วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ข้อบกพร่องในการแต่งกลอน


                       
คุณเหน่งพาไปทานข้าวบางแสน แวะดื่มกาแฟแถวน้ั้นปีหกหนึ่งนี่แหละ

.............ผมเขียนบทกลอนจริงจังมาแต่ปี 2522 นิราศโตเกียวยาว เกือบ 70 หน้า หลังจากนั้นก็เขียนบ้างตามโอกาส  กลับไปอ่านของเก่าก็พบข้อบกพร่องกลอนมากหลาย จนสามารถนำมาเขียนถึงได้ยาวเลยแหละ  นำมาโพสไว้เผื่อเป็นประโยชน์สำหรับคนอื่นบ้าง......ครั้งแรกโพสเมื่อวันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2559  จากนั้นก็ปรับแก้บ้าง แล้วแต่อารมณ์ครับ

                                                           ขุนทอง ศรีประจง
                                                           28 ธัวาคม 2561
                                                   วันปรับแก้และโพสครั้งล่าสุด


นิราศโตเกียว  คลิก....๑.http://newjarinya.blogspot.com/2018/03/1_28.html
                                   ๒.  http://newjarinya.blogspot.com/2018/03/4.html
                                  ๓. http://newjarinya.blogspot.com/2018/03/3_28.html                                  ๔. http://newjarinya.blogspot.com/2018/03/2_28.html
                                   

.......ผมฝึกร้อยกรองด้วยกาพย์ยานี ๑๑  ก่อนโดยใช้ปากเปล่า สนทนากับลูกสาวคนเล็ก ราว 3-5 ขวบ 

นั่งรถไปส่งแม่ที่สอนอยู่ประถม ชวนสนทนาเป็นคำคล้องจองแบบต่อปากต่อคำ  แรก ๆก็ต่อ 2 คำเหมือนให้เด็กที่เรียน ม. 1 เล่นกัน ปรากฏว่าทำได้ จนแม่ขอเล่นด้วย แล้วก็ต่อให้ยากขึ้นเป็น สามคำ สี่คำ และห้าคำ จนเก่งมาก สามารถสร้างคำถามให้เราตอบ....ช่วงเปิดเรียนเขาเรียนระบบสามเทอม โรงเรียนที่พ่อ
สอนระบบสองภาคเรียน พาไปโรงเรียนด้วย พ่อไปสอนเด็กชุมนุมร้อยกรอง ก็ไปนั่งดูพี่ ๆ เขาทำกิจกรรม
ต่อคำกัน มีการแย่งน้องไปนั่งแทรก อยากดูน้องต่อคำได้ไหม ไม่มีปัญหาเพราะซ้อมกับพ่อทุกวัน นี่นากิจกรรมที่เด็กชอบมากคือถามตอบปัญหาเป็นกาพย์ กลอน ให้เขียนคำถามลงสมุดไปวางที่โต๊ะครู 
ถามด้วยกาย์ตอบด้วยกาพย์ ถามด้วยกลอนตอบด้วยกลอน ฮือฮา มากครูภาษาไทยขอยืมตัวเด็กไปแข่งขันโต้วาทีกลอนสดระดับจังหวัด ได้รองชนะเลิศ เพราะคู่แข่งเป็นเด็ก ม.ปลาย เนื้อหาเด็กเขา
ดีกว่า แต่ฉันทลักษณ์เด็กเราเก่งกว่า
..........ผมชอบเขียนร้อยกรองสด ๆบนกระดานดำเมื่อต้องสอนกาพย์กลอน ปรากฏเด็กทึ่งมากทำไม

ครูแต่ง ได้เร็วทันใจดี ความจริงเราฝึกมานาน ฝึกแบบบ้า ๆบอ ๆ ด้วย เคยไปดูงานการสอนครูภาษา
ไทย และลองบันทึก การดูงานเป็นกาพย์ยานี นั่งสังเกตการณ์ไปบันทึกไป บันทึกได้นะ กลับมาเอา
มาตรวจทานและแต่งเพิ่มเติมเป็น รายงานการดูงานการสอนครูภาษาไทยโรงเรียน..กรุงเทพ ฯ วัน
หนึ่งนึกสนุกอยากเขียนเล่านิทานก้อม ก็หยิบเอานิทานเดอร์ตี้โจ้กของชาวบ้านมาเขียน เพื่อนมา
ขออ่านชอบใจเลยมาขออ่านอยู่เรื่อยในที่สุด ก็แต่งกาพย์ยานีค่อนข้างจะชำนาญ สามารถว่ากาพย์
แบบปากเปล่าได้ ส่วนแต่งกลอนมาเริ่มเขียนจริง ๆตอนเรียน กศ.บ. ปี 2519 ครูให้เขียนนิราศส่งเป็นภาคนิพนธ์คนละเรื่อง อย่างหน้อย 3 หน้ากระดาษ ไม่เกิน 5 หน้า พิมพ์หน้าละ 40 บรรทัด บรรทัด
ละ 2 วรรค รวมต้องพิมพ์ 120 บรรทัด ยาวมาก ๆ  จนนอนไม่หลับกลัวจะ ทำไม่ได้ ไปอ่านนิราศ
ต่าง ๆ  ที่ห้องสมุดจนหลับคาหนังสือ ในที่สุดก็ได้คิดว่า น่าจะลองเขียนดู 
...........กางสมุดแผนผังกลอนไว้แล้วก็หลับตานึกถึงการเดินทางจากบ้านมาที่มหาวิทยาลัย นั่งรถ
จักรยายนนตร์ เมียมาส่งคิวรถ นั่งรถยนต์รวดเดียวไปยัง ขนส่งปลายทาง ต่อรถสามล้อเข้าหอพัก
 จบการ เดินทาง จากนั้นก็นึกหัวข้อ จะเขียนอะไร จุดประสงค์จากบ้าน ลาบุตรภรรยา ขอคุณสิ่ง
ศักดิสิทธิ์คุ้มครอง ภรรยาไปส่ง บขส. ขอบคุณเธอ ฝากดูแลบุตรธิดา ..เข้าหอพักที่มหาวิทยาลัย 
รวมแล้ว 70 หัวข้อ สบายมาก เขียนเล่าเป็นกลอนแปด ปรากฏว่ายาวถึงห้าหน้ากระดาษ ส่งครูผู้
สอนไป วิชานี้ได้เกรด เอ บวก ไม่เลวนักหรอก 
...........หลังจากนั้นแต่งกลอนบ่อยมาก เอาอย่างแต่งกาพย์ยานีที่เคยฝึกมาแล้วบทอวยพรต่าง ๆ
 ใคร อยากได้ วานให้เขียน ได้เลย มากมายนับได้เกินร้อยสำนวน ที่แต่งเป็นนิราศก็มีจนวันหนึ่ง
อยากรู้ผล งานที่เคยเขียนมันมี ข้อบกพร่องอะไรบ้าง พบว่าบางบท บางเรื่อง หักคะแนนได้แทบ
ไม่เหลือคะแนนที่ได้เลย วันนี้ก็เลยนึกอยากนำ ข้อบกพร่องที่เจอมาเขียนไว้ให้ลูกหลาน อ่าน ดู
 จะได้รู้ว่า เราคิดว่าตัวเองเก่งเหลือ หลาย ว่ากลอนปากเปล่า ได้ไม่ติดขัด แต่กลอนก็มีข้อบกพร่อง ตั้งแต่บกพร่องเล็กน้อย ไปจนบกพร่อง มาก ๆ ดังจะนำมาเล่าให้ฟัง ดังต่อไปนี้ 
..............1. ใช้คำขาด ๆ เกิน ๆ กลอนแปด ใช้คำวรรคละแปดคำ คงเพราะ อ่านตำราบอกว่า ใช้ได้วรรคละ
7 - 9 เคยอ่านงานของกวีที่แต่งไว้ ก็มีจริง ๆ เวลาเราแต่งก็ตามสบาย ขาดบ้างเกินบ้าง พอมาอ่านที

หลัง มัน ติด ๆ ขัด ๆ ต้องดู ว่ากี่คำ 7 คำ อ่าน 2-2-3 ลงตัว อ้าววรรคนี้ไม่ได้ต้องอ่าน 2-3-2 ก็เลยรู้และ
ได้คิดว่า ทำไมไม่แต่งให้ลงตัวแปดคำ อ่าน 3-2-3 ลงตัวสบาย ๆ สรุปว่า กลอนแปด แต่งวรรคละแปด
คำแหละดีแล้ว
..............2. คำครบ แต่คร่อมจังหวะ กลอนแต่งเพื่ออ่าน โดยเฉพาะอ่านทำนองเสนาะ มีจังหวะ การ

อ่านแบบ 3-2-3 ทุกวรรค คำขาดคำเกิน ก็ต้องอ่าน 3 จังหวะ ทีนี้คำหลายพยางค์บางคำ คนแต่ง ไม่
ระวัง ปล่อยให้คร่อมจังหวะ ในวรรค อ่านก็สะดุด 8 คำเช่น.. ไปโรงเรียนเขียนอ่านการศึกษา
อ่าน....ไปโรงเรียน/เขียนอ่าน/การศึกษา .........อ่านไม่ติดขัด
.....ถ้าเกิดแต่ง 9 คำบ้าง ลูกเข้าโรงเรียนเขียนอ่านการศึกษา
อ่าน....ลูกเข้าโรง/เรียนเขียนอ่าน/การศึกษา ........อ่านได้ แต่ติด ๆ ขัด ๆ เพราะจังหวะไม่ลงตัว
..............3. เสียงคำท้ายวรรค กลอนอ่านทำนองเสนาะ จะมีปัญหา ถ้าคำลงท้ายวรรค เสียงผิด
ไปจากที่นิยม กลอนไม่ได้ ผิดฉันทลักษณ์ แต่มันอ่านไม่รื่น คนสมัยก่อนท่านนิยมแต่งคำลงท้าย

วรรค บทกลอนกันอย่างไร
.............คำท้ายวรรคสดับ ใช้ได้ทุกเสียง แต่ไม่ค่อยนิยมใช้เสียงสามัญ
.............คำท้ายวรรครับ ต้องใช้เสียงเอก โท หรือจัตวา นิยมใช้เสียงจัตวา ห้ามใช้ 
สามัญและตรี 
.............คำท้ายวรรครอง ต้องใช้เสียงสามัญ หรือเสียงตรี นิยมมากคือเสียงสามัญ ไม่นิยมเอกโท 
และจัตวา
.............คำท้ายวรรคส่ง ต้องใช้เสียงสามัญหรือตรี ที่นิยมมากที่สุดคือเสียงสามัญ ไม่นิยม เอก โท 

และจัตวา
ตัวอย่างกลอนสุนทรภู่
         พระฟังคำอ้ำอึ้งตะลึงคิด (เสียงตรี) .........จะเบือนบิดป้องปัดก็ขัดขวาง (เสียงจัตวา)
สงสารลูกเจ้าลังกาจึงว่าพลาง (เสียงสามัญ)....เราเหมือนช้างงางอกไม่หลอกลวง (เสียงสามัญ)
บทอาขยาน จากเรื่องพระอภัยมณี
.............4..สัมผัสนอกคือสัมผัสบังคับ บทหนึ่ง ๆ จะมี 2 สาย
................4.1 เริ่มที่คำท้ายวรรคที่ 1 ส่งสัมผัสไปวรรคที่ 2 คำที่ 3 ถ้าจำเป็นอาจเป็นคำอื่นก็ได้ แต่

ต้องมี คำเดียว มากกว่า 1 คำ จะเป็นสัมผัสเลื่อน หรือ เลือน ทำให้กลอนมีตำหนิ
                  บัดเดี๋ยวดังหง่างเหง่งวังเวงแว่ว    สะดุ้งแล้วเหลียวแลชะแง้หา 
           เห็นโยคีขี่รุ้งพุ่งออกมา                        ประคองพาขึ้นไปยังบรรพต
.........กลอนที่ยกมาเป็นตัวอย่าง คำที่ส่งสัมผัส บังคับ คำแรกได้แก่ คำ แว่ว ส่งสัมผัสไปวรรคที่ 2 มี

คำ แล้ว รับ สัมผัส
...............4.2 สัมผัสนอกคำที่ 2 คือคำท้ายวรรคที่ 2 บทกลอนตัวอย่างได้แก่คำ หา ส่งไปท้ายวรรค

ที่ 3 (มา) และต่อเนื่องไปคำที่ 3 วรรคที่ 4 (พา) คำที่รับสัมผัสบังคับแต่ละจุดให้มีได้คำเดียว มีมาก
กว่า 1 จะกลายเป็นชิง สัมผัส หรือสัมผัสเลื่อน เลือน
                       แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์         มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด
                   ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด           ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน
.............คำมนุษย์ สัมผัสนอก ส่งไปวรรคที่ 2 มีคำ สุด รับสัมผัสคำเดียว พอแล้ว อย่าให้มีมาอีก 

คำกำหนด เป็นสัมผัสนอกเสียงที่ 2 ในบทนี้ ส่งสัมผัสไปวรรคที่ 3 มีคำ ลด รับสัมผัส ห้ามมีคำ 
อื่น ๆ อีก ถ้ามี ก็กลายเป็นสัมผัสเลื่อน สัมผัสเลือน 
..............5. เห่อเล่นสัมผัสใน จนทำให้กลอนบกพร่อง พวกที่อ่านกลอนสุนทรภู่มาก ๆ เหมือนกระผม 
ชอบ มากเรื่องสัมผัสใน จำจนขึ้นใจว่า วรรคละแปดคำ จังหวะ 3-2-3 สัมผัสในวรรคละสองคู่คือ คำที่ 3 กับ คำที่ 4 คำที่ 5 กับคำที่ 7 เกณฑ์นี้ใช้ได้กับวรรค คี่ คือวรรคที่ 1 และ 3 ส่วนวรรคคู่ก็ใช้ได้ ระวังพลาด
วรรคที่ 2 และวรรคที่ 4 ตำแหน่งคำ ที่ 3 ต้องใช้รับสัมผัสบังคับ ไม่ว่างที่จะใช้สัมผัสในกับคำที่ 4 ถ้า

ขืนใช้ จะทำให้คำที่ 4 เป็นสัมผัสเลื่อน หักคะแนนได้ บางคนเอากลอนเก่า ๆ มาอ้าง ก็ช่างกลอน
เก่า ๆ สิ เรารู้ ว่ามันบกพร่องจะเอาอย่างทำไม
.............6. ชอบเล่นสัมผัสใน เล่นให้ถูกจังหวะ อย่าให้กลายเป็นสัมผัสลัดหรือชิงสัมผัส หรืออย่าให้

กลาย เป็นสัมผัส เลื่อนหรือสัมผัสเลือน ตามแผนผังกลอนแปด คำท้ายวรรคสดับ ส่งสัมผัสไปให้
คำที่ 3 วรรครับ ถ้ามีคำอื่นอีกที่รับสัมผัสได้ เรียกว่า เกิดสัมผัสเลื่อน หรือสัมผัสเลือน 
....................อันความรักมักเป็นเห็นแต่ตัว.............เพราะมืดมัวกลัวรักจักห่างหาย
.............อ่านดูมันก็เพราะดี แต่สัมผัสบังคับใช้คำเดียวรับสัมผัสพอแล้ว ตัวอย่างมีทั้ง มัว และ กลัว
รับสัมผัสได้ ถือว่าแต่งผิดฉันทลักษณ์
.............สมมติว่าแต่งต่อไปอีก
..................อันความรักมักเป็นเห็นแก่ตัว.............เพราะมืดมัวกลัวรักจักห่างหาย
.............เกิดเป็นชายหมายรักมิกลับกลาย...........จวบจนตายรักแต่เจ้าเยาวมาลย์
........วรรครับคำท้ายคือ หาย ส่งสัมผัสบังคับไปให้คำท้ายวรรคของวรรครอง ได้แก่คำ กลาย แต่มี

คำอื่นดัก หรือ ชิงสัมผัสก่อนแล้วคือคำ ชาย หมาย ถือเป็นข้อบกพร่อง หักคะแนนได้
.........7.สัมผัสซ้ำ ในเส้นสายสัมผัสบังคับ ห้ามใช้คำซ้ำ หรือต่างรูป แต่เสียงเดียวกัน มาใช้ส่ง รับ

สัมผัสกัน เชน คำ สัน สรรพ์ สันต์ สันติ์ ถือเป็นคำที่มีเสียงเดียวกัน ไม่ให้ใช้ ขัน ขันธ์ ขรรค์ ไม่ควร
ใช้ เป็นต้น
...................โอ้ลมหนาวพัดมาพาหนาวเหน็บ         ปวดใจเจ็บปวดกายวุ่นวายสรรพ์
          พี่คะนึงถึงนวลป่วนจาบัลย์                            เศร้าโศกศัลย์ปวดใจไม่เว้นวาร
สรรพ์ ศัลย์ คนละคำก็จริง แต่เสียงเดียวกัน ไม่ควรใช้ในสายสัมผัสบังคับ
.........8. คำเสียงสั้น กับคำเสียงยาว ไม่ให้ใช้สัมผัสบังคับ เสียง อะ -อา นะ....นา จั น....จาน

มัน...มาน กรรม กำ กัม เสียงเดียวกัน ใน ไน นัย เสียงเดียวกัน ใน...นาย คนละเสียง นาม...น้ำ 
คนละเสียง เรา...เบาเสียงเดียวกัน เงา....ขาว คนละเสียง คำที่ประสมสระลดรูป เปลี่ยนรูป สังเกต
ให้ดี 
......... ...ในจดหมายพี่คะนึงถึงแจ่มจัน................แต่อังคารถึงพุธสุดขื่นขม
..........  ไม่สบายง่วงเหงาจนเศร้าโทรม..............จนนอนซมวันคืนไม่ชื่นบาน
แจ่มจัน..อังคาร จ+อะ+น =จัน ขม...โทรม...ซม ข+โอะ+ม = ขม ทร+โอ+ม = โทรม ซ+โอะ+ม = ซม
.........9. คำลงท้ายบทไม่ควรใช้เสียงเดียวกันติด ๆสำหรับบทกลอนที่แต่งติดต่อกันหลายบท สมมติ
5 บาท บทที่หนึ่ง จบบทด้วยคำ ใจ จบบทสองด้วยคำ ใน เสียงไอเหมือนกันกับบทแรก ควรเว้นซัก

 2 บท ถึงใช้ซ้ำก็ไม่ น่าเกลียด
..................ยังจำได้บอกว่าจะมาเยี่ยม..........พี่ก็เปี่ยมยินดีศรีสมร
..........อุตส่าห์เตรียมของไว้ให้งามงอน........มะพร้าวอ่อนส้มสูกลูกไม้มี
..........ทั้งส้มโอเขียวหวานและส้มเซ้ง..........สวนตาเส็งมากมายนักนวลศรี
..........อย่าลังเลชักช้ารีบมาซี   ....................วันสิบสี่มกรามาไวไว
.........ชวนอาม่าอากูมาดูด้วย.......................จักให้ช่วยเก็บส้มสมสมร
.........พี่คอยมาหลายวันหนาบังอร...............จนรุ่มร้อนรอเจ้าจนเหงาทรวง
..........คำ ศรี ซี สี่ พยัญชนะต้นเสียงเดียวกัน ประสมสระ อี เหมือนกัน ไม่ควรใช้ในสายสัมผัสบังคับเดียวกัน คำสมร ห่างกันบทเดียว ใช้เสียง ออน อีกแล้ว ไม่ผิด แต่ไม่ควรใช้
.........10. คำคู่ที่ถือเป็นคำมาตรฐานไปแล้ว ไม่ควรนำมาสลับตำแหน่งหน้าหลัง มีคำไหนบ้าง ต้อง

ตรวจ สอบกับ พจนานุกรมทันทีที่สงสัย คำที่ถือว่าเป็นคำมาตรฐานไปแล้วเช่น แน่นอน กอบกู้ 
จริงใจ เดียวดาย ปกป้อง บางคำสลับ ตำแหน่งความหมายก็เพี้ยนไปด้วย ทางที่ดีอย่างใช้สลับ
ตำแหน่ง คำที่มักเขียนสลับบ่อย เช่น ขุกเข็ญ งอกงาม ลิดรอน หุนหัน ว้าเหว่ ย่อยยับ ทักทาย 
บดบัง งมงาย ร่ำรวย ชั่วช้า หลายคำสลับที่แล้วความหมาย ผิดเพี้ยนไป เช่น งอกงาม= งามงอก
 หุนหัน = หันหุน งมงาย = งายงม ร่ำรวย = รวยร่ำ ใช้ตามเดิมดีกว่า
.........11. ใช้คำสัมผัสเพี้ยน ๆ ดูรูปคำนึกว่าจะสมผัสกันได้ แต่ลองอ่านดูจะรู้ได้ว่าคนละเสียง เช่น

 เล็ก เป็ด เลข เป็นคำประสมสระ เอ เหมือนกัน แต่ตัวสะกดต่างกัน เลยออกเสียงต่างกัน
................สวัสดีหนูเล็ก............มาเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งหรือ
..........อยากรู้เห็นเลื่องชื่อ.......ว่าเลี้ยงเป็ดมานับนาน
..........ทุ่งนาจะไล่ทุ่ง...............อะไรจูงใจจึงสรร
..........เลือกเช่าที่สำคัญ.........คุ้มค่าไหมที่ลงทุน
.......เล็ก---เป็ด คนละเสียง ทุ่ง กับ จูง สระเสียงสั้นกับเสียง ยาว นาน--สรร---คัญ สระเสียงยาวกับเสียงสั้น
..........12. สัมผัสเผลอ เกิดจากการใช้คำบางคำที่รูปร่างคำคล้ายกัน หรือ ออกเสียคล้ายกัน เช่นคำว่า
น้ำออกเสียงเหมือนคำ น้ำ ย่าม ตาม ลาม ลองแยกคำดู น+สระอำ+ไม้โท เป็น น้ำ ย+สระอา+ม+ไม้เอก คำ ไป ขัย ใน นัย เสียงเดียวกัน แต่ต่างจากเสียง ชาย วาย งาย คำทำนองนี้ถ้าสงสัยให้วิเคราะห์คำดู ว่าประสม เสียง สระอะไร ถ้าเสียงสระเดียวกัน สะกดมาตราเดียวกันไหม ถ้าต่างมาตราสะกด ถือว่าคนละเสียง
...............................ยามเย็นเดินหาดทราย.......น้ำก็ใสแลปูปลา
........................เสฉวนแปลกเสาะหา ...............เปลือกหอยเปล่าเข้าอยู่แทน
.......................นั่นงามนะหอยสังข์ ...................เสฉวนอ้างมันหวงแหน
.......................อยู่นานจนดัดแปลง...................เป็นห้องเช่าส่วนตัวแล
คำทราย กับ ใส คนละเสียง สังข์ กับ อ้าง คนละเสียง แหน กับ แปลง สระแอ แต่สะกด ต่าง มาตรา
..........13. แต่งไม่ระวังกลายเป็นกลอนที่มีละลอกทับละลอกฉลอง ระลอกทับ หมายถึงการมีเสียง

วรรณยุกต์เ อกหรือโท ในคำสุดท้ายของวรรครับและวรรครอง ระลอกฉลอง หมายถึงเสียงวรรณ
ยุกต์เอกหรือโทในคำสุด ท้ายของวรรคส่ง
......................สะดับ      จะกล่าวถึงละลอกทับกับฉลอง..........จับตามองวรรคนี้ให้ดีท่าน          รับ
......................รอง     ละลอกทับรับรองจองการบ้าน................คนโบราณว่าฉลองตรองแบบนี้   ส่ง
.................................มิผิดแบบแต่กลอนมีตำหนิ .....................อย่าพึงริเสกสรรค์ตามวิถี 

.................................หลีกละลอกทั้งสองให้จงดี ....................จึงจะมีมงคลกลกลอนกานท์ ฯ
..........14. ใช้ถ้อยคำหยาบคาย ในบทกลอนโดยไม่มีเหตุผลสมควร
..........15. ใช้คำภาษาพูด ภาษาปาก เว้นแต่ใช้เป็นการบอกเล่า สนทนา
..........16. ใช้คำภาษาถิ่น โดยไม่จำเป็น เว้นแต่ต้องการเน้น การนำเสนอศิลปะการใช้ภาษา
..........17.ใช้คำภาษาต่างประเทศ แบบคำทับศัพท์ในบทกลอน ไม่ควรใช้
................................ไอเลิฟยูยูก็รู้ว่าพี่รัก................แล้วไยจักมัวอายคล้ายผลักไส
................................แค่มองอายก็รู้หัวอกไอ..........หอบรักไว้มอบยูรู้ยังเธอ
18.. อื่น ๆ เอาไว้นึกได้ค่อยมาต่อเติม ตอนนี้หยุดไว้ก่อน สวัสดีครับ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น