หายหนใด แลส่องสอดสายตา จดจ่อใจเจ็บเจียน ลวงล่อหลอกหยอกเอนรักแม่แทบขาดใจ รักแม่เทียมปฐพี
..............3. คำเอกอยู่ตำแหน่งคำที่ 3 ในบาทที่ 3 เช่นปลาทองไล่ปลาเงิน ปลาดุกซ่อนซอกหิน
ปลากาว่ายดังกา
..............4. ฝึกหาคำ สองคำ มีคำเอกอยู่หลัง เช่น นาแม่ รักพ่อ รักแม่ เห็นพี่  บาทที่ 3 คำที่ 6-7 ใช้
..............5. ฝึกหาคำ เอกคำโท คู่กัน คำท้ายบาทที่ 2 และคำที่6-7 บาทที่4 ต้องใช้เช่น พี่นี้ พี่เอื้อย ร่ำร้อง ตื่นเต้น แต่งให้ ส่องแจ้ง
............จากการฝึกเลือกคำมาใช้ เช่น คำเอก คำโท คำเอกชิดคำโท คำเอก ในตำแหน่งต่าง ๆผลที่ได้คือความคล่องตัวในการสรรหาคำมาใช้ ช่วยให้การแต่งโคลงสะดวกและง่ายยิ่งขึ้น
ลงมือฝึกหัดแต่งโคลง
...............1. ลงมือเรียบเรียงข้อความให้เป็นเรื่องเป็นราว โดยจัดวางรูปแบบคล้ายโคลง ดร.อัมพร สุขเกษม เคยสอนให้ตอนเรียนปริญญาตรี ยังจำได้ดีครับ
1.1 เรียบเรียงถ้อยคำ วางรูปคล้ายโคลง
....................ตั้งใจจะไปชม.................ลำธาร
.................ริมฝั่งมีที่นั่ง........................ร่มไม้
.................แลดูหมู่ปลาใน...................ลำธาร
.................ปลาซิวปลาตะเพียน...........ปลาบู่ปลากราย
1.2 ปรับแก้ไข ให้เข้ากับรูปแบบโคลง
..................บาทที่ 1 ขาดคำเอกโท ตรงคำที่ 4 และ 5 ปรับแก้เป็น ใจหมายชมตั้งต่อ
..........................ได้ ใจหมายชมตั้งต่อ..........ลำธาร
...................บาทที่ 2 คำเอกคำโทอยู่ถูกที่แล้ว ขาดสัมผัสคำที่ 5 ปรับแก้ใหม่เป็น
ริมฝั่งพักสราญ........ร่มไม้
....................บาทที่ 3 ขาดสัมผัสคำที่ 5 คำที่ 6-7 ขาดคำเอก
....................................แลดูหมู่ปลาบาน.......ใจยิ่ง
....................บาทที่ 4 คำที่ 2 ต้องการเอก คำที่ 5 ต้องการคำโท คำที่ 6 และ7 ต้องการ
คำเอกและโท ปลาตะเพียนเป็นใบ้............อยู่ใกล้ปลากราย
.......................1.3 ปรับปรุงให้ดูดี สละสลาย
..............................ใจหมายชมตั้งต่อ..........ลำธาร
..........................ริมฝั่งพักสราญ...................ร่มไม้
...........................แลดูหมู่ปลาบาน................ใจยิ่ง
...........................ปลาตะเพียนเป็นใบ้............อยู่ใกล้ปลากราย

ตรวจกับแผนผังบังคับดู ใช่โคลงสี่สุภาพหรือยัง



..........การแต่งโคลงโดยยกร่างด้วยความเรียงธรรมดาก่อน จะช่วยให้ได้โคลงมีใจความรัดกุมเป็นเรื่องเป็นราว เมื่อชำนาญแล้วก็ไม่จำเป็น ลงมือแต่งได้เลย
...................2. การแต่งโคลงด้วยวิธีเลียนแบบ โคลงแม่บท เสียงลือเสียงเล่าอ้าง หรือจากมามาลิ่วล้ำ ท่องจำจนขึ้นใจ จะแต่งโคลงถ้านึกภาพไม่ออก เอกโท อยู่ตรงไหนถามโคลงหลักสองบทนี้ จะจำได้ทันที ถามบ่อย ๆที่สุดก็จำได้เอง ลงมือฝึกมาก ๆ ลองสัก 50 บท เชื่อได้เลยว่าแต่งโคลงสี่ได้แน่นอน
……………3.ความไพเราะของโคลง เมื่ออ่านโคลงที่มีความไพเราะ ลองถามตัวเองดูว่าทำไมคิดว่า ชอบ ไพเราะตรงไหน..........
.....................3.1 เสียงและความหมายของคำและข้อความ เพราะ กินใจ เช่นเสียงลือเสียงเล่าอ้าง อันใด พี่เอย
.....................3.2 สัมผัสใน ทั้งสัมผัสสระ สัมผัสพยัญชนะ เช่น จากมามาลิ่วล้ำ ลำบาง
......................3.3 ใจความดี ถูกใจ กระทบใจ เช่น โคลงหลักทั้ง 2 บท อ่านเมื่อใดก็ชอบ ได้แก่บท เสียงลือเสียงเล่าอ้าง กับบท จากมามาลิ่วล้ำ ลำบาง
......................3.4 ความสามารถในการเล่นคำ คำเดียวหลายความหมาย พ้องรูปพ้องเสียง
......................3.5 ใช้คำอุปมาอุปไมย คมคาย
......................3.6 ใช้สำนวนโวหารที่รู้กันทั่วไป
......................3.7 ใช้คติธรรมคำสอนแทรกในบทโคลง
.............โคลงสี่สุภาพ เป็นหลักให้โคลงชนิดอื่น ๆ ได้ โดยการตัดบางบาท บางวรรคปรับแก้สัมผัส ผมเคยตัดต่อให้เป็นโคลงสอง โคลงสาม วิวิธมาลี โคลงบาทกุญชรตลอดจนโคลงดั้นต่าง ๆ ถ้าเราแต่งโคลงสี่สุภาพคล่องแล้ว การแต่งโคลงชนิดอื่น ๆก็ไม่ยากแล้ว ดังนั้นจึงควรฝึกแต่งโคลงสี่สุภาพให้ชำนาญ จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาฝีมือได้ดียิ่ง ข้อเขียนนี้มิใช่ตำรา เป็นเพียงการเล่าประสบการณ์การฝึกแต่งโคลงของกระผมเอง ที่ฝึกแบบเอาเป็นเอาตาย เพราะอยากเขียนได้คล่อง เช่นเขียน
นิราศภูกระดึง ได้โคลงมากกว่า 300 บท เขียนโคลงสอนหลาน 400 บท โคลงนิราศเมืองเหนือ มากกว่า 400 บท ถึงตอนนี้โคลงที่ว่ายาก ๆ ก็ไม่ยากแล้ว ต่อไปจะนำโคลงสี่ไปพัฒนาเป็นโคลงอื่น ๆดูครับ

การพัฒนาโคลงสี่สุภาพ เป็นโคลง 4 ตรีพิธพรรณ

...........เป็นการนำรูปแบบโคลงสี่สุภาพมาศึกษา ว่าคล้ายกับโคลงชนิดอื่น ๆตรงไหนบ้างผมหยิบโคลง 4 ตรีพิธพรรณมาอันดับแรก เพราะดูแผนผังบังคับแล้วต่างกันนิดหน่อยกับ............1. จำนวนคำที่ใช้ โคลงสี่สุภาพ จำนวนคำ แต่ละวรรค แต่ละบาท จำนวนคำสร้อยตลอดจนรูปแบบการจัดวางคำ เหมือนกันทุกประการ
............2. เอก 7 โท 4 มีเท่ากัน แถมวางตำแหน่งเดียวกันด้วย เหมือนกันทุกประการอีก
............3. สัมผัสบังคับในบท ตำแหน่งคำส่ง ตรงกันคือ คำที่ 7 บาทที่1 และคำที่ 7 บาทที่ 2
............ 4. คำรับสัมผัส ต่างเฉพาะคำรับบาทที่ 2 ปกติ ใช้คำที่ 5 เปลียนมาใช้คำที่ 3 แทนจึงตั้งชื่อ ตรีพิธพรรณ
............5. คำรับสัมผัสอื่น ๆ ในบาทที่ 3 และบาทที่ 4 เหมือนโคลงสุ่ภาพ

..............................ใจหมายชมตั้งต่อ..........ลำธาร
...........................พักสราญ..ริมฝั่ง..................ร่มไม้
...........................แลดูหมู่ปลาบาน................ใจยิ่ง
...........................ปลาตะเพียนเป็นใบ้............อยู่ใกล้ปลากราย
..............เดิมเป็นโคลงสี่สุภำพ เอามาปรับแก้บาทที่ 2 ให้คำรับสัมผัส ราญ อยู่ตำแหน่งคำที่ 3 เป็น พักสราญริมฝั่ง...........ร่มไม้ คำราญอยู่ตำแหน่งคำที่ 3 ลงตัวกลายเป็นตรีพิธพรรณตามต้องการ


การพัฒนาจากโคลงสี่สุภาพเป็นโคลงสี่จัตวาทัณฑื
............1. รูปแบบโครงสร้าง คล้ายโคลงสี่สุภาพ บทหนึ่งแต่ง 4 บาท บาทหนึ่งมี 2 วรรควรรหน้า 5 คำ วรรคหลัง 2 คำ เว้นบาทที่ 4 วรรคหลังมี 4 คำ บาทที่ 1 บาทที่ 3 เติมสร้อยได้ 2 คำ
.............2 ข้อแตกต่างจากโคลงสี่สุภาพ อยู่ที่ สัมผัส ในบาทที่ 2 คือ คำที่ 2 - 3 สัมผัสสระและใช้คำที่ 4 รับสัมผัสบังคับ นอกนั้นเหมือนโคลงสี่สุภาพ
..............บาทที่ 2 แก้ไขให้มีสัมผัสสระตรงคำที่ 2...3 คำที่ 4 รับสัมผัสบังคับ เลยต้องรื้อแก้ไขเป็น ริมฝั่ง...นั่ง นานเย็น นอกนั้นคงเดิม ได้บทใหม่ตรงตามข้อกำหนด จัตวาทัณฑี



.............ดูแผนผังแล้วลองแต่งดู

..............................ใจหมายชมตั้งต่อ..........ลำธาร
...........................ริมฝั่งนั่งนานเย็น..................ร่มไม้
...........................แลดูหมู่ปลาบาน................ใจยิ่ง
...........................ปลาตะเพียนเป็นใบ้............อยู่ใกล้ปลากราย
ลองตรวจกับแผนผังบังคับดู



การพัฒนาโคลงสี่สุภาพ เป็นโคลงกระทู้ โคลงสามและโคลงสอง
..............(1)โคลงสี่ กระทู้ คำว่ากระทู้แปลว่าหัวข้อ กระทู้อาจใช้คำเดียว 2 คำ 3 คำ มากที่สุดคือ 4 คำ โดยวางกะทู้ไว้ต้นวรรคของแต่ละบาท ปกตินิยมใช้คำที่รู้จักกันทั่วไปเป็นกระทู้เช่น (กระทู้คำเดี่ยว)เพื่อน กิน หา ง่าย ......เพื่อน ตาย หา ยาก (กระทู้สองคำ ) เช่นรักดี หามจั่ว รักชั่ว หามเสา รูปแบบการจำวรรคตอน จะแยกกระทู้วางไว้หน้าวรรคแรกนอกนั้นเหมือนโคลงสี่สุภาพ ทั้งตำแหน่งเอก โท และสัมผัสบังคับ



ตัวอย่างการแต่งโคลงกระทู้
..............................คำ...สรรค์โคลงที่สร้าง.................เสกสรร ดูเฮย
.........................คำ...เอกตรงเอกกัน...........................บ่งแจ้ง
.........................คำ...โทที่โทพลัน...........................เติมแต่ง แลนา
.........................คำ...ส่งรับจับแสร้ง...........................ส่องให้ฟัดกัน
...............................ตามแผน....ผังว่าไว้.....................จำนวน....คำแฮ
..........................ตามกรอบ...นับดูควร........................ครบถ้วน
...........................ตามชอบ...ส่งรับชวน.......................ตรงคู่ ดีแฮ
...........................ตามติด...สอบดูล้วน........................สอดสร้อยดูดี

...............นอกจากโคลง 4 แล้ว ยังมีโคลงสอง โคลงสามที่กวีสมัยก่อนนิยมแต่ง ในบทประพันธ์ประเภท ร่าย ลิลิต จะพบมีปะปนอยู่

..............(2) โคลง 2 สุภาพ เป็นการตัดแผนผังโคลงสี่สุภาพ บาทที่ 1 และบาทที่ 4 มาต่อกันเข้า บาทที่ 1 วรรคแรก เอามาทั้งตำแหน่งเอกและโท จะได้ 5 คำ บาทที่ 4 ยกมาหมดจะได้ 9 คำ จะเป็นอย่างนี้คิอ 5 + 5 + 4 (2) คำที่ตัดมาตำแหน่งคำ เอก โท คงไว้ตำแหน่งเดิมแถมคำสร้อย วรรคสุดท้ายได้ 2 คำ ก็เป็นโคลง 2 สุภาพ



ระบายสีข้อความที่จะตัดไปแต่งเป็นโคลงสอง

....................จักสรรโคลงแต่งให้...............พอดี
...............โคลงแรกแตกไปมี......................ต่างได้
................โคลงสองแบ่งไปที.....................ลองแต่ง
................เลือกจัดคำมาใช้.........................แต่งให้แปลงดู

...........เมื่อมีโคลงสี่สุภาพสัก 1 บท เอามาตัดแปลงเป็นโคลงสองสุภาพ จะเป็นอย่างไร

................จักสรรโคลงแต่งให้.........เลือกจัดคำจักใช้.........แต่งให้แปลงดู (แลนา)จากโคลงสี่...(วรรคแรกบาทที่ 1)...........(บาทที่ 4 ทั้งหมด.และ.เติมสร้อย 2 คำ)

..............(3) โคลงสามสุภาพ ก็คือโคลง 2 สุภาพนั่นเอง ตัดมาจากโคลง 4 สุภาพเหมือนกันเพียงแต่เพิ่มคำไว้ข้างหน้า 5 คำ ทำให้มีคำ 4 วรรค เป็น 5+5+5+4(2) วรรคแรกที่เติมมาจะส่งสัมผัสให้วรรคที่ 2 คำที่ 1-2-3 คำใดคำหนึ่ง
...............จากตัวอย่างตัดโคลงสี่สุภาพ ให้เป็นโคลงสองสุภาพ ทำได้ตรงแผนผังบังคับด้วยถ้าอย่างนั้น ก็แปลงเป็นโคลงสามได้ด้วยน่ะสิ ลองดู โคลงสามจะเพิ่มมา 1 วรรค และจัดวางใหม่เป็นบรรทัดละ 2 วรรค จะดูง่าย



.........(ว่างไว้เติม 5 คำ)............จักสรรโคลงแต่งให้
.........เลือกจัดคำมาใช้.............แต่งให้แปลงดู (แลนา)

.........ลองเติมดู

.........ฝึกหัดโคลงสามกัน........จักสรรโคลงแต่งให้
.........เลือกจัดคำมาใช้.............แต่งให้แปลงดู (แลนา)

...........ที่สุดก็เป็นโคลงสามสุภาพตามต้องการ


โคลงดั้น
.............เป็นคำประพันธ์ที่แต่งด้วยข้อกำหนดเพิ่มเติม ทำให้ต่างจากโคลงสุภาพ ที่สังเกตเห็นได้ง่ายคือ ตัดคำท้ายบทออก 2 คำ เหลือ คำที่ 1 ที่เป้นคำเอก และคำที่ 2 ซึ่งเป็นคำโทแล้วย้ายคำโทไปไว้วรรคหน้า ทำให้บาทที่ 4 คำที่ 4และ 5 เป็นคำโทคู่ สัมผัสบังคับ จะบังคับถึงระหว่างวบทด้วย ดังนั้นจะต้องแต่งอย่างน้อย 2 บท ถึงจะครบตามข้อกำหนด

โคลงดั้นมี 6 ชนิด ได้แก่
๒.๑ โคลงดั้นวิวิธมาลี
๒.๒ โคลงดั้นบาทกุญชร
๒.๓ โคลงดั้นตรีพิธพรรณ
๒.๔ โคลงดั้นจัตวาทัณฑี
๒.๕ โคลง ๓ ดั้น
๒.๖ โคลง ๒ ดั้น
................คิดจะฝึกแต่งโคลงดั้น ต้องอาศัยดูแผนผังบังคับ เพราะหาบทที่เคยท่องจำได้ไม่มี เลยต้องไปหาแผนผังบังคับมาใช้ แล้วลองแต่งตาม สำหรับผู้แต่งโคลงสุภาพได้แล้วมาลองแต่โคลงดั้น ก็จะเห็นได้ชัดว่า ไม่ได้ยากอะไร คล้าย ๆ โคลงสุภาพนั่นเอง ขยันฝึกบ่อย ๆ ก็แต่งได้เองแหละครับ ส่วนเพราะไม่เพราะ ว่ากันทีหลัง
...........แผนผังบังคับ โคลงสี่ดั้นทั้ง 4 ชนิด จัดแบ่งคำวางรูปแบบคล้ายกัน จะแตกต่างกันคือ
บังคับสัมผัส ดังนี้



โคลงสี่ดั้นวิวิธมาลี


............(1) สัมผัสบังคับในบท คำที่ 7 บาทแรก ส่งสัมผัสไปยังคำที่ 5 บาทที่ 3 ที่เดียว
............(2) คำที่ 7 บาทที่ 2 คำโท ส่งสัมผัสให้คำโทบาทที่ 4 ต้องคำที่ 4 มิใช่คำที่ 5
............(3) สัมผัสระหว่างบท ใช้คำท้ายบท...ส่งให้คำที่ 5 บาทที่ 2 บทถัดไป

...................................ลองสรรคำแต่งดั้น.................ดูงาม.......แม่เอย
..........................แบบวิวิธมาลี................................ใช่แล้ว
..........................เปิดผังแต่งตรองตาม........................คงใช่ แลนา
..........................ยากหน่อยบแคล้วต้อง.....................กัดฟัน
...................................สองบทเติมต่อสร้าง................จึงดี
..........................คำส่งรับเสกสรรค์............................จึ่งคล้อง
ติดตามบ่แปลกมี...............................มิต่าง........แลนา
..........................นึกไม่ออกจ้องแล้ว.........................บ่เจอ
.............นอกจากตัดคำท้ายบท ย้ายคำโทแล้ว นอกนั้นก็แต่งตามปกติเหมือนโคลงสุภาพบาทที่ 2 คำที่ 5 ที่งดสัมผัสในบท เอาไว้รับสัมผัสระหว่างบทนั่นเอง ยากไหม ไม่มีอะไรยุ่งยาก แถมลดคำไปตั้ง 2 คำ

โคลงสี่ดั้นบาทกุญชร

............(1)สัมผัสบังคับในบท คำที่ 7 บาทแรก ส่งสัมผัสไปยังคำที่ 5 บาทที่ 3 ที่เดียว
............(2) คำที่ 7 บาทที่ 2 คำโท ส่งสัมผัสให้คำโทบาทที่ 4 ต้องคำที่ 5 มิใช่คำที่ 4
ต่างจากดั้นวิวิธมาลี
............(3) สัมผัสระหว่างบท ใช้คำท้ายบท...ส่งให้คำที่ 5 บาทที่ 2 บทถัดไป (ผลทำให้มีคำท้ายบาท ที่เรียงกันอยู่ 3 บรรทัด กับคำที่ 5 บาทถัดกัน 3 บรรทัด ส่ง-รับสัมผัสกัน มองคล้ายเท้าช้างเดินสลับกัน)
..........................................บาทกุญชรชื่อดั้น...............ลองดู
....................................ยามแต่งตามเปิดแผน...............จดจ้อง
....................................คำโทเอกตามครู.......................เคยสั่ง แลนา
....................................ดูหน่อยโทนั้นต้อง.....................ต่อตรง
...........................................บทสองรับส่งให้...................ตรงผัง
.....................................วางนี่รับเจาะจง.........................บทต้น
.....................................มิยากเมื่อระวัง...........................ยามแต่ง ดีแล
.....................................สัมผัสดังช้างด้น........................ดุ่มเดิน


โคลงสี่ดั้นตรีพิธพรรณ

............(1)สัมผัสบังคับในบท คำที่ 7 บาทแรก ตัดออก ไม่ส่งสัมผัส
...........(2) คำโทบาทที่ 2 ส่งสัมผัสให้ทำโท คำที่ 4 บาทที่ 4
............(3) สัมผัสระหว่างบท ใช้คำท้ายบท...ส่งให้คำที่ 3 บาทที่ 2 บทถัดไป ทำให้ตั้งชื่อว่าตรีพิธพรรณ
.....................................ตรีพิธพรรฒว่าดั้น................ดุจเดียว
.................................ตอนแต่งตรองตามดู................รอบด้าน
.................................บทแรกบ่เห็นเชียว....................ตำหนิ แลนา
.................................ไปโผล่ออกก้านแก้ว................บทหลัง
......................................บาทสองจดจ่อไว้...............ชัดเจน
.................................คำที่ผังสัมผัส...........................ใช่แล้ว
.................................คำสามชื่อตรีเห็น......................บาทที่ สองแล
.................................โทที่สี่แจ้วเจื้อย........................ส่งเสียง


โคลงสี่ดั้นจัตวาทัณฑี



............(1)สัมผัสบังคับในบท คำที่ 7 บาทแรก ตัดออก ไม่ส่งสัมผัส
...........(2) คำโทบาทที่ 2 ส่งสัมผัสให้ทำโท คำที่ 4 บาทที่ 4
............(3) สัมผัสระหว่างบท ใช้คำท้ายบท...ส่งให้คำที่ 4 บาทที่ 2 บทถัดไป ทำให้ตั้งชื่อว่าจัตวาทัณฑี
............................จัตวาว่าดั้น.........................อีกควร
.........................เหมื่อนดั่งตรีพิธพรรณ............สู่รู้
..........................จับคำสี่กระบวน.....................รับส่ง
.........................จัตวากู้กล้า.............................ก่อโคลง
.............................บทสองชัดที่อ้าง.................จัตวา ทัณฑ์แล
.........................คำสี่รับโยงกัน.........................เรียบร้อย
.........................คำเหลือบ่แปลกตา..................ดีอยู่ แลนา
..........................ยากแต่ตรวจสร้อยให้..............คล่องความ


โคลงสองดั้น




............(1) โครงสร้างเหมือนโคลงสองสุภาพ ตัดวรรคสุดท้ายออกสองคำ แล้วย้ายคำโทไปวรรคหน้าเป็นคำโทคู่ เหมือนโคลงดั้นทั่วไป
............(2) คำโทวรรคแรกคือคำที่ 5 ส่งสัมผัสไปยังคำโทคู่ วรรคที่ 2 ตรงคำที่ 5 ไม่ใช่คำที่ 4
.............(3)คำท้ายบท ส่งสัมผัสให้คำที่ 1/2 หรือ 3 วรรคแรกของบทถัดไป

..................โคลงสองลองอย่างดั้น.................ลองแต่งดูแล้วสั้น...........แปลกดี
...................มีเพียรฝึกแต่งให้...........................เชิงเชี่ยวจึงรู้ได้...........ช่ำชอง
...................ตรองตามจักง่ายแท้......................ผิดตกเอาไว้แก้..............จึ่งงาม


โคลงสามดั้น



...........(1) โครงสร้างเหมือนโคลงสองสุภาพ ต่างตรงเพิ่มคำ หน้าวรรคแรกอีก 5 คำ ทำให้มี 4 วรรค วรรคที่ 3 คำวรรคที่มีคำโทคู่
............(2) คำท้ายวรรคแรก ส่งสัมผัสไปยังคำที่ 1/2/3 คำใดคำหนึ่งวรรคที่ 2
............(3) คำโทวรรคที่ 2 คือคำที่ 5 ส่งสัมผัสไปยังคำโทคู่ วรรคที่ 3 ตรงคำที่ 5 ไม่ใช่คำที่ 4
.............(4)คำท้ายบท ส่งสัมผัสให้คำที่ 1/2 หรือ 3 วรรคแรกของบทถัดไป

........................โคลงสามดังโคลงสอง...................ตามทำนองที่อ้าง
.....................ลองแต่งดูได้ล้าง................................โง่งม
.........................สมควรอีกสักบท.............................จำจดแผนอ่านไว้
.....................คำจัดลงแล้วได้...................................รื่นฤดี
.........................มีพลังจักเขียนต่อ............................มิรอคอยเริ่มแล้ว
......................คำหลั่งมาล้วนแก้ว.............................ก่องงาม

.............เขียนถึงการฝึกหัดแต่งโคลง ไม่นึกว่าจะยืดยาวขนาดนี้ เพราะเนื้อหาโคลงมีหลายชนิด โคลงสุภาพก็มาก โคลงดั้นก็มาก เขียนถึงอย่างละนิดละหน่อยมันก็ยาวมากจนได้แหละยิ่งคนเขียนขี้โม้อยู่ด้วย ภาษาที่เขียนก็ตามใจคนเขียน อย่ามาทึกทักว่าต้องเขียนแบบเขียนตำรับตำราแล้วกัน เพราะไม่ชอบเขียนแบบนั้น เขียนจากการอ่านตำรามาใช่ไหม ก็ใช่แหละก่อนจะแต่งโคลงได้ก็อ่านตำรามาไม่รู้กี่เล่ม อ่านบทกวีนิพนธ์ก็นับไม่ถ้วน สุดท้ายก็ลงมือฝึกแต่งแบบเอาเป็นเอาตาย ก่อนมาเขียนข้อความนี้ แต่งโคลงมามากไหม ไม่รู้สินะ ไม่เคยนับลองตามหาดูก่อน .....อ้อได้มาแค่นี้ก่อน วิธีตรวจสอบ คัดลอก URL ไปโพส ถามกูเกิล ก็ได้เฉพาะภาษาอังกฤษนะ ชื่อภาษาไทยไม่ต้องกอปไป

แหล่งอ้างอิงประสบการณ์แต่งโคลง

------------------------------
         URL คัดลอกมาจากหน้าเวบ ปกติคลิกก็วิ่งไปเปิดไฟล์ บลอกให้ ถ้าไม่เปิดก็เอาใหม่ เมาส์ระบาย
URL ที่จะเปิด แบบนี้ 


แล้วคลิกขวาที่แถบ จะมีคำสั่งให้เลือกไปที่ คลิกตรงไปที่นั่นแหละ เปิดได้ครับ
-------------------------------
คำโคลงที่แต่งมีมากเกินพันบท ไปดูเอาเองครับ
--------------------------------
โคลงสอนหลาน
http://khuntong52.blogspot.com/2017/06/blog-post_18.html
เซียงเหมี่ยงตอน1-20
http://newjarinya.blogspot.com/2017/10/1-20.html
เซียงเหมี่ยง 2 ตอน 21-40
http://newjarinya.blogspot.com/2017/10/2-21-40.html
เซียงเหมี่ยง3 ตอน 41-60
http://newjarinya.blogspot.com/2017/10/3-41-60.html
เซียงเหมี่ยง 61-76
http://newjarinya.blogspot.com/2017/10/61-76.html
นิราศไทรโยค1
http://newjarinya.blogspot.com/2017/10/1.html
นิราศไทรโยค 2
http://newjarinya.blogspot.com/2016/08/blog-post_30.html
ภูกระดึงรำลึก 1
http://newjarinya.blogspot.com/2017/10/2.html

ภูกระดึงรำลึก 2
http://newjarinya.blogspot.com/2016/08/1_2.html
ท้าวขูลูนางอั้ว 1
http://newjarinya.blogspot.com/2016/07/1_30.html
ท้าวขูลูนางอั้ว 2

http://newjarinya.blogspot.com/2016/07/2_51.html
โคลงนิราศเมืองเหนือ01
http://newjarinya.blogspot.com/2018/01/blog-post_21.html
โคลงนิราศเมืองเหนือ 02
http://newjarinya.blogspot.com/2018/01/blog-post_78.html
โคลงนิราศเมืองเหนือ 03
http://newjarinya.blogspot.com/2018/01/3.html














ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น