ไปเที่ยววัดหงส์ทอง บางปะกง
----------------------------------------------
..........เกิดมาพอรู้ความก็ได้ยินเลย ผู้เฒ่าจะสอนลูกหลานมิให้ตำหนิ ด่าว่าพระ ท่านว่าเป็นบาปมาก ผู้หญิงนี่ห้ามสัมผัสแตะต้องด้วย เป็นเด็กก็ไม่ได้ ดีนะสมัยก่อนไม่มีภาพออนไลน์ให้ดูกัน วันหนึ่งผมเห็นคุณพ่อบวชใหม่อุ้มลูกสาวถ่ายภาพ หลายคนคอมเม้นท์ว่าไม่เป็นไร ไม่ได้มีจิตลามกซะหน่อย เราอ่านก็ขำ ๆ ถ้าได้..มีโอกาสบวชจะลองกอดสีกาหน้าตาดีโดยไม่มีจิตลามกถ่ายรูปอวดซะหน่อย ไม่รู้คนจะคอมเม้นท์ว่าอะไร คงจะออกมาทำนองหลวงตาหัวงูซะมากกว่า คนสมัยก่อนท่านเคารพพระภิกษุกันมาก ไม่อยากให้ใครติเตียนท่าน แต่สมัยนี้ต้องคิดใหม่แล้วแหละ...
..........พระภิกษุ ไม่ใช่พระสงฆ์ในบทสวดมนต์ไหว้พระ ย่อมจะมีทั้งพระภิกษุธรรมดา ๆ และพวกบวชเพื่อศึกษาพระธรรม ... กว่าจะเป็นสาวกสังโฆ ก็นานอยู่ พระที่บวชแล้วก็ยังไม่เคยรู้จักศีลพระ หลายพรรษายังสวดบททำวัตรไม่ได้มักเห็นบ่อย เคยเห็นเพื่อนแทคมาให้ดู บอกว่าวัดนี้ท่านขยันทำวัตรสวดมนต์ ไลฟ์สดมาให้ดูด้วย เราก็ดูด้วยความแปลกใจ เห็นพระ 5 รูป นั่งเปิดหนังสือสวดมนต์ ข้างล่างชาวบ้านเห็นสัก10 คน นั่งเปิดหนังสือทำวัตรเย็นกัน อ้อวันพระมาจำศีล เลยทำวัตรพร้อมพระ ดูพระอายุเกิน 60 หมดคงบวชไม่นานถึงต้องอ่านหนังสือทำวัตร มีรูปหนึ่งเรารู้จัก ท่านเกษียณมาสามปีแล้ว ข่าวว่าท่านบวชไม่ได้อยู่บ้าน แสดงว่าสองพรรษาเศษแล้ว บวชพระแล้วสวดมนต์ปากเปล่าไม่ได้นี่ ไม่งามเลยนะ รีบ ๆท่องเถอะหลวงพี่หลวงพ่อ เจอเขานิมนต์ไปสวดศพแบบทางบ้านนอกละก็ หนาวแน่ คงไม่กล้าหอบหนังสือไปอ่านสวดศพหรอกนะ
.....พระที่ทำให้เรานึกตำหนิ ได้แก่ท่านที่มีพฤติกรรมไม่สำรวม ไม่สมกับมีศีล 227เดินบิณฑบาต สะพายย่าม หนักหน่อยก็ถือถุงผ้าไปด้วย เอ...หลวงพ่อ รับบาตรก็มีข้อจำกัดอยู่มิใช่หรือ รับแค่พอฉัน หรือรับพอเต็มบาตร หยุดรับได้แล้ว มากกว่านั้นมันเป็นอาบัติทุกคำเชียวนา มีบางรูปชาวบ้านเขาใส่เงินทองลงในบาตรด้วย บาปทั้งคนใส่และคนรับแหละคุณโยม แถวหน้าบ้านมี 3 หลวงตา เขาจัดเก้าอี้ให้นั่งบิณฑบาต ข้าง ๆมีถุงปุ๋ยสองสามใบไว้ถ่ายของเวลาของเต็มบาตร เห็นภาพแล้วเราเกิดบาปทุกวัน ๆ ก็เกิดมโน ทุจริตน่ะครับ อ้ออีกนิดที่ท่านให้พรเสียงดังลั่นเชียว คงเพื่อให้คนใส่บาตรอิ่มบุญมั้งแต่มั่นทำให้ท่านอาบัติ ทุกคำที่สวดไป คงไม่ใช่บุญของท่านแน่ บาปเหมือนกันน่ะแหละ
.........พระที่ไม่สำรวมระวังอาบัติหนัก เห็นเป็นเรื่องจิ๊บ ๆ สมัยผมเป็นพระ รู้ว่าพระได้รับเงินอุดหนุน มีสำนักเรียนปริยัติธรรม มีนักเรียน จะได้รับเงินบำรุง เอาถวายเจ้าอาวาส และครูผู้สอน เจ้าอาวาส เจ้าคณะตำบล ยังไม่มีนิตยภัต ผมได้รับนิตยภัตครั้งแรก เดือนละ 60 บาท ในตำแหน่งเลขานุการเจ้าคณะอำเภอ ดีใจแทบตาย ปี 2516 ก่อนสึกมี บัญชีนิตยภัตเจ้าอาวาสทุกวัด ได้รับด้วย รู้สึกจะเป็นเดือนละ 100 บาท ยังนึกอิจฉาเลย ดีกว่าเป็นเลขานุการ เจ้าคณะอำเภออีก แต่มันมีปัญหาเกิดขึ้นน่ะครับ มีคนมาถามหาวัดร้าง คือวัดที่ไม่มีพระจำพรรษา แต่ยังไม่ได้ยกฐานะเป็นวัดร้าง ชาวบ้านพยายามหาพระไปอยู่ไม่อยากให้ร้าง เจ้าคณะตำบลก็แจ้งให้ทราบ และขอให้ชะลอเวลาไว้จนเข้าพรรษา ไม่มีพระอยู่จริง ๆ ก็เข้าทะเบียนวัดร้างได้ ถามเขาจะเอาชื่อวัดไม่มีพระไปทำอะไร เขาบอกจะหาเจ้าอาวาสไปอยู่ให้ เจ้าคณะจังหวัดเป็นคนลงนามคำสั่งแต่ตั้งเจ้าอาวาสนี่ จะยากอะไร มีบัญชีรายการถวายท่านก็ลงนามให้หมดแหละ แสดงว่ากลั่นกรองมาระดับตำบล อำเภอมาแล้ว มารู้ทีหลังว่าเจ้าอาวาสรับนิตยภัตทุกเดือน แต่ไม่ได้ไปอยู่วัดเลย สมัยนั้น 100 บาทเองนะ แต่วันนี้ทราบว่า เป็น 1200 บาทแล้ว คงมีพระไม่สำรวมโดนปาราชิกาบัติเป็นว่าเล่นเพราะ เกิน 300 บาท ตั้ง 4 เท่า(อาบัติปาราชิก บัญญัติไว้ ลัก โกง 5 มาสก เป็นอาบัติ และ เทียบค่าเงินปัจจุบัน เท่ากับ 300 บาท)
.........พูดถึงแต่เรื่องเสียหาย เรื่องดี ๆ ของพระไม่มีหรือไง มีสิครับ เยอะด้วย จนเขาเรียกว่าพระนั่นแหละ พระ คำนี้ เป็นคำเดียวกับคำว่า พร หรือ วร ที่แปลว่าเลิศ ประเสริฐ ดีงาม จากคนดิบ ๆ บวชเสร็จเรียก พระ ทันทีเลย แสดงว่าเป็นพระนี่ มีอะไรดีแน่ ถึงมั่นใจว่า บวชแล้ว เป็น พระ ได้ ความจริงมันก็ไม่ง่ายอย่างที่คิดหรอก เพราะผ่านพิธีกรรมที่จะเป็น พระ แล้ว ต่อไปก็ทำให้เป็นพระซะสิ จะได้เป็นพระจริง ๆ ทำอย่างไรถึงเป็นพระได้ล่ะ ตอนบวชท่านก็บอกแล้วนะ ไม่จำเอง มีอะไรบ้าง
.........1. เธอต้องเคารพนับถือพระศาสดานะ (นะโม ตัสสะ ภควะโต อรหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ 3 หน)
.........2. เธอต้องนับถือพระรัตนตรัย เป็น ที่พึ่ง คือเป็น สรณะ ทุกศาสนามี สรณะต่างกันไป ศาสนาพุทธ มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ( พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิสังฆัง สรณัง คัจฉามิ 3จบ)
.........3. เธอต้องบรรพชาเป็นสามเณร สมาทานศีล 10 ข้อก่อน
.........4. คณะสงฆ์จะประชุมรับเธอเข้าพวก ด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา ถ้าผ่านสังฆกรรมนี้ไปก็เป็นพระภิกษุและถือศีล 227 ข้อได้
..........กว่าจะเป็นพระ ไม่ง่ายนะ เป็นแล้วก็อย่าลืมล่ะ เทวรูปสีดำ ๆ ห้อยคออยู่เมื่อก่อนก็ปลดออกซะ คนละศาสนา พวกผ้าเขียวผ้้าแดง คาดต้นโพธิ์ก็อย่าไปช่วยเขาทำ นั่นมันวิธีนับถือผีสางของชาวบ้าน ศาลพระภูมิที่ชาวบ้านตั้งในวัด ก็เรียกเก็บค่าเช่าด้วย นั่นมันเอาศาสนาผีมารุกรานวัดนี่นา ยอมได้ไง ตั้งใจฝึกอบรมการเป็นพระให้ดี.....
..........พระมีศีล 227 ข้อ ขาดข้อเดียวก็ไม่ได้ อย่าไปเชื่อพวกมักง่ายที่บอกบางข้อเล็ก ๆน้อย ๆ อย่าไปสนใจ....เล็กน้อยแต่ก็ทำให้ครบ 227 นา ไม่สนใจก็ไม่ครบสิ ดูทองสิอยากได้ทอง 100 % ทั้งนั้นแหละ ขาดเหลือ 90 % ก็ไม่ชอบ พระไม่ครบ 227 ข้อ ไม่ดีแน่ ต้องรีบศึกษาและนำมาปฏิบัติโดยด่วน แบบบวชหลายพรรษาแล้วยังมีหน้ามาถามว่ายิ้มให้สีกาก็อาบัติหรือ....ตำรามีทำไมไม่อ่าน ยิ้มแบบคนมีเมตตากรุณา กับยิ้มแบบเจ้าชู้มัน ต่างกันอย่างไร สาว ๆ เข้ารู้ดีกว่าหลวงพี่น่า...
.........พระมีภาระสำคัญคือประกอบพิธีกรรมต่าง ๆให้ชาวบ้าน ใช้บทสวดคำบาลีทั้งนั้นจนมีหนังสือเจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน คำบาลีที่ต้องใช้อยู่ในนั่นหมด ต้องท่องให้ได้ภายในสามเดือนแรกที่บวช งานที่ต้องสวด ก็ทำบุญวันพระ ทำบุญบ้าน งานศพ งานอื่นๆก็อาจมีมาเช่นสวดสีมา สวดสังฆกรรมต่าง ๆ เคยเห็นหลวง พ่อหอบตำราไปสวด ไม่ขำเลยนะหลวงพ่อ รีบ ๆท่องเข้าเถอะ อายเขา
.........พระต้องเรียนคำสอนศาสนา ไว้เป็นแนวปฏิบัติของตนเอง และสอนชาวบ้านหลักสูตรนักธรรมตรี โท เอก จะมีสาระสำคัญ 3 เรื่องคือ หลักธรรม หลักวินัย และพุทธประวัติ/อนุพุทธประวัติ ควรหาตำรามาศึกษาเล่าเรียน เพราะวันหนึ่งอาจต้องเทศน์สอนคนอื่น ...ไม่มีความรู้เลย เอาอะไรไปสอน เคยเห็นหลวงพ่อบวชหลายพรรษาแล้ว สอนชาวบ้านขำจะตายเพราะท่านสอน ให้ชาวบ้านนับถือโลกธรรม 4 ฝ่ายอิฏฐารมณ์ บอกว่าทำบุญกุศลมากไว้ จะช่วยให้มี ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข กรรมจริง ๆ เพราะไม่รู้จึงสอนอย่างมั่นใจ บาปนะหลวงตา เพราะฉะนั้นการศึกษาหลักคำสอนจึงจำเป็น อย่างน้อยก็ปฏิบัติถูก จะแนะนำคนอื่นก็แนะนำถูก
.........พระต้องศึกษาประเพณีวัฒนธรรมของชาวบ้าน ประเพณีส่วนมากก็จะเกี่ยวข้องกับการเกิดไปจนถึงการตาย อีสานง่ายหน่อยมี ฮีตสิบสองคลองสิบสี่ให้ศึกษา เดือนอ้ายปริวาสกรรม เดือนยี่ทำบุญคูณลาน เดือนสามบุญข้าวจี่ เดือนสี่บุญมหาชาติ เดือนห้าบุญสงกรานต์ เดือนหกบุญบั้งไฟ เดือนเจ็ดบุญเบิกบ้าน เดือนแปดบุญเข้าพรรษา เดือนเก้าบุญข้าวประดับดิน เดือนสิบบุญข้าวสาก เดือนสิบเอ็ดบุญออกพรรษา เดือนสิบสองบุญกฐินต้องมีความรู้ทุกประเพณี เพราะชาวบ้านเขาจะให้พระร่วมทุกประเพณีแหละ ต้องมีความรู้แนะนำชาวบ้านได้ด้วย
.........เขียนถึงการตำหนิพระว่าจะเขียนสั้น ๆ แต่มันยาวจนได้ พระแบบที่เขียนถึงเป็นพระที่อยู่ตามวัดวาอารามหมู่บ้านต่าง ๆ ได้ข้อมูลแบบประเพณีอีสาน เนื้อหาเลยออกไปทางฮีตสิบสองคลองสิบสี่ ส่วนประเพณีภูมิภาคอื่น ๆ ไม่ค่อยรู้จัก เลยไม่กล้าเขียนถึงกลัวจะไม่ใช่น่ะครับ คงจบไว้แค่นี้ ล่ะครับ
วันศุกร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2561
วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2561
คุณทำบุญเพื่ออะไร
……ได้รับคลิบยูทูปเรื่องทำบุญเพื่ออะไร ดูจบแล้วครับขอบพระคุณเพื่อนที่แจ้งให้ ทราบ เห็นด้วยทุกประการครับ เพราะผมเองก็สนใจเรื่องการทำบุญทำกุศลเหมือนกัน และมีความเชื่อมั่นว่า เราทำบุญเพื่อปัจจุบันมากกว่าทำเพื่อชาติหน้า แต่การทำบุญ ของกระผม ยังยึดหลักเดิม ๆ อยู่ครับ
.......หลักทำบุญที่ยึดเป็นแนวปฏิบัติมี 3 เรียกบุญกิริยาวัตถุ คือทานมัย สีลมัย และ ภาวนามัย ทำทานเพื่อชำระโลภ เพื่อสะสมความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความรักใคร่เมตตา ปฏิบัติศีลเพื่อฝึกสติสัมปชัญญะ ชำระพฤติกรรมทางกายและวาจาให้หมดจดเรียบร้อย ปฏิบัติภาวนามัยเพื่อชำระสะสางโมหะความโง่ให้เกิดสติปัญญาเฉลียวฉลาด บุญที่ได้ กระทำจึงเกิดผลให้กระผมในปัจจุบันชาตินี่แหละ ไม่เคยรอว่าจะไปรับชาติหน้าหรอก
.......ทานวัตถุสิ่งของ เราได้ชำระความตระหนี่ถี่เหนียว ที่เกาะใจเราให้เบาบางลง คน ที่ได้รับสิ่งของไปก็พอใจได้บริโภควัตถุทานที่เราให้ทาน ส่วนธรรมทานมักจะเป็น การให้ความรักความเมตตา ให้อภัย เราได้รับความปิติยินดีที่ได้ทำ ได้รับไมตรีตอบ ย้อนมา ให้วิทยาทานได้รับความพึงพอใจปิติยินดีมาก อย่างกระผมสอนศิษย์ เรื่อง ธรรมบาลี สอนภาษาไทย สอนการวัดผลประเมินผล สอนวิจัย นิเทศการสอน ผู้รับ วิทยาทานเรือนหมื่น ปิติยินดีที่ได้ให้วิทยาทาน เป็นบุญกุศลที่ได้รับในปัจจุบันครับ ส่วนชาติหน้าไม่ต้องไปคาดหวังให้ยาก บุญกุศลเป็นของเราอยู่แล้ว
.........สีลมัย ผมใช้ฝึกสติสัมปชัญญะ เพราะจำเป็นต่อการปฏิบัติศีล ถ้าขาดสติและ สัมปชัญญะ ก็ปฏิบัติศีลยุ่งยาก ถ้าสติสัมปชัญญะอยู่กับตัวและมีพลังมั่นคง ศีลก็จะ ปฏิบัติง่ายไม่ค่อยขาด เช้ากระผมสมาทานศีลเสร็จก็ให้สติสัมปชัญญะกำกับต่อ ถ้า เจอสถานะอาจทำให้ศีลขาด สติสัมปชัญญะมาทันทีว่า อย่านะ ๆ ๆ ก็เก็บศีลไว้ได้ ทุกครั้ง ที่พบเรื่องหวาดเสียวต่อศีล สติสัมปชัญญะมาเลย มันดีมาก ๆ ลองเอาไปใช้สิครับ สติสัมปชัญญะ อยู่กับเราจะทำให้เรารู้ตัวตลอดเวลา ถ้าหายไปก็คือเราลืมตัวครับ รู้ตัวมาก ๆยิ่งดี เป็นประโยชน์ต่อเรามาก จะคิด จะพูด จะทำการงาน ในขณะที่เรามี สติสัมปชัญญะท่านเรียกว่าอยู่ในสถานะไม่ประมาท มีคุณประโยชน์มากครับ
........ภาวนามัย ทำบุญด้วยการภาวนามี 3 อย่าง สมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา และ ภาวนาธรรมดา ๆ ชาววัดท่านมี 2 อย่าง ส่วนแบบที่ 3 กระผมเรียกเอง เป็นอย่างไร มาพิจารณากัน
........สมถภาวนา....เป็นการภาวนาเพื่อให้เกิดสมาธิ ตั้งแต่สมาธิพื้นฐาน ไปจนถึงรูปฌาน อรูปฌาน แบบที่เจ้าชายสิทธัตถะไปฝึกกับอาราฬดาบสและอุทกดาบทนั่นแหละ ถือ ว่าวิชานี้มีมาก่อนเกิดพุทธศาสนา
.........วิปัสสนาภาวนา...เป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าท่านใช้หลังจากบำเพ็ญสมถะจนเกิดฌานมี สมาธิแล้วน้ำนำสมาธิไปพิจารณารูปนามจนเห็นไตรลักษณ์และบรรลุอริยสัจในที่สุด ถือเป็นแนวทางเอกของพุทธศาสนา
.........ภาวนาธรรมดา....เพราะภาวนาแปลว่าการฝึกอบรม ภาวนาสมถะ เพื่อสมาธิ ภาวนา วิปัสสนาเพื่อเห็นไตรลักษณ์ ส่วนภาวนาธรรมดา เพื่อขจัดโมหะความโง่และให้ความ ฉลาดสติปัญญามาแทนที่ มีความสำคัญมากนะครับ เพราะทุกคน ทุกชาติ ทุกศาสนา เกิดมามี โมหะ ความโง่ ห่อหุ้มไว้ทุกคน นั่นก็ไม่รู้ นี่ก็ไม่เป็น กินยังต้องคนอื่นช่วย ขับถ่ายก็ยุ่งคนอื่น ต้องได้รับการฝึก การอบรม ง่าย ๆก็พ่อแม่พี่น้องช่วยดูแล เรื่อง ยากมากขึ้นก็ส่งโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย ความโง่หรือโมหะก็ถูกชำระออกเรื่อย กลายเป็นคนเก่ง ฉลาดมากขึ้น ภาวนาธรรมดาจึงสำคัญและจำเป็นต่อทุกคน ทุกชาติ ทุกศาสนาแบบนี้นั่นเอง
.........สรุปว่าบุญที่กระผมทำอยู่มันให้ผลปัจจุบันนี่แหละ เพราะความฉลาดขยันมีความรู้ก็ บุญนั่นแหละเอาไปใช้ในการทำไร่ทำนา ทำอยู่ 7 ปีเชียวแหละ ไปภาวนาต่อ..เรียน นักธรรม เรียนเทศน์ เรียนบาลี เรียนวิชาครู ผลบุญที่ได้เอาไปเป็นครูสอนนักธรรม สอนบาลี ไปเทศน์สอนชาวบ้าน ผลภาวนาอบรมวิชาครูได้ความรู้คือบุญไปสอบบรรจุ ครูได้ด้วย ไปอบรมเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัย ได้บุญคือความรู้มากขึ้น ตำแหน่งหน้าที่ การงานก็เพิ่มขึ้นเพราะบุญจากภาวนาหรืออบรมนั่นแหละ แน่นอนครับบุญกระผมเอา มาใช้ปัจจุบันมากกว่า ส่วนชาติหน้าไม่รู้เหมือนกันจะได้อะไรไปใช้บ้าง แต่คงไม่ต้องไปลำบากที่ทุคติหรอก เพราะผมถือคติว่า จิตเต สังกิลิฏเฐ ทุคติ ปาฏิกังขา ดังนั้น จึงเชื่อว่า จิตเต อสังกิลิฏเฐ สุคติ ปาฏิกังขา จบครับ
วันศุกร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2561
เฉลิมฉลองวันทุกข์
..........ขอใช้คำนี้เป็นหัวข้อสำหรับการขอบพระคุณ เพื่อนพ้องน้องพี่ ที่มีน้ำใจ ให้พร ให้กำลังใจ มาลัย ดอกไม้ บางท่านถึงกับชวนไปทานข้าวเมนูพิเศษที่ กระผมชอบ ก็ดีครับ ชอบและพึงพอใจ แล้วทำไมถึงเรียนว่าเฉลิมฉลองวันแห่ง ความทุกข์ล่ะ กระผมคิดอย่างนี้มานานแล้วครับ
...........คนเฒ่าคนแก่บอกเองว่าวันเกิดของเรา คือวันเจ็บปวดของแม่ วันวิตก กังวลของพ่อ แต่ถึงจะเจ็บปวดกังวล แต่พอเกิดแล้วกลับยินดี ชื่นชม ลืมความ เจ็บปวดเสียได้ ส่วนเราคนที่เป็นเจ้าของการเกิด ยังไม่รู้สึกยินดีอะไรหรอก ผ่าน มาอีกหลายปีถึงรู้ว่า มีคนช่วยจัดฉลองวันเกิดให้ แต่กระผมไม่รู้จัก คนในครอบ ครัว หมู่บ้าน ไม่เคยได้ยินฉลองวันเกิด เราคนบ้านนอกครับ ถนนหนทาง ก็ดิน ทราย ไฟฟ้าประปา ไม่รู้จัก (2487) บ้านคนมีฐานะมีรถขี่ ชั้นดี สมัยนั้นก็เกวียนราชาไม แกะสลักลวดลายสวยงาม ราคาแพง ครับสมัยนั้นก็คือบ้านนอกหรือชนบท ดังนั้น จึงไม่รู้จักการจัดงานฉลองวันเกิด จนเมื่อไปเรียนต่อระดับมัธยม 2498 ถึงรู้ว่า วันเกิดเขามีการเฉลิมฉลองกัน ครูสอนภาษาอังกฤษแกจัดงานวันเกิดที่บ้านครู แต่มีขนมมาฝากนักเรียน และเล่าเรื่องจัดงานให้ฟัง นับแต่นั้นมาก็ถือว่ารู้จักว่ามีการฉลองวันเกิด แต่วันเกิดของตัวเองไม่เคยจัดหรอก
..........ไม่เคยเห็นกิจกรรมวันเกิดเพื่อน ๆหรือ.... ก็มีนะเพื่อนบางคน ถึงรอบวันเกิด ก็ชวนเพื่อนสนิทสามสี่คน ยืนร้องเพลงฝรั่งแล้วแจกขนมกัน สมัยนั้น (ปี 2499) ขนมยอดฮิตคือ ขนมไข่ขี้เจี้ยม ก็ขนมลูกกวาดก้อนกลม ๆ ขนาดเท่าไข่จิ้งจก มี หลากสีสวยงามน่ากิน เวลานุ่นบนต้นแก่ มีพ่อค้าเอามาแลกนุ่น ลูกหนึ่งแกให้ถึง 5 เม็ด ถ้าจะจัดบ้าง ก็ต้องหาไข่ขี้เจี้ยมเป็นถุงก็ประมาณ 1 บาท ถึงจะพอแจก ได้เงินไปโรงเรียนวันละ 1 บาท (ม1-3) บาทเดียวก็มากนะ เพราะก๋วยเตี๋ยวชาม ละ 25 สตางค์ ถ้าเงินเหลือกลับบ้าน แม่ก็เพิ่มให้ครบบาทสำหรับวันต่อไป ก็ไม่ ได้ทักท้วงอะไร เต็มบาทก็ไปเรียนได้แล้ว ช่วงไปเรียน ม.ปลาย 2501-2503 ก็เห็นเพื่อนจัดฉลองวันเกิด มีชวนกันไปเลี้ยงก๋วยเตี๋ยว มีเค้กมาเป่าเทียนใน ห้องเรียน ชั่วโมงภาษาอังกฤษ ครูชอบมาก ช่วยแนะนำการร้องเพลง ตัดเค้ก มีคนจัดอยู่สองสามคน ลูกคนมีสตางค์ เราก็ยินดีด้วยรอรับแจกขนม
.........ปี 2504 จบ ม.6 อายุ 16 ปี เขามีสอบบรรจุเข้ารับราชการ ครูประชาบาล พนักงานเกษตรอำเภอ หลายร้อยตำแหน่ง ได้แต่เสียดาย อายุไม่ถึง 18 ปี ไม่ได้เรียนต่อ ตกงานเขาเรียกเตะฝุ่นอยู่บ้าน ปี 2506 ไม่มีแล้วเลื่อนไปรับวุฒิระดับ สูงขึ้น ครูก็ต้องมีวุฒิครู ป.กศ. เตี้ย ถึงสมัครได้ ก็เตะฝุ่นต่อ ลืมฉลองวันเกิดไป ได้เลย แถวบ้านไม่มีใครเขาจัดหรอก อยู่บ้านก็ทำไร่ทำนา 2505-2510 หลายปี เชียวชาญนา มีความรู้ประสบการณ์ถึงระดับเชี่ยวชาญเลยแหละ วัดจากอะไรล่ะ... ทำ เครื่องมือใช้สำหรับทำไร่ทำนาได้เองไม่ต้องซื้อคนอื่น ทำอะไรบ้าง คราด ไถ เชื่อกเส้นเล็ก เชือกคร่าว เครื่องจักสานพวก ตะข้อง แงบ ไซ ลอบ ลงนาต้องมี ทำกระท่อมนาได้เอง อย่างน้อยก็กระท่อมไม้ไผ่ เสา ฟาก หลังคามุงแฝก ใช้ได้ ไปเหล่ลูกสาวบ้านไหนก็ยินดีต้อนรับเชียวนา สงสัยมัวแต่วุ่นวายกันภาระงานมาก ไปเลยลืมฉลองวันเกิดไปเลย
........ปี 2510-2516 อุปสมบท แรกก็บอกเราว่าให้บวชพรรษาเดียว สึกออกมา จะจัดแต่งงานให้ สาว ก็คนรู้จักกัน นาติดกัน เป็นคนดีด้วยนะขยันมาก ๆ พ่อแม่ เราจองไว้ให้ แต่เราแค่รู้จักคุ้นเคยธรรมดา ยังไม่เคยคิดไกลปานนั้นหรอก พอ ได้บวชก็ติดการศึกษาเล่าเรียนทางธรรม ครบสามเดือนก็ไม่สึก ไปต่อ ได้เรียน นักธรรม บาลี เทศน์หกกระษัตริย์ เทศน์ปุจฉาวิสัชชนา จบนักธรรมเอก ได้เปรียญ สี่ประโยค เทศน์หกกษัตรย์ได้ เทศน์สองธัมมาสน์ได้ เป็นครูสอนนักธรรม เป็น ครูสอนบาลี เป็นครูสอนการศึกษาผู้ใหญ่ เป็นเลขานุการเจ้าคณะอำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย ดีที่สึกเมื่อปี 2516 ไม่งั้นไปเป็นเจ้าคณะอำเภอแน่นอน เพราะมี ตำแหน่งว่างลง ชาวบ้านมาขอพระเปรียญไปเป็นเจ้าอาวาส คั่วตำแหน่งเจ้าคณะ อำเภอ เพราะพระในพื้นที่ไม่มีพระเปรียญ ชาวบ้านเขาอยากได้ เสียดายมาช้า เพราะเราลาสิขาบทแล้ว ได้แต่หัวเรากัน โยมพวกนี้เคยมานิมนต์ไปเทศน์เลย รู้จักเรา
........เอ...เล่าไปก็ยาวไปเรื่อย ๆ กลับเข้าสู่สาระสำคัญที่อยากจะบอก ก็วันเกิด นั่นแหละ ตอนบวชนี่เองไปรู้เรื่องความทุกข์ แบบที่สวดบ่อย ๆไง ทุกขอริยสัจ "อิทัง โข ปะนะ ภิกขะเว ทุกขัง อริยสัจจัง (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็นี้แลเป็นทุกข์ อย่างแท้จริง) คือ ..ชาติปิ ทุกขา (ความเกิดก็เป็นทุกข์) ชราปี ทุกขา (ความแก่ก็เป็น ทุกข์) มรณัมปิ ทุกขัง (ความตายก็เป็นทุกข์) โสกปริเทวทุกขะโทมะนัสสุปายาสาปิ ทุกขา (ความเศร้าโศก ความร่ำไรรำพัน ความทุกข์โทมนัส และความคับแค้นใจ ก็ เป็นทุกข์) อัปปิเยหิ สัมปโยโค ทุกโข (ความประสบกับสิ่ง ที่ไม่เป็นที่รักทั้งหลายก็ เป็นทุกข์) ปิเยหิ วิปปะโย.โค ทุกโข (ความพลัดพราก จากสิ่งที่รักทั้งหลาย ก็เป็นทุกข์) ยัมปิจฉัง นะ ละภะติ ตัมปิ ทุกขัง (ปรารถนาสิ่งใดแล้ว ไม่ได้สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์) สังขิตเตน ปัญจุปา ทานักขันธา ทุกขา (โดยย่อแล้ว อุปาทาน หรือความยึดมั่นในขันห้า (ตัวเรา) ล้วนเป็นทุกข์)"
..........การเรียนการสอนในห้องเรียนนักธรรมก็ย้ำเสมอว่า ชาติปิ ทุกขา ความเกิด เป็นทุกข์ แล้ววันเกิดล่ะ ก็เล่าตอนต้นแล้วทุกข์ของแม่และความวิตกกังวล ของพ่อ มาหาวันเกิดนั่นแหละ วันเกิดของเราจึงเป็นทุกข์แน่นอนไม่มีใครเถียง เพราะเกิดนั่นและสาระพัดทุกข์จึงตามมา เราต้องดิ้นรนเพื่อหนีทุกข์กันตลอดเวลา หนักกว่าใครก็คือทุกข์เพื่อความ"เป็นอยู่" หายใจไง หยุดเมื่อไร ก็ไม่เป็นอยู่แล้ว แต่จะ "ตายไป" ดีที่หายใจมันไม่ใช่งานหนักที่เหน็ดเหนื่อย เลยทำได้สบาย ๆ ส่วนทุกข์ที่ต้องดิ้นรนเพื่อความเป็นอยู่ อย่างสะดวกสบายก็คิด ดิ้นรนศึกษาเล่าเรียน ทำมาหากิน ไม่งั้นก็ทุกข์มาเยือน ไม่มีอันจะกิน ไม่มีอันจะบริโภค อาบเหงื่อต่างน้ำกันนั่นแหละ ชาติ เป็นทุกข์ การดิ้นรนต่าง ๆ เป็นทุกข์ตามมาหลังจาก ชาติ แล้ว สรุปนะว่า ชาติ เป็นทุกข์ ของแท้ ทุกข์อริยสัจทีเดียว
.........เราฉลองวันเกิด ก็หมายถึงเฉลิมฉลองให้ "ชาติ" คือ ทุกข์ ของเรานั่น แหละ หรือจะเรียก การฉลองวันชาติของเรา ก็ได้นะแต่คนละวันกับ 24 มิถนายน นั่นของชาติไทยเขา ก็เลยมาถึงสิ่งที่สงสัยก็คือ เมื่อ ชาติปิ ทุกขา ใครชาติปิ ก็ ทุกข์เหมือนกันหมด ไม่เว้นแม้แต่พระพุทธเจ้า ท่านวิ่งหนีทุกข์มาตลอด ที่บอก ว่าหา"โมกขธรรม"นั่นแหละ ธรรมที่จะช่วยให้ โมกข=หลุดพ้น (จากทุกข์) ท่าน หาแบบเอาเป็นเอาตาย 6 ปี ที่เราเห็นภาพเขียนร่างกายซูบผอมมากนั่นแหละ ท่านหาสิ่งที่จะช่วยให้พั้นทุกข์ จนท่านบรรลุอริยสัจ พ้นทุกข์เสียได้ มาถามพวกเรากันดูว่า ทำไมเราจึงยังเฉลิมฉลองวันความทุกข์กันอยู่ ผิดไหมที่เราดีใจวัน แห่งทุกข์(ชาติ) ไม่ผิดหรอก แต่ยังไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ปลายทางคือ รู้จัก ชาติปิ ทุกขา แล้วก็พัฒนาตนเองมิให้ทุกข์เบียดเบียน เพราะรู้แล้วว่าหลัง ชาติปิ ทุกขา แล้ว ทุกข์อื่น ๆ จะตามมามากมาย เตรียมรับมือให้ดีแล้วกันครับ อยากจะเล่าสู่กันฟังแค่นี้เอง แต่มือมันคีย์ไม่หยุด เรื่องเลยยาว สวัสดีครับ
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)