..............มีคนถามกระผมว่าไปได้วิชาความรู้เรื่องฉันท์มาจากไหน เห็นเขียนไม่ค่อยซ้ำแบบ ไปเรียนรู้ธรรมวินัยจากไหน เขียนยังกะฟังพระเทศน์ ครับบางอย่างก็เรียนรู้จากโรงเรียน จากบ้านจากที่ทำงาน เหมือนคนอื่น ๆ นั่นแหละเพียงแต่คนอื่นรู้แล้วก็ไม่ได้คุยโม้เหมือนกระผม เลยไม่ค่อยมีคนทราบ แต่กระผมมันประเภทรู้น้อยแต่พูดมาก คนเลยหลงคิดว่าคงรู้มากมาย ที่จริงก็รู้เท่า ๆคนอื่นนั่นแหละ ส่วนเรื่องธรรมะนี่ ดูคุณวุฒิทางการศึกษาหน่อยจะเข้าใจง่าย (นธ.เอก. ปธ.4. พม. กศ.บ.(เกียรตินิยม)ภาษาไทย ศศ.ม. การสอนภาษาไทย) นักธรรมเอกสมัยปี 2513 นี่เราออกเทศน์สองธัมมาสน์กันได้แล้วนะ แบบ งานทำบุญกฐิน ทำบุญฌาปนกิจ ชาวบ้านนิมนต์พระสองรูปมาเทศน์ปุจฉาวิสัชนา ให้ชาวบ้านฟัง เทศน์อยู่สามปีพอดีสึกเลยมีประสบการณ์แสดงธรรมติดตัวมาบ้าง วิชาความรู้อื่น ๆ ได้จากการทำงานเป็นครูมัธยม เป็นรอง ผอ.สามัญศึกษา รองผอ.เขตพื้นที่การศึกษา ผู้ตรวจราขการ ได้รับประสบการณ์ทางด้านวิชาการศึกษาเป็นอันมาก เกษียณแล้วยังนิเทศน์ครูได้สบาย ๆ วิชาความรู้ผมมีมากมายมหาศาลจนต้องฝากไว้ห้องสมุดต่าง ๆ มันเป็นยังไง เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังครับ
...........กระผมนายขุนทอง ศรีประจง ปีนี้ 73 ย่างเข้า 74 เดือนหน้านี้แหละ เป็นคนมีนิสัยชอบ เรียนรู้ ชอบศึกษาค้นคว้าเมื่อมีโอกาส ไม่ยอมหยุดนิ่ง สิ่งที่ฝึกฝนมากอีกอย่างคือการเขียน ชอบ ทั้งร้อยแก้วร้อยกรอง ไม่ได้เขียนเอาสตังค์นะ เขียนตามความอยากจะเขียน เลยมีผลงานเขียน มากมายจนล้นฮาร์ดดิสก์ เพราะชอบเขียนเลยต้องหาประสบการณ์ท่องเที่ยวแล้วเก็บเอามาเล่าบ้าง บางทีก็สนใจเรื่องประเพณีพื้นบ้าน แบบนี้ต้องอาศัยการสนทนากับคนรุ่นก่อน อ่านจาก เอกสาร ตำรา บ้าง เดี๋ยวนี้ระบบออนไลน์ช่วยให้ความอยากรู้อยากเห็นของเราทำได้ง่ายขึ้น อยู่บ้านแต่ผมสามารถท่องไปคลังวิทยบริการของห้องสมุดใหญ่ ๆได้สบาย ๆ เคยไปไหนบ้าง
...........เข้าไปศูนย์บริการหนังสือหายาก หอสมุดจุฬา ฯ ที่แรก ๆ ที่ผมเข้าไป ดาวโหลดหนังสือ หายากที่เคยเห็นชื่อตอนเรียนวรรณคดี แต่ไม่มีปัญญาหาซื้อหรอก จินดามณีฉบับพระโหราธิบดี บ้าง โองการแช่งน้ำ ศิลาจารึกสุโขทัย วรรณคดียุคสมัยต่าง ๆ ส่วนมากจะเป็นไฟล์ PDF เปิดอ่าน ได้ด้วยโปรแกรมโฟโต้ชอปรีดเดอร์ โหลดมาแล้วบางเล่มยังไม่ได้อ่านเลย อ้อ ใครอยาก ไปแต่ไม่รู้จะไปทางไหน ตามลิงค์นี้ครับ หนังสือเยอะดี.....สำนักวิทยทรัพยากรจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือหายาก..ภาษาไทย (1715 รายการ) www.car.chula.ac.th/rarebook.php
..........มีที่หนึ่ง ก็ต้องมีที่อื่นตามนิสัยคนชอบค้น คราวนี้ไปค้นของหอสมุดแห่งชาติบ้าง ผมมีบัตร สมาชิกด้วยนา แต่หมดอายุแล้ว ทำไว้สมัยเรียน ป.โท ค้นวิทยานิพนธ์ได้ทุกห้อง วันหนึ่งเข้าไป ดูหนังสือหายากของหอสมุดบ้าง เจาะดูที่ Digital calletion เปิดดูสารบาญรายชื่อหนังสือ หน้าแรก ๆ เจอ ประเพณีทำบุญเมืองไทย จินดามณี หมอชาวบ้าน คู่มือถอดความตัวธรรม ประชุมพงศาวดารภาค 60 โกศาปานไปฝรั่งเศส งานพระราชนิพนธ์สมเด็จพระเทพฯ ล้วนหนังสือที่ มีค่ายิ่งครับ ลองเปิดดูยิ่งสนุก เพราะทำเป็นรูปเล่มเหมือนหนังสือทุกประการ ตั้งแต่หน้าปก คลิกอ่าน เหมือนอ่านหนังสือธรรมดา ๆนี่แหละ ลองดูเล่มละ 10-20 หน้า พอแล้ว ให้รู้ว่าใช้อย่างไร รายชื่อ หนังสือที่มีให้เลือกอ่าน มีบัญชียาว 758 หน้า ว่าง ๆเข้ามาเลือกอ่านหนังสือที่ชอบ ก็พอ เช่นเคยครับใครยัง ไม่รู้จักทางไปห้องสมุดดิจิตอลเขา ตรงนี้ครับ https://www.nlt.go.th/th/node/229
.........ยังมีอีกครับ ผมมันบ้าท่องอินเตอร์เนต ซอกแซกไปทั่วแหละ อยากดูของ มช.บ้าง ทาง เหนือจะพัฒนาไปถึงไหน ก็มีนะครับ ระบบดิจิตอลของห้องสมุด มช. สามารถเข้าไปอ่านได้ เปิดดูสารบาญหน้าต้น ๆ เจอหลายเล่มที่คุ้น ๆ เช่น กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง โคลงกระทู้คติโลก คำให้การชาว อังวะ โคลงดั้นเฉลิมพระเกียรติ ร.2 ตำนานเครื่องราช แถลงการณ์ ร.7 สละราชสมบัติ เป็นต้น เมื่อเข้าไปที่ ดิจิตอลคอลเลชั่น จะพบรายชื่อหนังสือที่ให้ บริการ เราเลือกที่อยากอ่านมา คลิกก็จะปรากฏรูปเล่มกลางหน้าจอคอม อ้อก่อนจะอ่านต้อง ติดตั้งแอพเฉพาะของเขาก่อน มีคำแนะนำการติดตั้ง ให้ทำตามคลิกสองสามครั้งก็เสร็จ อ่านหนังสือได้ วิธีเปิดก็แสนง่าย คลิกที่หน้าปกหนังสือ ก็จะเปิดพลิกให้ทีละหน้า สนุกดี อยากลองเชิญตามลิงค์ ตามลิงก์นี้ http://library.cmu.ac.th/digital_collection/erare/
........ไปอีกที่ครับ ฐานข้อมูลหนังสือหายากอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็น่าสนใจ ครับ ผมเลือกไปดูกลุ่มประเพณีวัฒนธรรม กับกลุ่มคอมพิวเตอร์ ยอดเยี่ยมครับ หลายเรื่องยังไม่ เคยทำมาก่อน การติดตั้งแอพลิเคชั่น การใช้โฟโตชอป เป็นต้น หากสนใจ ลองเข้าไปดูครับ ที่....... http://203.131.219.167/km2559/
.........เล่าการเข้าไปสืบค้นข้อมูลห้องสมุดต่าง ๆของกระผม อาจจะมองดูเวอร์ไปบ้าง คนแก่ปูน นี้(74ปี) เจาะเข้าไปดูหนังหายากของสถาบันต่าง ๆ ได้ เพราะมีความรู้เกี่ยวกับบรรณารักษ์ศาสตร์ อยู่บ้าง ดังนั้นการเสาะหาข้อมูลสำคัญ ๆ ไม่ใช่เรื่องยาก เว้นแต่เขา จะหวงไม่บริการคนทั่วไป ความจริงยุคสมัยนี้ ระบบออนไลน์มีทั่วถึงทุกพื้นที่แล้ว ห้องสมุดควรจัด บริการการอ่านให้แก่นักเรียนและประชาชนทั่วไปผ่านระบบออนไลน์ ไปอบรมการติดตั้งระบบซัก เดือนเดียวก็กลับมาติดตั้งเซอร์เวอร์ให้ห้องสมุดได้ สะสมหนังสือดิจิตอลไว้มาก ๆ ดาวโหลดที่ เขาแจกฟรีบ้าง จัดทำเองบ้าง ไม่นานก็จะมีบริการหนังสือดิจิตอลได้อย่างดี ขอจบลงแค่นี้ก่อน เพราะโม้มากไปแล้ว ท่านที่สงสัยว่าโม้จริงรึเปล่า ลองคัดลอกลิงค์ที่ผมลงไว้ ไปวางที่บราวเซอร์ ที่ท่านเปิดใช้อยู่ มันจะวิ่งเข้าไปที่ไหน เข้าไปแล้วจะทำอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับท่านแหละครับ......
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น