วันอังคารที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2559

ไปเยี่ยมบ้านเมืองเลย 2

ไปเยี่ยมบ้านเมืองเลย 2
                หลังจากกลับมาบ้านได้ข้อมูลอาหารพื้นบ้านมาหลายอย่าง เอามานั่งเขียนเล่าสู่กันฟังครับ

ซุบถั่วแปบ

....................
อาหารประเภทซุบ เป็นวิธีทำให้ของธรรมดา ๆ เป็นของรสอร่อยมาก ๆ จนเรียกซุปเปอร์ ได้สบาย ๆ ถั่วแปบแสนจะธรรมดา ปกติก็เอามาต้มหรือนึ่ง จิ้มน้ำพริก หรือไม่ก็ผัด ก็ไม่เห็นจะอร่อยมากมายอะไร แต่พอเอามาทำซุบ ก็ต้องประเมินค่าถั่วแปบกันใหม่ ถั่วแปบมีชื่อทางพฤกษ์ศาสตร์เหมือนพืชทั่ว ๆไป แสดงว่ามีการสำรวจและบันทึกข้อมูลไว้แล้วที่น่าสนใจคือพวกเราเห็นมันเป็นพืชผัก เอามารับประทานได้ อร่อยด้วย พวกหมอยาพื้นบ้านยังบอกว่าเป็นสมุนไพร รู้จักกันทั่วไป ถั่วแปบ มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ถั่วแปบขาว, ถั่วหนัง, หมากแปบ, มะแปบ (เชียงใหม่)ถั่วแปบน้อย แปบปลาซิว (สกลนคร), ถั่วแปะยี (ภาคเหนือ), กวาวน้ำ ถั่วหนัง ถั่วแล้ง มะแปน ถั่วแปยี ถั่วมะเปกี (ภาคตะวันตกเฉียงเหนือ), โบ่บ๊ะซะ (กะเหรี่ยง เชียงใหม่),เป๊าะบ่าสะ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน),กู๊เบเส่, กู๊เบอีโท้,กู๊เบผ่าบุ๊ (กะเหรี่ยงแดง), แผละแถะ (ลั้วะ), เบล่เปยี่ (ปะหล่อง), เซียงหวังตบ (เมี่ยน) ชักจะออกนอกครัวไปไกลแล้ว กลับมาทำซุบถัวแปบบกัน
..............ใช้ถัวแปบบซัก ครึ่งกิโลกรัม เด็ดขั้วและเส้นขอบออก มะเขือเปราะ 3 ลูก นำไปต้มให้เปื่อยแล้วใส่ถ้วยรอไว้ ใช้ป่นปลาดุกเป็นตัวเสริมเลยต้องต้มปลาร้าจนปลาดุกเปื่อย ค่อยเอามาทำป่นโดยใช้พริกดิบอ่อน7 เม็ด หอมดแดง 3 หัว กระเทียม 1 หัว ข่า 3 ฝาน ทั้งหมดย่างไฟให้สุกหอมก่อนนำมาโคลกให้แหลกก่อนค่อยใส่เนื้อปลากดุกต้มเปื่อยลงไป แหลกดีแล้วใส่ถั่วแปบและมะเขือลง ตำให้แหลก ต่อไปก็น้ำปลาร้าเอาที่ใช้ต้มปลาดุกนั่นแหละ เทลงไปคนให้เหนียวข้น ต่อไปก็ข้าวคั่วหรืองาคั่ว ผักแต่งกลิ่น หอมสด ชีหอม ชีฝรั่ง จบชิมและปรุงรสได้ อร่อยมาก ๆ ครับ
--------------

ซุบหน่อไม้
.............แม่บ้านไปตลาดสด ได้หน่อไม้เผามาฝาก 2 ถุง ๆละ 25 บาท ถามดูเห็นว่า อยากจิ้มน้ำพริกเลยซื้อฝากลุงด้วย 1 ถุง เปิดดูมี 5 หน่อ ปอกเปลือกแล้ว เลยให้ใส่ตู้เย็นไว้ก่อน คิดเมนูยังไม่ออก เช้าวันถัดมาหาผักที่ต้องการได้ครับ จะทำซุบหน่อไม้กินเอง เพราะไปซื้อที่เขาทำขาย ไม่ค่อยถูกใจ
.............เอาหน่อไม้ออกมาเขี่ยน ก็ขูดเขี่ยนนั่นแหละ อีสานเขาพูดสั้น ๆ ว่าเขี่ยน ใช้ซ่อม ก็ได้ ใช้เหล็กแหลมก็ได้ ขูดเขี่ยนไม่นานก็ได้เส้นหน่อไม้สีเหลืออร่าม เอาไปแช่น้ำแล้ว้างให้สะอาด จากนั้นก็เอาไปต้มกับน้ำย่านาง ใส่น้ำปลาร้าซัก 3 ทัพพี จนน้ำย่านางสุก ก็ใช้การได้ สมัยก่อนถ้าไม่ทำซุบ เราทำแค่นี้ ใส่ใบแมงลักลงในหม้อ แล้วตักใส่ถ้วยไปกินกับน้ำพริก เขาใช้พริกดิบอ่อน ซัก 20 เม็ด หอมแดงเผา ข่านิดหน่อย โขลกใส่ยอกหนามคะญ่า" ซัก 2 ยอด ชีหอมต้นเดียว น้ำปลาร้า ชูรส แค่นี้ใช้เป็นน้ำจิ้มต้มหน่อไม้ แม่ผมแกชอบมาก ๆ เราทำซุบแกบอก ตักใส่ถ้วยให้แม่ด้วย อย่าทำหมด
.............จะทำซุบใช้พริกแห้ง 5 เม็ด ย่างไฟ เดี๋ยวนี้ผมชอบหว่านลงกระทะทอดกรอบ ง่ายกว่า ตักให้สะเด็ดน้ำมันแล้วก็เอาไปโลกได้ ส่วนหอมแดง กระเทียม ข่า ยังคงเสียบไม้ย่างไฟ ค่อยนำมาใส่ครกโขลก ใส่เส้นหน่อไม้ลงไป ตามด้วยหัวหอยขม 1 ถ้วยตวง ไม่มีหอย ใช้หนังหมูต้มสุกหั่นแบบใส่ลาก 1 ถ้วยตวงเช่นกันสากตำเบา ๆให้เครื่องปรุงคลุกเคล้ากันกับเส้นหน่อไม้ จากนั้นใส่ผักแต่กลิ่น หอมสด 2 ต้น ชีหอม 1 ต้นชีฝรั่ง 1 ต้น หั่นดี ๆ โรยลงในครกเลย สักครู่ เติมน้ำต้มปลาร้าจากหม้อต้นน้ำย่านางนั่นแหละ เอาพอขลุกขลิกอย่ามาก แล้วก็เติมข้าวคั่วหรือง่าคั่ว ตามใจชอบ สำหรับผมเลือกงาคั่วใหม่ ๆ หอมขาดใจจริง ๆ
...........ผักกับก็สำคัญ หนามคะญ่า ใบขิงอ่อน กระชาย หูเสือ ผักรสฝาด พว
กผักกระโดน ก็ใช้ได้ มีโอกาส
ลองทำกินดูนะครับ อาหารพวกนี้ราคาไม่แพง แต่รสชาติอร่อยมาก ๆ

---------------
ลาบปลาตอง
..........ปลาตอง ปลากราย ปลาตองลาย ปลาสะตือ เห็นคนเรียกหลายชื่อ ดูตัวปลาก็แตกต่างกันบ้าง ปลาที่เราซื้อมาทำลาบเป็นปลาจากเขื่อนน้ำหมาน ตัวละเกือสองกิโลกรัม ตัวเดียวพอทำลาบกินในครอบครัว
ล้างสะอาดดีแล้วเอามาตัดครีบออก แล้วใช้มีดคม ๆ แล่เอาหนังและเนื้อออก เริ่มจากหัวไปสุดหาง ได้หนังและเนื้อ 2 แผ่น ยังมีเนื้อติดก้างอยู่ไม่น้อย ใช้ช้อนขูดในส่วยได้ เสร็จแล้วค่อยขูดเอาเนื้อออผจากแผ่นหนังมีเศษเอาไปทำน้ำต้มคือ กระดูกก้าง ขี้ไม่เอา หัวปลาและหนังปลา น้ำต้มใส่ปลาร้า มะขามเปียกซัก 2 ฝักข่า ตะไคร้ ปรุงดี ๆ อร่อยยังกะ ต้มส้มปลา แต่น้ำต้มนี้เอาไว้คนลาบ เหลือค่อยซดใจเย็น ๆ
...........เนื้อปลาตองจะมีก้างฝอยค่อนข้างมาก เอาไปสับให้ละเอียดก่อนค่อยเอาไปใส่ครก เพื่อคนลาบต่อไปถามหาข่า 5 ฝาน ใส่ครกบดละเอียดเอามาคนพร้อมเนื้อปลา ดับกลิ่นคาวปลาดีนัก คนลาบปลาตองใช้น้ำต้มอุ่น ๆทีละช้อน ใช้สากคนให้ทั่วจนน้ำละลายเข้ากับเนื้อปลา ตักน้ำต้มเติมลงไปอีก ใช้เวลาคนเกือกชั่วโมงเนื้อปลาจะกลายเป็นเนื้อเหนียว ๆคล้าย เจล ชาวบ้านเราจึงเรียกว่าลาบเหนียว เมื่อเหนียวได้ที่เขามีวิธีทดสอบเอาคำข้าวเหนียวลุยดู ถ้ามันติดคำข้าว ไม่หยดละก็ใช้ได้ ถ้ามันไหลหยดลง แสดงว่ายังใช้ไม่ได้ คนต่อไป
...........เครื่องปรุงลาบปลาตอง เหมือนลาบปลาลาบเนื้อทั่วๆ ไป พ่อครัวจะถามหาข้าวคั่วก่อน ถามหาหัวหอมกระเทียมซอย น้ำปลาร้า น้ำมะนาว พริกป่น สุดท้ายก็ผักแต่งกลิ่น หอมสด ชีหอม ชีฝรั่ง แล้วก็ชิมและปรุงรสตักไปบริการได้ ลาบเหนียวเป็นอาหารประเภทกึ่งดิบกึ่งสุก รสอร่อยมาก ๆ แม้ทุกวันนี้ยังแอบทำกินกันอยู่ถ้าจะให้ดี ตักใส่ใบตองไปย่างให้สุกก่อนจะดีกว่า อร่อยน้อยลงสัก 25 เปอร์เซ็นต์ แต่สบาย ใจกว่าน้ำต้ม เอามาปรุงรสก่อนนำมาใช้เป้นน้ำต้มแซบกินกับลาบ อร่อยครบเครื่องครับปล. ผักกับลาบ ผักแพว ผักกระโดน ผักเม็ก ผักกะเดา หมากแข้งขม มะเขือเปราะ แตงกวา เพลี้ยฟานหมากลี้นฟ้า พริกขี้หนู ใบชะพลูอ่อน หาได้ซัก 2-3 อย่างก็เยี่ยมแล้ว
----------
อันนี้ชื่อลาบเทา

............ไม่รู้ใครตั้งชื่อเทา คล้ายเทาเวลามีฝุ่นเกาะเห็นในน้ำเป็นสีเทา ๆ ทั้งที่จริงมันมีสีเขียว ลูกกอีสานรู้จักหลายคนชอบกิน ลงอาบน้ำในหนองบึง เจอเทาก็เก้บมาล้าง แล้วกินกันสด ๆ เลย กินเล่นน่ะมันจืด ๆไม่ค่อยอร่อย กินคำสองคำก็เลิก พวกเราดูมันคล้ายเส้นผมมากนะ เกิดเป็นกลุ่ม ๆ ในน้ำที่คิดว่าใสสะอาด แต่นานวันเข้าก็มีฝุ่นมาจับจนเป้นสีเทา ๆนั่นแหละ เก็บเทาใช้มือเปล่าดีที่สุด เพราะได้แกว่งฝุ่นละออกออกทิ้งบ้างบางคนใช่สวิง มันติดมาหมดทั้งขยะและฝุ่น พวกเราเก็บเทามาทำกิน เก็บเดี๋ยวเดียวก็ได้ถ้วยสองถ้วยพอแล้วล้างสะอาดดีแล้วเอามากินกับส้มตำ กินเป็นผักกับน้ำพริก ก็อร่อยดีนะ แต่นี่เราจะทำลาบเทากินกัน
............ต้มกบป่นซักตัว ถ้าเขียดขี้คุย (โม้) ต้อง 5-10 ตัว ใส่น้ำปลาร้า ต้มให้เปื่อย เสียบพริกดิบ 6 เม็ด หอมแดง 3 หัว กระเทียม 1 หัว ข่า 3 ฝาน ย่างไฟใส่ครกตำละเอียด ค่อยใส่เนื้อกบลงไปตำให้แหลก แล้วก็คนน้ำปลาร้าเยอะ ๆ เทใส่กะละมังเล็ก เอาไว้ รอเขาสับเส้นเทาให้ก่อน เอาถ้วยเดียว สับสั้น ๆ ยาวสักนิ้วหนึ่ง เสร็จใส่ลงไปในถ้วยป่นกบ ข้าวคั่วซักช้อนเดียว มะนาว ผักแต่งกลิ่น หอมสด ชีผอม ชีฝรั่ง ชิมและปรุงรส แค่นี้เราก็ได้ลาบเทาตามต้องการ เวลากินลาบเทาต้องแจกช้อนคนละชุด ไม่มีช้อนไม่อร่อย
นะจะบอกให้

ส่วนนี่เรียกแกงอ่อมผักตบ
----------------------
........ผักตบไทย ขึ้นอยู่ตามลำห้วย บึง หนอง มีเหง้าอยู่ใต้ดิน แตกยอดและใบเหนือน้ำ เป็นกอคล้ายกก คล้ายผักตบชวา ดอกอ่อนเป็นฝักฝังอยู่ในลำก้านใบ ดอกโตขึ้นจะแทง ช่อออกมาบาน สีม่วงสวยงามมาก เล่าว่าเป็นพืชสมุนไพรไทยชนิดหนึ่ง มีสรรพคุณหลายอย่าง เช่น กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มีรายงานว่าผักสิ้น(ผักตบไทย) 100 กรัม ให้พลังงานต่อร่างาย 9 กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วย
- เส้นใย 0.7 กรัม - แคลเซียม 31 มิลลิกรัม - ฟอสฟอรัส 28 มิลลิกรัม - เหล็ก 0.1 มิลลิกรัม - เบต้าแคโรทีน 1,961 ไมโครกรัม - วิตามินเอ 324 ไมโครกรัม ของเรตินนอล - วิตามินบีหนึ่ง 0.01 มิลลิกรัม - วิตามินบีสอง 0.30 มิลลิกรัม - ไนอาซิน 3.1 มิลลิกรัม - วิตามินซี 5 มิลลิกรัม
........เห็นรายงานก็เชื่อแหละครับว่าเป็นสมุนไพร เพราะพืชทุกชนิดเป็นสมุนไพร ได้ทั้งนั้น เพียงแต่เราไม่รู้จักเฉย ๆ ผักตบนี่กระผมรู้จักในฐานะที่เป็นผัก ต้นอ่อน เคย ไปดึงเอามาให้แม่ลวกจิ้มน้ำพริก แกงใส่ปลาคล้ายแกงบอน แต่ที่ผมจะแกงวันนี้ ใช้ดอก ครับ แถมเป็นดอกตูมที่ฝังตัวในก้านใบ พอมันเบ่งก้านตูมใหญ่ขึ้น ก็ทราบว่ามีดอกอ่อนฝัง อยู่ ไปเที่ยวเก็บเอาแต่เช้าก่อนคนอื่น ได้ซักสองห้วยก็พอแกงครับ ตอนจะแกงเราจะปอก เปลือกหุ้มดอกออก เหลือแต่กลีบอ่อน ที่จะนำไปแกง ล้างดี ๆใส่ถ้วยรอแกงได้เลย

.........ผมชอบปลาย่าง ไก่ย่าง หมูปิ้ง เนื้อย่าง ได้ทั้งนั้น แต่ที่จะทำวันนี้ใช้ เนื้อวัวย่าง หั่นทำแกง เอาซักถ้วยตวงพอ น้ำแกงใช้น้ำใบย่านางครับ เครื่องแกง ใช้พริกแกงเผ็ดแบบ ไม่เผ็ด เติมหอมแดง 3 หัว กระเทียม1 หัว ข่า 3 ฝาน ตะไคร้ 2 หัว กระปิ 1 ช้อชา โขลก ละเอียดใช้เป็นพริกแกง ผักเสริม ใช้ใบหอมสด ผักขมเบี้ย ผักคาด เด็ดรวม ๆถ้วยหนึ่ง ผักแต่งกลิ่น ใช้แมงลัก ผักชีลาว
.........ตั้งหม้อแกงใส่น้ำย่านาง ตามด้วยพริกแกง คนให้ทั่ว ใส่เนื้อที่หั่นไว้ลงไป รอ ให้เดือดซักครู่ ใส่ดอกผักตบลงไป ตามด้วยผักเสริม น้ำปลาร้า ดูผักตบสุกดีแล้วหยุดไฟ ใส่ผักแต่งกลิ่น ชิมและปรุงรส อร่อยมาก ๆ ผมกินกับข้าวเหนียวร้อน ๆ ครับ น้ำพริกก็ ใช้แจ่วบอง น้ำแกงอร่อยสะใจจริง ๆ

------------------
ห่อข้าวต้ม
------------------
..........งานบุญประเพณีสำคัญ ๆ ของคนอีสาน ข้าวต้มมัดเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ บุญเดือนสี่ สงกรานต์ บุญ
เดือนหก เข้าพรรษา ข้าวประดับดิน ข้าวสาก ออกพรรษา กฐิน แม่บ้านผมเขาเป็นเด็กเทพ ทำไม่เป็น
ภาระทำข้าวต้มเทศกาลทำบุญต่าง ๆ ก็ได้แม่ยายเป็นผู้จัดทำ เห็นแล้วก็สงสาร เลยไปช่วย แกมองหน้า
และถามว่าทำเป็นเหรอ ก็ไม่เป็นหรอกแค่เคยช่วยพี่สาวช่วยแม่ทำเป็นตัวเกะกะมากกว่า เตรียมถั่วดำแช่น้ำไว้ ต้มให้เปือย เตรียมกล้อยน้ำว้า เตรียมใบตองให้ แค่นี้ทำได้สบายมาก ข้าวมีผงปนอยู่ก็ไปฝัดให้ แม่ยายมอง ตาค้างเลยแหละ เพราะฉะนั้นแกเลยเงียบไม่ถาม ช่วยแกห่อข้าวต้มมัดจนเสร็จ ได้ใบรับรองมาแล้ว
...........ข้าวต้มมัดแบบอีสาน ไม่ใช้กระทินะครับ แบบที่คนไทยเขาทำกันอีสานเราเรียกข้าวต้มผัด ครับ
เมนูนี้เป็นข้าวต้มมัดอีสานดั้งเดิม ข้าวสารเหนียว 1 กิโลกรัม แช่ให้นิ่มก่อนนำมาใช้ ถั่วดำ 3 ขีด ต้มสุก
ดีแล้วล้างน้ำซักสามน้ำ ให้น้ำดำ ๆ ออกหมด จะได้ไม่ซึมใส่ข้าวเหนียวทำให้ข้าวต้มไม่สวย กล่วยน้ำว้าสุก 1 หวี น้ำตาลปี๊บ 2 ขีด ละลายน้ำไว้ ใบตอง 5 ก้าน ไม้ตอก 1 กำ
............ข้าวเหนียวนิ่มดีแล้วเอามาใส่ถาด เทถั่วลงไปคลุกให้เข้ากัน ตักน้ำตาลใส่คนให้เข้ากัน ปอกกล้วยผ่า ลูกละสองซีก ไว้ทำใส้ จากนั้นก็เริ่มห่อ ตักข้าวสามช้อน เกลี่ยบาง ๆ วางใส้กล้าวยแล้วห่อจับจีบหัวท้าย พับให้สวย ๆ วางคว่ำใส่ถาดหรือจานก่อน ครบ 2 ห่อค่อยประกบกันมัดหัวท้ายด้วยไม้ตอก นำไปวางในซึง ห่อจนเสร็จน่าจะเต็มซึงพอดี เอาไปนึ่งให้สุก แล้วจะได้ข้าวตัมมัดสูตรโบราณ มีโกงนิดหน่อยแอบเติมน้ำตาล ของเดิมไม่ใส่น้ำตาลหรอก ข้าวต้มที่สุกแล้ว แจกลูกหลานเอาไปแบ้งกันกินได้เลย เหลือไว้ตักบาตรทำบุญ บ้างคัดแยกไว้ บางคนยังถามหามะพร้าวอยู่นะ เขาเอามะพร้าวห่าม ๆ มาขูดเบา ๆ เอาเนื้อมะพร้ามามาเป็น ส่วนผสม แล้วปอกข้าวต้มมาใช้เชือกตัดเป็นท่อน ๆหล่นลงไปบนเนื้อมะพร้าว โรยน้ำตาลซ้ำอีก ทีนี้ต้อง ตักใส่จาน ใช้ช้อนตักกิน เอาไปถวายพระท่านก็ชอบนะ
.............ข้าวต้มผัด ก็คือข้าวต้มมัด แบบใส่กระทินั่นเอง อุปกรณ์แตกต่างกันนิดหน่อยคือ มีการใส่กระทิ มีการ เลือกใช้ใบตองกล้วยอ่อน ๆ สีสวย ๆ แล้วกระทิมาแทรกตอนไหน ตอนเตรียมข้าวสารไง จะเคี่ยวหางกระทิ ก่อนจนงวดแล้วจึงเอาข้าวสารที่แช่นิ่มแล้วลงไปผัด ใช้ไฟอ่อน ๆ พอจะแห้งเติมหัวกระทิ เติมน้ำตาล ผัด จนข้าวสารเป็นเม็ดใสเหลือขุ่นขาวแค่ตรงกลาง แสดงว่าเกือบสุก หยุดไฟ ทิ้งไว้ให้แห้ง ค่อยนำไปห่อด้วย ใบตองชนิดพิเศษ มีใส้กล้วยและถั่ว นึ่งสุกแล้วอร่อยมาก ๆ คนแก่ชอบ
-----------------------
ทำขาวหลามกินเถอะ
-------------------------
............ข้าวหลามที่พวกเดินป่าล่าสัตว์ชอบทำกิน เพราะไม่มีหม้อนึ่ง มีข้าวเหนียวไปกินวันเดียวก็หมด เหลือ แต่ข้าวสาร ก็ต้องใช้วิธีหลามด้วยกระบอกไม้ไผ่ แช่ข้าวสารตั้งแต่ตอนเย็น รุ่งเช้าก็เผากระบอกข้าวหลามให้ สุก ได้ข้าวเหนียวสุกหอม กินอร่อยมาก ยิ่งถ้าได้ไม้ไผ่อ่อนที่มีเยื่อกระดาษหนา ๆ เวลาสุกเยื่อไม้ไผ่จะหุ้ม ข้าวสุกเอาไว้ กินง่ายหอมมาก ๆ คนนึ่งข้าวเหนียวเป็น จึงทำข้าวหลามเป็นกันทุกคน
...........ไม้ทำข้าวหลาม ถ้าต้องการให้มีเยื่อกระดาษหุ้ม ต้องเลือกไม้อ่อน ไม้แก่เยื่อมักขาดง่าย หรือไม่ก็ใช้ ไม้ข้าวหลามโดยเฉพาะ คล้ายไม้บง ปล้องยาว แบบนี้เปลือกบาง เยื่อเหนียว เหมาะทำข้าวหลามมาก ไม้เปราะ ก็ทำข้าวหลามได้แต่เยื่อหนา กระบอกเล็ก เลยไม่นิยม ไผป่า ไผ่ตง เลือกลำอ่อนมาทำข้าวหลาม ได้กระบอก ขนาดใหญ่ดี
............ข้าวสารเหนียว ถ้าไม่ต้องการกระทิ ก็ใช้วิธีแช่ในกระบอกไม้ไผ่ได้เลย สามชั่วโมงก็นิ่มพอเผาไฟได้ ถ้าเป็นข้าวเหนียวดำ ต้องแช่ให้นิ่มก่อนนำไปกรอก เพราะแช่ให้นิ่มยากใช้เวลานาน ถ้าต้องการทำข้าว หลามกระทิ ต้องเลียนแบบทำข้าวต้มผัด
...........วิธีที่ 1 ตัดกระบอกข้าวหลามได้ขนาดที่ต้องการ นำไปกรอกข้าวสาร กรอกน้ำแช่ข้าวสาร ทิ้งไว้ทั้งคืน รุ่งเช้าหาใบตองมาปิดปากกระบอก นำไปเผาไฟ คอยตรวจดูอย่าให้ไหม้ก่อนสุก สังเกตไอน้ำที่พ่นออกมา ทางปากกระบอกจะค่อย ๆ หายไปเพราะมันสุกแล้ว เอาออกมาทิ้งให้เย็นค่อยนำไปปอก
...........วิธีที่ 2 แช่ถั่วดำอ่อนแล้วนำไปต้มให้สุก ล้างให้สะอาด น้ำมากรอกตอนกรอกข้าวสารลงในกระบอก เช้ามาก็นำไปเผาได้ แบบนี้ได้ข้าวหลามถั่วดำปน อร่อยถูกใจคนชอบถั่วดำ
...........วิธีที่ 3 ผัดข้าวสารด้วยกระทิแบบทำข้าวต้มผัด คือแช่ข้าวสารนิ่มแล้ว เคี่ยวหางกระทิรอไว้ ได้ที่ก็เท ข้าวสารลงไป เติมหัวกระทิระหวางผัด เติมน้ำตาลถ้าต้องการหวาน เกือบสุกก็หยุด ทิ้งให้เย็นค่อยนำไปกรอก กระบอกข้าวหลาม แบบนี้ได้ข้าวหลามสีขาว ถ้าเติมถั่วดำที่ต้มสุกแล้ว ก่อนกรอกกระบอกข้าวหลาม ก็จะได้ ข้าวหลามสีดำ ตามใจชอบครับ 
-----------------


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น