วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2561

รู้จักหนังสือนวโกวาท



....จะเขียนถึงหนังสือนวโกวาท เลยไปอ่านคำนำ คำชี้แจง ที่เขียนไว้ชัดเจนคือ คำชี้แจงของกองตำรามหามกุฎราชวิทยาลัย ท่านพระมหาทองสืบ จารุวัณโณ เขียนไว้ความว่า...
………………
นวโกวาทเป็นหนังสือสำหรับศึกษาความรู้เบื้องต้นในพระพุทธศาสนา ซึ่งแพร่หลายมากที่สุด ได้ยินว่าเดิมหนังสือนี้เกิดขึ้นเมื่อครั้งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จประทับอยู่ ณ วัดมกุฏกษัตริยาราม (พ.ศ.๒๔๔๒-๔) ได้ทรงเลือกแปลธรรมวินัยในพระไตรปิฎกสำหรับทรงสั่งสอนภิกษุสามเณรในวัดนั้น ผู้ศึกษาต้องจดไปท่องบ่นกันก่อน ต่อมาเมื่อเสด็จกลับมาประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหารแล้วก็ยังทรงสั่งสอนด้วยวิธีนั้น ......ฯลฯ…..
……
ท่านเขียนไว้ยาวแต่ตัดมาเฉพาะใจความสำคัญ ที่บอกถึงเนื้อหาสาระสำคัญของ นวโกวาท และท่านผู้นิพนธ์หนังสือเล่นนี้
คือพระเถระที่เป็นพระราชวงศ์ ราชโอรสในรัชกาลที่ 5 พระนามตอนผนวชคือ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร และตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ท่านได้นิพนธ์ขึ้นสำหรับใช้สอนพระบวชใหม่ ต่อมานิยมใช้กันแพร่หลายและกลายมาเป็นหลักสูตรนักธรรมตรีจนในปัจจุบัน ดังนั้นการอบรมพระเณรบวชใหม่ จะใช้หนังสือนวโกวาทเป็นแนวการฝึกอบรมก็เหมาะสม เพราะขนาดคนสมัยโน้น ท่านเลือกเนื้อหาดีแล้วจึงนำมา ใช้ในการฝึกอบรม และคงจะได้ผลดีจึงใช้กันมายาวนาน อีกประการหนึ่ง เนื้อหาของหนังสือ นวโกวาท ท่านแจกจงไว้ 3 กลุ่ม กลุ่มแรก คือธรรมวิภาค หลักธรรมสำคัญที่ควรศึกษาให้เข้าใจ จำแนกเป็นหมวดหมู่ ตามเนื้อหาและจำนวนข้อย่อย วินัย ได้แก่ศีล 227 ข้อ และหมวดที่ 3 คิหิปฏิบัติ หลักธรรมปฏิบัติสำหรับฆราวาส คงเพราะเนื้อหาครอบคลุมการดำรงชีวิตของฆราวาสด้วย ของพระบวชใหม่ด้วย ทำให้ได้รับความนิยมใช้เป็นฝึกอบรมผู้บวชใหม่ และเมื่อลาสิกขาบทไปเป็นฆราวาส ก็ยังมีเนื้อหาสาระจำนวนมาก นำไปปฏิบัติได้เป็นอย่างดี ดังนั้นการทำความรู้จักหนังสือ นวโกวาท น่าจะมีค่า มีประโยชน์สำหรับคนที่นับถือพุทธศาสนาไม่น้อย มาลองศึกษาดูครับ
...........หลังจากทราบจุดประสงค์ท่านผู้แต่งแล้ว ต่อมาก็ทราบว่าท่านได้ใช้ฝึกอบรมพระภิกษุสามเณรในวัดที่ท่านปกครอง ต่อมาก็มีผู้นำไปเป็นแนวฝึกอบรมพระเณรที่วัดอื่น ๆบ้าง ต่างเห็นว่าเหมาะสมดีจึงใช้กันแพร่หลาย ต่อมาก็กลายเป็นแบบอย่างการอบรมพระนวกะนั่นเอง และพัฒนาเป็นู่มือการเรียนการสอนนักธรรมตรี คงสรุปได้ว่าหนังสือเล่มนี้เกิด ประโยชน์กว้างขวางต่อการฝึกอบรมพระบวชใหม่ และผู้เริ่มศึกษาหลักสูตรปริยัติธรรม คือนักธรรมตรี  หนังสือได้รับการพัฒนาเพิ่มเติมในเวลาต่อมา ทำให้มีความสมบูรณ์ในเนื้อหาสาระมากยิ่งขึ้น  ในหนังสือมีเนื้อหา อะไรบ้าง
.............วินัยบัญญัติ  เป็นเนื้อหาที่ผู้บวชใหม่ ต้องรีบศึกษาและทำความเข้าใจให้ชัดเจน เพราะบางเรื่องกระทบถึงสภาวะการเป็นพระภิกษุด้วย พระอุปัฌายะสอน อกรณียกิจ 4 ตอนทำพิธีบวช อาจยังงง ๆอยู่ มาเปิดดูในนวโกวาทก็จะชัดเจท่านเรียกอกรณียกิจ มี ๔ อย่าง คือ เสพเมถุน ๑ ลักของเขา ๑ ฆ่าสัตว์ ๑ พูดอวดคุณพิเศษที่ไม่มีในตน ๑ กิจ ๔ อย่างนี้ บรรพชิตทำไม่ได้. แต่ละอย่างมันตรงกับอาบัติปาราชิกทั้งสิ้น คำสอนของพระอุปัชฌาย์ ท่านเวลาน้อย อาจสอนไม่ชัดเจน การศึกษาเพิ่มเติมจึงจำเป็นมาก นวโกวาทนี่แหละช่วยเราได้  นอกจาก กรณียกิจ 4 อกรณียกิจ 4 แล้วก็จะเป็นส่วนศีล 227 ข้อ ตั้งแต่ ปราราชิก 4 สังฆาทิเสส 13 อนิยต 2 นิสสัคคียปาจิตตีย์ 30 ปาจิตตีย์ 92      ปาฏิเทสนียะ ๔ เสขิยวัตร 75 อธิกรณ์มี ๔ และอธิกรณสมถะมี ๗ รวมเป็น 227 ข้อ ศึกษาให้เข้าใจ การปฏิบัติศีลของพระภิกษุก็จะไม่ยุ่งยาก เพราะช่วยให้ทราบอะไรบ้างจะทำให้ศีลบกพร่อง และได้หลบเลี่ยงไปไม่กระทำ
..............ธรรมวิภาค เป็นส่วนที่ท่านคัดเลือกหัวข้อธรรมคำสอนจากพระไตรปิฎกมาใช้อบรมพระบวชใหม่ ต่อมาได้จำแนกเป็นหมวดหมู่ตามจำนวนข้อย่อยของหัวข้อธรรมนั้น ๆ เช่น  ทุกะคือหมวด 2 รวมหัวข้อธรรมที่จำแนกเป็นอยย่อยได้ 2 ไว้ในกลุ่มเดียวกัน เช่นธรรมมีอุปการะมาก 2 ได้แก่ สติ สัมปชัญญะ  ธรรมเป็นโลกบาล 2 ได้แก่ หิริ โอตตัปปะ  ติกะ หมวด 3รัตนะ 3 ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์....เป็นต้น เนื้อหายาวมากจนถึง หมวด 10 แล้วมีหมวดปกิณกะ    สรุปท้ายเนื้อหาส่วนธรรมวิภาค  หลักธรรมสำคัญ ๆ ที่ควรศึกษาจะอยู่หมวด 2 หมวด 3 หมวด 4 หมวด 5 และหมวด 6 ศึกษาให้เข้าใจ สามารถนำมาปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม ทั้งยังเป็นส่วนที่นำไปอบรมสั่งสอนอุบาสกอุบาสิกาได้เป็นอย่างดี เช่น กุศลมูล อกุศลมูล  หลักคำสอนศาสนา 3 ประการ  บุญกิริยาวัตถุ 3 เป็นต้น
...........คิหิปฏิบัติ เป็นหลักปฏิบัติสำหรับผู้ครองเรือน ผู้บวชใหม่หรือ นวกะ ส่วนใหญ่เป็นพวกลาบวชชั่วคราว ช่วงพรรษา พออกพรรษาก็ลาสิกขาไป ท่านจึงเลือกหลักคำสอนสำหรับนวกะเหล่านี้ได้รับการอบรมให้เข้าใจสามารถนำไปใช้เมื่อออกไปเป็นฆราวาส รวมหลักธรรมเหล่านี้ว่า คิหิปฏิบัติ เช่น ประโยชน์ปัจจุบัน ประโยชน์ในภายหน้า มิตรเทียม มิตรแท้สังคหวัตถุ ฆราวาสธรรม เป็นต้น  ผู้มีภาระต้องอบรมสั่งสอนชาวบ้าน ถ้าได้ศึกษาส่วน คิหิปฏิบัติ จะได้หลักปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับฆราวาส ไปแนะนำสั่งสอน อบรมชาวบ้านได้เป็นอย่างดี 


............แนะนำให้รู้จักหนังสือเล่มนี้แล้ว ต่อไปขอนำ เนื้อหาบางส่วน มาลงไว้ให้ผู้สนใจ ได้ลองอ่านดู ดังนี้

-------------------------------------------------------------------------
หนังสือนวโกวาท
https://mykht.blogspot.com/2018/04/blog-post_29.html
ธรรมวิภาค
https://mykht.blogspot.com/2018/04/blog-post_59.html
วินัยบัญญัติ
https://mykht.blogspot.com/2018/04/blog-post_30.html
คิหิปฏิบัติ
https://mykht.blogspot.com/2018/04/blog-post_34.html

1 ความคิดเห็น:

  1. ใครที่พูดธรรมะบ่อย ๆ บางครั้งสงสัยว่าที่พูดไปมันผิดเพี้นหรือเปล่า นวโกวาทอาจช่วยได้ครับ หรือถ้าไม่มีในนวโววาท วันหลังจะเอาธรรมวิภาค นักธรรมโท มาลงให้ คงมีแน่ เพราะส่วนมาก พูดเขียน ธรรมะ จะวนเวียนเนื้อหาใน 2 เล่มนี้

    ตอบลบ