วันเสาร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

หัดแต่งฉันท์


นกหรือหมู นะ ไปเที่ยว


..........เขียนเล่าประสบการณ์ครั้งหัดแต่งกลอน กาย์และโคลงแล้ว ยังขาดเรื่องฉันท์ ถามว่าเคยฝึกแต่งฉันท์ไหม เคยซิครับ หัดมากกว่าร้อยกรองอย่างอื่นด้วย เพราะมัน ยากจริง ๆ อย่างอื่นหัดวันสองวันแต่งได้ แต่ฉันท์นี่เล่นเป็นสัปดาห์เลย แถมลืมง่าย ด้วย คงเพราะเบื่อไม่อยากจำ ต่อมาเลยใช้วิธีบังคับ เขียนเล่านิทานมันไปเลย เลย ได้นิทานคำฉันท์มา 2 เรื่อง คือท้าวกำกาดำคำฉันท์ และปลาบูทองคำฉันท์ ตลกดี สมน้ำหน้าอยากแต่งยากนัก ยังไม่สะใจเอาอีก ขุนทึงขุนเทืองคำฉันท์ .....ตอนนี้ไม่กลัวมันแล้วจะฉันท์โหดขนาดไหนก็ไม่กลัว ผมฝึกอย่างไร.....
...........ทำไมกลัวแต่งฉันท์นัก ถามตัวเองได้คำตอบว่า....
...........(1) มีหลายฉันท์เหลือเกิน จะแต่งอะไรดีล่ะ ในตำรามีมากมายก็จริง แต่ที่ นิยมแต่งไม่กี่ชนิดหรอก เช่น อินทรวิเชียรฉันท์ ภุชงคประยาตฉันท์ วสันตดิลกฉันท์ สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ ง่ายกว่าเพื่อนน่าจะเป็นอินทรวิเชียรฉันท์ ผมก็เริ่มที่ฉันท์นี้
...........(2) บังคับให้ใช้คำ ครุ ลหุ เห็นชื่อก็ถอดใจแล้ว อะไรเป็น ครุ อะไรเป็น ลหุ ต่อมาก็ทราบความจริงว่า ทุกคำ ทุก พยางค์ มันเป็น ครุ ลหุ อยู่แล้ว เราใช้คำโดย ไม่เคยถามตนเองเลยว่าคำนี้เป็น ครุ หรือ ลหุ โตจนแต่งงานมีลูกหลายคน ยังแยก ไม่ออก พอเอาจริงวิเคราะห์คำที่เราใช้นั่นแหละ มีคำอยู่ 2 ประเภท
พวกไม่มีตัวสะกด
...........คำในแม่ก กา ประสมสระสั้น เรียกคำลหุ มีเสียงเบา ถ้าประสมสระยาว เรียก คำครุ มีเสียงหนัก เช่น กะ-กา ติ-ตี ดุ-ดู
...........คำมีตัวสะกด แม่ กง กน กม เกย เกว กก กด กบ ไม่มีคำลหุ เป็นครุล้วน
...........พอศึกษาครุ ลหุ เข้าใจดีแล้ว ทุกคำพูดที่ใช้ ก็บอกได้คำไหนเป็นครุ คำไหน เป็น ลหุ ถึงตอนนี้ที่เบื่อเรื่อง ครุ ลหุ ก็หมดไป
............(3) จำแผนผังบังคับไม่ได้ ติดมาจากตอนเรียน ครูเขียนผังใส่กระดานให้ดู ความจริงไม่ต้องไปหัดวาดตามครูหรอก นั่นครูสอนนักเรียน แต่เราจะเขียนฉันท์ เลือก ตัวอย่างมาซักบทสองบทก็ใช้ได้แล้ว เช่นจากบทสวดมนต์
.....................องค์ใดพระสัมพุทธ.......สุวิสุทธสันดาน
................ตัดมูลเกลศมาร..................บ่มิหม่น มิหมองมัว
..............จากตัวอย่าง วรรคแถวหน้าที่ 5 คำ คำที่ 3 เป็นลหุ วรรคด้านหลังมี 6 คำ ครุ ลหุ อย่างละครึ่ง คำที่ 1-2 และ 4 เป็นลหุ
ตรงกับแผนผังบังคับของ อินทรวิเชียรฉันท์ 11


...........ด้วยวิธีนี้เราสามารถท่องจำคำฉันท์อื่น ๆ และเอามาใช้วิเคราะหฺแผนผังและบังคับได้โดยง่าย เช่นบท ปางเมือ่พระองค์ปรมพุทธ เป็นวสันตดิลกฉันท์ เป็นต้น
.............(4)ปัญหาขัดข้องอย่างแรง คือไม่ลงมือฝึกซะที ผัดวันแล้ววันเล่า ต้อง กัดฟันแหละถึงจะได้ฝึก พอฝึกมาก ๆ ก็ติดเอง
อินทรวิเชียรฉันท์ 11
……….ผมเริ่มฝึกอินทรวิเชียรฉันท์ 11 เพราะรูปร่างคล้ายกาพย์ยานี 11 มาก ลองสังเกตดูครับ
กาพย์ยานี 11
.................พระเสด็จโดยแดนชล.........ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย
...........กิ่งแก้วแพร้วพรรณราย............พายอ่อนหยับจับงามงอน ฯ
อินทรวิเชียรฉันท์ 11
.................องค์ใดพระสัมพุทธ............ สุวิสุทธสันดาน
..........ตัดมูลเกลศมาร....................... .บ่มิหม่น มิหมองมัว

.........จำนวนคำเท่ากัน วรรคหน้า 5 คำ วรรหลัง 6 คำ จังหวะอ่าน 2-3 และ 3-3 เหมือนกันอีก ข้อแตกต่างคือ กาพย์ไม่บังคับครุ ลหุ แต่ฉันท์มีบังคับไว้ วรรคหน้าแทรก ลหุ ไว้คำที่ 3 วรรคหลัง คำที่ 1-2 และ 4 เป็นลหุ สัมผัสบังคับในบทมี 2 แห่งคือ คำ ท้ายวรรคแรก ส่งให้คำที่ 3 วรรคสอง คำท้ายวรรคที่สอง ส่งให้คำท้ายวรรคที่ 3 ระหว่างบทต่อบท คำทายบทแรก ส่งสัมผัสไปยังคำท้ายวรรคที่สองบทถัดไป
ลงมือฝึกแต่งอินทรวิเชียรฉันท์ 11
........(1) ฝึกต่อคำ กลุ่มละ 5 คำ ให้คำที่ 1 -2 หรือ 3 รับสัมผัส
...........ต่อคำทีละห้า........มาลองเป็นไฉน........ไม่ยากนักลองดู....ก็จะรู้แปลกดี ........มีคนมาท้าทาย.......ง่ายหรือยากเชิญเลย.........เคยต่อเพียงสองคำ....พอจำได้ นึกขำ.......ลองทำนึกว่าหมู.........ดูแล้วมิง่ายเลย ฯ
............ลองฝึกกลุ่มละหกบ้าง.......ช่างยุ่งนักจักลองสรร.....สำคัญรับจับคำควร...ตามกระบวนการต่อคำ..........ทำเป็นแล้วก็มิยาก..........จะลำบากเพราะมิเคย
...........ฝึกต่อคำ ปกติเล่นกันทีละ 2 คำ เช่น พี่น้อง สองสาว ขาวผ่อง น้องนาง...ปรับมาเป็นต่อคำหลาย ๆพยางค์/คำ เอาไว้ใช้เวลานึกหาคำมาแต่งร้อยกรอง จะทำให้ นึกไม่ยาก และส่ง-รับ สัมผัสก็คล่อง
..........(2) ฝึกเลือกสรรคำสำหรับแต่งวรรคแถวหน้า จำนวน 5 คำ โดยให้คำที่ 3 เป็น ลหุ เป็นการพยิบวรรคหน้าของฉันท์มาฝึก เอาให้ชำนาญวางลหุคำที่ 3 ให้ได้ ...........ฝึกสรรจะนับคำ.........นำหน้าประกอบกัน..........คั่นกลางแหละคำเบา เขาขันเพราะสำเนียง......เสียงเพลงเพราะยิ่งนัก.....รักกันสมัคคี.... ดีใจเพราะพบพาน นานปีมิได้เห็น....เย็นจิตสนิทใน.......ใจหายมิวายห่วง.....ลงมือฝึกจริง ๆ จะพบว่า
มิยากที่จะกำหนด ลหุไว้ตำแหน่งคำที่ 3
..........(3) ฝึกเลือกคำสำหรับวรรคแถวหลังจำนวน 6 คำ ให้คำที่ 1-2 และ 4 เป็น ลหุ ค่อนข้างยาก ฝึกบ่อย ๆ ก็จะทำได้เอง ลองดู
.....ขณะนั่งมิใช่นอน.........ก็จะร้อนเพราะแดดแรง.........ฤจะแย่งหทัยเธอ...... มนะเพ้อพะวงหา........อุรพาละเมอหลง..........ก็พะวงมิรู้วาย......และขยายขจรไกล
..........ยากตรง 2 คำแรก ลหุ คู่ ค่อย ๆคิดหาไม่เกินความสามารถหรอก ได้สัก 5 กลุ่มคำก็ รู้แล้วว่าต้องวางอย่างไรจะตรงกับต้องการ 6 คำ ส่งและรับสัมผัสอย่างไร
..........(4) ฝึกจับคู่ วรรคหน้า 5 คำ วรรคหลัง 6 คำ แบบต่อคำ คำที่ 3 รับสัมผัส จะได้ฉันท์ คู่ละ 1 บาทพอดี
............เข้าป่าจะชมไพร...........เลาะไศลและแนวเนิน
............โน่นรุกขชาติชื่น...........แหละระรื่นสราญรมย์
.............มาลีก็เบ่งบาน.............มะลิลานพิลาสชม
.............แมงภู่วะวู่ว่อน..............เลาะขจรภิรมย์เชย
.............แต่นต่อมิรอช้า.............เพราะจะมาเสาะอาหาร
............ฝึกแบบนี้จะได้ทักษะการเลือกหาคำมาใช้ ฝึกวางคำลหุในตำแหน่งบังคับ และฝึก ส่ง-รับ สัมผัส ฝึกทีละ บาท ดูจะไม่ยากเกินไป
.............(5) ฝึก 2 บาท โยงสัมผัสให้เป้น ฉันท์ จากข้อ 4 ฝึกทีละบาท มาข้อ 5 ฝึกทีละ 2 บาท ให้มีสัมผัสระหว่างบาท จากคำท้ายบาทแรก ส่งให้คำท้ายวรรคแรก บาทถัดไป วรรพที่ 4 ไม่ต้องสัมผัส
............จำปีแหละจำปา..............มะลิลาผกากรอง
.............ลำเจียกกระเจียวปอง.......ก็จะเด็ดและเก็บกัน
ฝึกต่อ
..............ดอกดวนกะชวนชม...........ก็นิยมเพราะหอมหวน
...............บานชื่นจำปีชวน..............พิศชมภิรมย์ใจ
ฝึกต่อ
…………….งามพุทธชาติบาน.............ก็ละลานและหลากสี
...............จำปาแหละจำปี................ก็ระรื่นระเริงรมย์
............(6) ฝึกวางลหุในกลุ่มคำแบบต่าง ๆ การแต่งฉันท์ ยากเพราะบังคับลหุ บางฉันท์ลหุติด ๆกันหลายคำทำให้แต่งยากไปเลย ต้องฝึกบ่อย ๆให้ชำนาญ โดยนำแผนผังฉันท์ที่อยากแต่ง มาฝึกรวบรวมคำตามจำนวนคำแต่ละวรรค พร้อม กำหนดตำแหน่งครุ-ลหุให้ถูกต้อง ตัวอย่าง จะฝึกแต่งอินทรวิเชียรฉันท์ ไปหาแผนผัง มาดู ดังนี้



แผนผังการจัดคำของอินทรวิเชียรฉันท์มี 2 แบบ วรรคแถวหน้า 5 คำมีลหุตรงกลางวรรคแถวหลัง 6 คำ คำที่1-2และ4 เป็นลหุ ก็นำมาฝึกเล่น ได้
จัดกลุ่ม 5 คำ คำที่ 3 เป็นลหุ
...........ยินดีนะคุณพี่.............มีเงินสะดวกมาก.........ยากงานก็พากเพียร
ยากเรียนมิท้อถอย.........รอยบุญอดีตกาล......นานแล้วมิได้เจอ..เธออยู่สบายดี
เอามาฝึกแบบต่อปากต่อคำ สนุกดี ได้ฝึกวางคำลหุไปด้วย
จัดกลุ่มหกคำ ให้คำที่ 1-2 และ 4 เป็นลหุ
..........วิริยานะอาจารย์..........ก็จะทานติจีวร..........ผิจะสอนก็จักฟัง
ฤจะนั่งก็ยินดี........อรุโณสว่างแล้ว........มนแผ้วเจริญธรรม....ฤจะนำและสวดมนต์
เป็นการฝึกต่อปากต่อคำโดยนำแบบคำฉันท์วรรคหลัง 6 คำมาเล่น ยากหน่อย แต่ก็
ท้าทายดี
ลองแต่งให้ครบบท อินทรวิเชียรฉันท์ 11
..............เป็นคนก็พากเพียร.................ริจะเขียนจะอ่านสรรพ์
...........อ่านออกและเขียนกัน................ก็จะชาญชำนาญมี
..............อ่านออกและเขียนได้..............มนนัยก็เสริมศรี
............ทำการและงานดี......................จะฉลาดและแหลมคม
...............หากคร้านมิอ่านเขียน..............แหละจำเนียรมิควรสม
.............การงานมิรื่นรมย์.......................เพราะจะหนักและกินแรง

.........(7) ฉันท์อื่น ๆ มักจะวางครุ ลหุ แบบเดียวกับบาทที่ 1 บางครั้งก็พบฉันท์
ที่วรรคหน้าและวรรคหลังจำนวนคำเท่ากัน แถมวางครุลหุเหมือนกันอีก หยิบมาฝึก
ต่อคำเล่นได้สบาย ๆ เช่น




..........รูปแบบการวางครุ-ลหุ ของ มาณวกฉันท์ วรรคละ 4 คำ ครุล้อมลหุ 2 ไว้ตรง
กลาง วางเหมือนกันตลอดทุกวรรค จำวรรคเดียวใช้ได้ตลอด
เพลินอุรนัก.......จักจรไป.........ในชลธาร.........หาญจะดำลง.....ตรงขณะลอย
คอยนะสหาย........ว่ายก็สนุก........รุกก็จะเพลิน.....เกินจะประคอง....ลองนะพธู...ฯลฯ
ต่อคำกำหนดครุลหุ เลียนคณะมาณวกฉันท์ แบบนี้ก็แต่งมาณวกฉันท์ได้แน่
.............................มาณวฉันท์..............สรรคณะคำ
.............................สี่นะจะจำ................จังหวะละสอง
.............................ลงแหละนะคู่.............ดูกะทำนอง
.............................ตรงคณะคลอง...........อ่านก็เพราะดี
................................จังหวะเสนาะ...........เพราะขณะอ่าน
.............................เสียงจะผสาน.............รมย์จิตะมี
.............................ชื่นหทยา...................พาสุขศรี
..............................เย็นมนะที่..................ยินดุริยางค์





สาลินีฉันท์ 11 วรรคหน้าครุล้วน 5 คำ วรรคหลัง 6 คำ วางแบบ ลหุ-ครุครุ สองครั้งได้ 6 คำพอดี
.........ฝึกต่อปากต่อคำเพื่อใช้แต่งสาลินีฉันท์ ต่อคำครุล้วน 5 คำ และกลุ่ม 6 คำแบบลหุครุครุ-ลหุครุครุ
ครุล้วน 5 คำ......แต่งฉันท์เรื่องมาก.....ยากที่บังคับ....จับวรรคทั้งห้า....ว่าหนักล้วนล้วน สมควรต้องฝึก......ตรึกตรองจงดี......มีคำมากมาย......วุนวายจับมา.....ห้าคำต่อกลุ่ม
....ฝึกแบบ ลหุครุครุ-ลหุครุครุ กลุ่ม 6 คำ จะทำการก็นานนัก......มิรู้จักนะชื่อไร......สะใบเองนะคุณพี่
มิรอรีจะรีบไป.....ก็ใครเขาจะรอเธอ........มิอยากเก้อก็รีบมา.......ทำนาหว่านผสานกัน
............ฝึกการสรรหาคำที่กำหนดครุลหุ ตามแบบบังคับของสาลินีฉันท์ได้แล้วทั้ง กลุ่ม5คำ และกลุ่ม 6 คำ แสดงว่าจะลองแต่งสาลินีฉันท์ ก้น่าจะไม่ยากเกินไป

ฝึกแต่งสาลินีฉันท์

............สั่งสมคำมากมี.........จะลองดีตริแต่งฉันท์
..........วรรคหน้าห้าคำนั้น.......ก็หนักล้วนสลับไป
...........แถวหลังก็หกคำ.........ลหุนำมิสงสัย
...........ยากหน่อยก็ทนได้.......สติมาก็ยินดี
.............ฉันท์ชนิดอื่น ๆ จะนำมาฝึกต่อปากต่อคำ ก็นำแผนผังบังคับมากาง ตรวจดูการวางครุลหุ แต่ละวรรค วางอย่างไร มีกี่แบบ เลือกมาฝึกทีละแบบ ทำแค่สองสามฉันท์ก็เบื่อแล้ว เพราะเข้าใจแล้วว่า การ วางครุลหุแต่งฉันท์ ไม่ได้ยากเกินไป จากนั้นแค่ดูแผนผังก็ลงมือแต่งได้เลย ไป ๆมา ๆ ก็เหมือนแต่กาพย์กลอนนั่นแหละครับ ลองดูสิ
.......จากตัวอย่างดังกล่าว การศึกษาแบบแผนฉันท์ คงไม่มีใครจะจดจำได้หมดหรอกเพราะฉันท์ทืมีมากหลายชนิด (93)คงมีบางฉันท์ที่เคยใช้เป็นบทสวดมนต์บ้าง บทท่องจำอาขยานบ้าง ที่พอจดจำได้ ส่วนฉันท์ที่จำไม่ได้ก็ต้องพึ่งแผนผังมากางดูแล้วลงมือแต่งตาม ผมก็ใช้วิธีนี้แหละครับ










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น