วันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ชีวิตลูกชาวนาอย่างผม



.......ผมเกิดทันสงครามโลกครั้งที่สอง นะ (2487) สองปีถัดมาถึงสงบศึกกัน เกิดที่บ้าน แก ตำบล

กมลาไสย อำเภอกมลาไสย  จังหวัดกาฬสินธุ์ พ่อเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แม่เป็นแม่บ้าน เป็นลูกคน
ที่เจ็ด คนสุดท้อง ห่างจาก พี่ชายห้าปี นับเป็นลูกแหง่ของครอบครัว แม่บอกมึงเป็นลูกหลงเลยเป็น
ลูกติดแม่ กินนมแม่จนอยู่ ชั้น ป.หนึ่งถึงหย่านม เพราะครูบุญชู เพื่อนพ่อ แกมาบ้านชี้หน้าด่าเอาว่า
โตแล้วยังกินนมอยู่ ก็นาน กว่าจะหย่านมได้ 
........โตขึ้นผมเป็นเด็กขยัน ตั้งใจเรียน อ่านออกเขียนได้ตั้งแต่ 5 ขวบ พวกพี่ ๆเขาอยากเป็นครู
จับผมมาสอนอ่านเขียนให้ พ่อแม่หัวเราะปล่อยให้เล่นกัน แต่ผมชอบอ่านเขียน เลยอ่านได้เขียน

ได้ ครู ป. 1 เพื่อนพ่อแวะมาเยี่ยมเพราะที่บ้านขายเหล้าขาว มาเห็นเราเล่นสอนนักเรียนกัน ชอบใจ
แนะให้นำผมไปฝากเรียนก่อนเกณฑ์ พอเข้าเรียน...ก็ได้เป็นหัวหน้าห้อง เพราะอ่านได้เขียนได้ก่อน

คนอื่น ครูให้พาเพื่อนอ่าน เขียน ตามคำสั่งครู ปล่อยให้ครูนอนพัก เล่นแบบนี้แทบทุกวัน เลยกลาย
เป็นคน อ่านคล่องเขียนคล่อง สอบได้ที่ 1 ตลอดทุกเทอมจนจบประถม พ่อแม่ดีใจเสียเหล้าขาวให้
ครูบ่อย ๆ มาบ้านก็อวด ลูกมึงมันเก่ง สอบได้ที่หนึ่งอีกแล้ว....1 ขวด รางวัลแจ้งข่าวดี บ้านเราขาย
เหล้าขาวสี่สิบดีกรี... พ่อแกเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เวลาประชุมทีแกก็เอาไปอวดชาวบ้านจนเขารู้กัน
ทุกบ้าน มาทราบทีหลังว่าพ่อ แกดีใจมากที่ลูกเรียนเก่ง ส่วนแม่ไม่ค่อยพูด แต่เก็บของกินไว้ให้เสมอ
 เช้า ๆ ตื่นมาแก่ยื่นให้ ข้าวเหนียวปั้นหนึ่งและกับข้าวชิ้นหนึ่ง เช่น ปลาแส้ เนื้อแดดเดียว ส้มเก้ง กวาง
 ลุงพี่เขยแม่ไปดงได้มาฝาก แม่เก็บไว้ให้ลูกชาย เรื่องทำให้พ่อแม่ดีใจเรื่องเรียนเก่งนี่ มีตลอดมา 
ประถม มัธยม แถมตอนบวช สอบได้นักธรรมตรี โท เอก ปธ. 1-2 ปธ.3 ปธ.4 พ่อแม่ก็ปลื้มไม่จบ จน
เขายกตำแหน่งมัคทายก ให้พ่อ แม่ก็กลายเป็นโยมแม่มหา ดีใจหลาย ดีใจแบบนี้คงอยู่ในใจพ่อแม่
นานกว่าของขวัญธรรมดา 
.......ผมไม่ค่อยได้อยู่บ้านเพราะไปเรียนอยู่ต่างอำเภอ ต่างจังหวัด  แต่สิ่งที่ผมปฏิบัติ เป็นการตอบ
แทนคุณพ่อแม่ที่เหมาะสม มีคุณค่า ผมปฏิบัติตนเป็นเด็กดีทั้งเรียนดี ประพฤติดี เคยได้รับรางวัล
เรียนดีอันดับหนึ่งของอำเภอ มีสิทธิ์รับทุนเรียนมัธยมหกปี แต่ปฏิเสธไม่รับ เพราะครอบครัวอพยพ
จาก กมลาไสย กาฬสินธุ์ ไปอยู่ที่ โนนสัง อุดรธานี ก็ตามครอบครัวไป ยังดีที่พ่อส่งให้เรียนต่อมัธยม 
ต้น..ไปเรียนที่อำเภอโนนสัง ม.ปลายไปเรียนที่ชัยภูมิ จบปีการศึกษา 2503 แต่เป็นเดือนมีนาคม
 2504 อายุ ๑๖ ปี บริบูรณ์ ต้อง รออีก ๒ ปี ถึงจะมีสิทธิ์สอบเข้ารับราชการได้ เรียนต่อก็ไม่ได้พ่อ
บอกส่งไม่ไหว เพราะท่านก็ชราภาพ มากแล้ว เลยถึงเวลาต้องเตะฝุ่นอยู่ที่บ้านถึง 7 ปี 
.......7 ปีที่อยู่บ้าน ถือว่าจบ ม. 6 แต่ตกงาน เดิมคิดว่าอายุครบ ๑๘ จะไปสอบงานราชการได้
เพราะเรียนจบ ม.ปลายเกษตรกรรม เพื่อนไปสอบบรรจุเกษตรตำบลกันถ้วนหน้า เราอายุไม่ถึง
พออายุถึงเขาเลิกรับ ม. 6 ขยับไปรับระดับสูงกว่า เลยหมดโอกาส แต่ไม่ได้ท้อแท้นะ เพราะทำ
ให้หันมาสนใจวิถีชีวิตแบบชาวบ้าน ลูกผู้ชายต้องเรียนรู้กิจกรรมการงานหลายอย่าง เพราะต่อไป
ต้องมีครอบครัว ต้องสร้างบ้านเรือนเป็น ต้องทำเครื่องใช้จำเป็นสำหรับครัวเรือนได้เอง เพราะจะ
ซื้อก็ไม่มีขาย เลยต้องฝึกงานต่าง ๆมากมาย
........งานใหญ่ สร้างบ้านเรือน ...ปี 2504 วิถีชาวบ้าน ลูกเขยมักมีภาระคือสร้างเรือนอยู่เอง ถ้าทำ
ไม่เป็นก็อาศัยพ่อตาแม่ยายอยู่ ก็ลำบากหน่อย บางคนพ่อตาให้ทำ "ตูบต่อเล้า" แบบเพิงหมาแหงน
เชื่อมต่อยุ้งฉางอยู่กันผัวเมีย ถ้ามีฝีมือทำบ้านเรือนเป็นก็สบาย พ่อแม่จะแบ่งที่ดินให้ ไปสร้างบ้าน
อยู่เอง แบบนี้ก็สบายหน่อย สิ่งที่ต้องฝึกได้แก่ การถากเสาเรือน เสาหกเหลี่ยม หรือแปดเหลี่ยม
ไม้เต็ง รัง ในป่าหัวไร่ปลายนา มีพอให้เลือกมาทำเสาได้ ไม้ต้นใหญ่ ๆ ที่โรงเลื่อยเขาตัดโค่นลง
เหลือท่อนสั้น ๆ ห้าศอก หกศอก ชวนกันไปเลื่อยแปรรูปมาทำไม้พื้นบ้าง ไม้เครื่องบนบ้าง ฝาบ้าน
ใช้ไม้ไผ่สับทำไม้ฟาก ปูพื้นได้ด้วย หลังคาใช้หญ้าแฝก หญ้าคา เก็บเกี่ยวมาไว้แล้วกรองเป็นตับ
ไว้มุงหลังคา...กระผมฝึกจนทำได้ทุกอย่าง เก่งด้วย เหลือให้พ่อแกขายได้เงินแม่รับไป เพราะ
ไม่ค่อยได้ใช้เงินกัน บ้านหลังแรกที่สร้างด้วยฝีมือ คือกระท่อมนา เสาหกต้น เพื่อนสองคนนาติดกัน
ช่วยกันเลื่อยไม้แปรรูปมาทำเครื่องบน ทำไม้พื้น ภูมิใจมาก รับรองถ้าแต่งงานทำบ้านอยู่เองได้ แค่นี้
ใครเขาก็ไม่รังเกียจที่ไปจีบลูกสาวเขา เพิ่งทราบตอนหลังว่าคนแก่...เขามองเด็กหนุ่ม ๆอย่างไร
.........งานฝีมือที่ต้องทำได้ คือเครื่องใช้จำเป็นในครัวเรือน เขาจะสอนเรื่องง่าย ๆ ก่อน ได้แก่
สานพัด เป็นงานทดสอบฝีมือการจักตอกและสานลายสอง เก่งแล้วก็ขยับไปสานมวย สานหวด
ต่อไปก็ตะกร้า ครุ กระบุง กระเช้า กระด้ง กระจ่อ ลอบ ไซ ฝาเผียก (คล้ายเสื่อลำแพน ทำด้วย
ตอกไม้ไผ่อย่างแข็ง ถักด้วยเครือไม้ กว้างแค่สะเอว แค่อก แค่คอ ความยาวไม่จำกัด ยาวสักเมตร
สำหรับทำต้อน ยาวสองเมตรขึ้น สำหรับล้อมซุ้มจับปลา) งานไม้ไผ่ก็จะมีประมาณนี้
.........งานไม้...ทำเครื่องมือทำนา ไถ ทำด้วยไม้ มีเหล็กชิ้นเดียวคือ ผาน นอกนั้นต้องทำเอง เคย
ไปขุดตอไม้ประดู่ ไม้มะค่า เขาตัดต้นไปแปรรูปเหลือตอสูงแค่เอว เราไปพบดูรากมันโค้งงอดูดี
ดัดแปลงเป็นหางไถได้ซัก สาม ราก ก็คุ้ม จอบขุดไปรอบ ๆ ตัดปลายราก และรากแก้ว ผลักล้มลง
ขวานสับเป็นร่อง ๆ จนแยกจากกันเป็นรูปทรงหางไถ ถากอีกครั้งจนเบาพอแบกขนไปได้ เข้าป่า
สองสามวันได้ห้าหกชิ้นก็คุ้ม วันหลังก็ขับล้อเกวียนมาบรรทุกกลับบ้านไป พวกคราด ก็ต้องทำเอง
ถ้าผ่านงานฝีมือพวกนี้ไป ก็ใช้ได้ ไปขอลูกสาวบ้านไหนเขาก็ไม่รังเกียจ
........งานทำนา อันนี้ต้องฝึกให้ชำนาญ พ่อแม่จะสอนเราตั้งแต่การฟันดินทำคันนา สำหรับนาที่บุก
เบิกใหม่(ซ่าวนา) การซ่อมเสริมคันนา ก่อนเริ่มหน้าฝน คันนาจะชำรุดมากมาย โดยเฉพาะนาใกล้
หมู่บ้าน วัวควายออกหากินเหยี่ยบย่ำทุกวัน เริ่มหน้าฝนต้องซ่อม จอบต้องเตรียมให้ดี ผมชอบจอบ
เก่า ๆ มันเบาดี ด้ามทำด้วยแขนงไม้ประดู่ เตรียมไว้ห้าหกด้าม หัก ชำรุด มีเปลี่ยนไม่เสียเวลา
ซ่อมคันนาเลือกช่วงฝนตกดินไม่แข็ง ทำง่าย บางจุดน้ำเซาะขาดงานหนักหน่อย ปกติซ่อมคันนา
สองสามวันก็เสร็จ เว้นแต่นาติดลำห้วย น้ำแรง คันนาขาดเป็นช่องใหญ่ ซ่อมนานหน่อย พอฝนตก
เดือนหก เดือนเจ็ด ก็เริ่มไถฮุด(ไถดะ) เพื่อกลบหญ้าและขุดดินให้ร่วน พอฝนตกบ่อย ๆ ก็กักน้ำ
ให้ท่วมหญ้า และเตรียมเพาะกล้า เรียก ตกกล้า นาเราสิบกว่าไร่ ใช้พันธุ์ข้าว 5 ถัง พ่อมัดฟางทำ
เป็นห่อข้าวเปลือก สามารถนำไปแช่น้ำคืนหนึ่ง แล้วนำมาหมักไว้ให้รากงอกพอเป็นตุ่มเล็ก ๆ ค่อย
หว่านลงแปลงนาที่เรียก "ตากล้า" แปลงตากล้าต้องเตรียมดินอย่างดีมีน้ำพอเป็นโคลน หว่านข้าว
เสร็จก็ระบายน้ำออก รอให้ข้าวงอกสัก สามสี่นิ้ว ค่อยทดน้ำเข้ามาหล่อเหลี้ยง จนกว่าจะพอถอน
ไปปักดำ
.........ดำนา บ้านเราทำนาดำ มิใช่นาหว่าน ถ้ามีน้ำการดำนาก็สะดวก แปลงนาเราไถดะไปแล้ว
ช่วงเดือนหกเดือนเจ็ดเข้าเดือนแปดก็ปักดำ เตรียมดินด้วยการไถแปร คราดเก็บหญ้าออก เกลี่ย
ดินให้ราบเรียบ ก็ปักดำได้ ถ้าดินมีน้ำคราดเสร็จก็จะเป็นโคลนตม จิ้มต้นกล้าลงดินก็ง่าย มือซ้ายอุ้ม
มัดกล้าให้แน่น มือขวาหยิบต้นกล้า 3-5 ต้นจากมัดกล้า ดึงออกมาแล้วจิ้มลงดิน เราจะเริ่มที่คันนา
หันหลังให้ตะวัน แดดจะได้ไม่ส่องหน้า ยืนสองขาแยกกันมั่นไว้ ก้มลงปักกล้าลงเป็นแถวพองาม
ถอยหลังไปเรื่อยจนสุดคันนาอีกด้านแล้วย้อนกลับ วนไปวนมาจนเสร็จ บ้านเรามีคนงานสามคน
ผม พี่สาวและลูกของพี่สาว แต่หลานติดเลี้ยงควาย ช่วยดำนาได้เฉพาะตอนเช้า ๆ ทานข้าวเช้า
เสร็จก็ต้องต้อนควายไปเลี้ยง เหลือคนงานสองคน ดำนาแปลงที่เตรียมไว้เสร็จก็เลยเที่ยง ได้เวลา
ทานข้าวกลางวัน พี่สาวแกเดินลงไปกลางนา กลับมาแกทำแกงอ่อมกบเขียดกินกลางวันกัน แกไป

งม กบเขียดเก่งมาก เขียดโม้ได้มาห้าหกตัว แกทำแกงอ่อมได้ ผักจากสวนครัวใส่แกงได้พอดี เลยมี 
กับข้าวเที่ยวอร่อย ๆ ทุกวัน อ้อ ส้มตำขาดไม่ได้ ต้องปลูกไว้จอมปลวกข้างกระท่อมนานั่นแหละ
ดกดีด้วย
...........ดำนาเสร็จก็ช่วงเข้าพรรษา ไปดูทุกเช้า ศัตรูสำคัญคือ ปูนา ปักดำใหม่ ๆ ระบายน้ำออก
มีน้ำขังปูก็มากัดต้นข้าวกิน เสียเวลาซ่อม รอต้นข้างตั้งตัวได้ก่อน ค่อยทดน้ำขังให้ จากนั้นก็ดูแล
มิให้หญ้าหรือวัชพืชขึ้น จะทำให้ต้นข้าวไม่งาม พอข้าวตั้งต้นได้ก็หว่านปุ๋ยให้บ้าง จะได้เขียวงามดี
ทุ่งนาจะสวยงามมาก กบเขียดก็เยอะเป็นช่วงเวลากบรุ่นใหม่ตัวโตเท่าเขียดโม้ตัวใหญ่ ๆ แต่จับง่าย
เดินไปตามคันนาจะได้ยินเสียงโดดลงน้ำ ย่องตามไปหลบอยู่ใต้ใบไม้บ้าง โคนกอข้าวบ้าง ผมชอบ
งมจับเอามาให้พี่สาว แกทำปิ้งกบ ต้มส้มหรือ แกงอ่อม ชีวิตชาวนาเราก็จะเป็นแบบนี้ทุกปี
........ช่วงออกพรรษาเดือนสิบเอ็ด ข้าวเบาจะเริ่มเต็มเม็ด เด็ดไปทำข้าวเม่าได้.พี่สาวเลือกเด็ด
ข้าวไปทำข้าวเม่า เอามารูดเมล็ดข้าวใส่กระด้งได้ข้าวเปลือกสีเขียว ๆมากมาย เอาไปคั่วในหม้อ
ดินก็คือตุ่มน้ำนั่นแหละ ไม่มีกระทะนี่นา คั่วสุกดีแล้ว แกะเปลือกดูเนื้อในจะเป็นเม็ดข้าวสีเขียว ๆ
ต้องเอาไปใส่ครกตำให้กระเทาะเปลือก เป็นแกลบสีเขียว ๆ ฝัดออกเหลือแต่เม็ดข้าวสีเขียวแบน ๆ
เพราะโดนสากตำข้าว เราเรียกข้าวเม่า เพราะทำจากข้าวดิบ ๆ ยังอ่อนอยู่ จึงมีกลิ่นหอมมาก กิน
เล่นก็อร่อย แต่ชาวบ้านนิยมเอาไปทำขนม คลุกมะพร้าว น้ำอ้อยน้ำตาล อร่อยมาก ๆ
.........ช่วงออกพรรษาข้าวเบาจะแก่แล้ว เก็บเกี่ยวกันก็จะมีข้าวใหม่กินกัน ข้าวเหนียวใหม่ หอม
นิ่ม กินในดอก(กินข้าวเปล่า)ก็ยังอร่อย เก็บเกี่ยวข้าวช่วงนี้ลำบากหน่อย ถ้าปีไหนฝนดี ต้องทำ
ร้านตากข้าว ใช้ตอฟางนั่นแหละ หัก ๆ ทำเป็นร้าน เกี่ยวข้าวเต็มกำมือก็วางตากเรียงกันไว้ สองสาม
วันแห้งดีแล้วก็มามัดได้ จากนั้นก็ไม้หลาวเสียบ ข้างละ 4-6 มัด หาบไปเก็บที่ลานสำหรับกองช้าว
รอการนวดต่อไป จากนั้นไม่นานข้าวหนักก็จะแก่และเก็บเกี่ยวรวมกันที่ลาน จนเสร็จทุกแปลง ค่อย
จะมีการนวดข้าวและนำไปเก็บที่ยุ้งฉางต่อไป
.........เล่าซะยืดยาว ตามวัยน่ะครับ เขาว่าคนเฒ่าชอบเล่าความหลัง เมื่อก่อนไม่เข้าใจ วันนี้รู้แล้ว
เป็นแบบเรานี่แหละ ได้พูดได้เขียนก็เบรคไม่ค่อยอยู่ มันไหลไปเรื่อย เล่าเรื่องทำนา ข้าวขึ้นยุ้ง
ฉางแล้วก็น่าจะจบแหละเนาะ สวัสดีครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น